เปิดหนังสือ ‘แบงก์ชาติ’ แนะจัดตั้ง ‘ศูนย์กลางการเงิน’ ในประเทศไทย จำเป็นต้องมีเป้าหมาย ‘เชิงยุทธศาสตร์’ชัดเจน ชั่งน้ำหนัก ‘ผลประโยชน์-ความเสี่ยง’ อย่างรอบคอบ
......................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... และรับทราบแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรอง 22 ฉบับ และให้ส่ง ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป นั้น (อ่านประกอบ : ครม.ไฟเขียว‘ร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางประกอบธุรกิจทางการเงินฯ’ ดันไทยเป็น Financial Hub)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการพิจารณาวาระดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ได้เสนอความเห็นของ ธปท. ต่อ ร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. โดย ธปท.เห็นว่า การจัดตั้งศูนย์ทางการเงินในประเทศไทย จำเป็นต้องมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน รวมทั้งพิจารณาประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบและรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับหนังสือของ ธปท. ฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาว่า ธปท. ขอเรียนว่า เพื่อให้การจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน (ศูนย์กลางฯ) ในประเทศไทยที่จะสามารถดึงดูดเงินลงทุนเข้าประเทศ สนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน และเกิดการถ่ายทอดความรู้ความชำนาญให้กับคนไทย เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาว จำเป็นต้องมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน รวมถึงพิจารณาประโยชน์ที่จะได้รับเทียบกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบและรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียงต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ในการนี้ ธปท. จึงขอเรียนเสนอความเห็นและข้อสังเกตที่เคยแจ้งต่อคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน และคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงินไปก่อนหน้า ดังนี้
1.การกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของการจัดตั้งศูนย์กลางฯ ต้องชัดเจน โดยความสำเร็จในการจัดตั้งศูนย์กลางฯ จะขึ้นกับการประเมินจุดแข็งเพื่อกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของศูนย์กลางฯ
เนื่องจากศูนย์กลางฯ มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์และความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังมีเงื่อนไขที่จำเป็น แนวทางการผลักดัน และโอกาสของความสำเร็จทีแตกต่างกันด้วย จึงควรมีการประเมินศักยภาพ ความได้เปรียบเสียเปรียบของประเทศ และข้อจำกัดต่างๆ เพื่อกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของการจัดตั้งศูนย์กลางฯ ให้เป็นไปในทิศพางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์กลางฯ ในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ นอกจากจะมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและมีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายเป็นปัจจัยหลักในการสร้างแรงจูงใจแล้ว การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและปัจจัยดึงดูดอื่นๆ ก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน อาทิ ศูนย์กลางฯ ประเทศสิงคโปร์มีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของภูมิภาคเอเชีย จึงผลักดันผ่านการสร้างระบนิเวศ (ecosystem) ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ
การมีระบบเศรษฐกิจการเงินและการเมืองที่มีเสถียรภาพ มีระบบกฎหมายและธรรมาภิบาลที่แข็งแกร่ง มีปัจจัยสนับสนุนทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับสูง รวมถึงการย้ายถิ่นฐานไปสิงคโปร์ยังทำได้สะดวก จึงดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพสูงได้
ศูนย์กลางฯของประเทศมาเลเซีย ในเขตพิเศษ Labuan มีเป้าหมายสำคัญอันหนึ่งในการเป็น International Islamic Financial Center ที่เน้นการให้บริการทางการเงินแก่ชาวมุสลิม และมีกฎหมายรวมถึงเกณฑ์การปฏิบัติที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจตามหลักชะรีอะห์ ขณะที่ศูนย์กลางฯ ของรัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ มีเป้าหมายในการใช้จุดแข็งจากทำเลที่ตั้งซึ่งซึ่งอยู่ใจกลางภูมิภาคตะวันออกกลาง สามารถเชื่อมโยงกับ stakeholders ในศูนย์กลางฯ ในหลายภูมิภาค
ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าประสงค์ของการเป็นศูนย์กลางฯ ตามที่คาดหวัง จึงควรกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับประเทศให้ชัดเจนเป็นลำดับแรก เพื่อให้สามามารถสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ที่สอดคล้อง เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มคุณภาพของบุคลากรรวมทั้งการมีกรอบกฎหมายและหน่วยงานกำกับดูแลที่จะสามารถสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว
2.การบริหารจัดการความเสี่ยงของการจัดตั้งศูนย์กลางฯ ในประเทศไทย
นอกเหนือจากการคำนึงถึงประโยชน์ต่อประเทศ ในการจัดตั้งศูนย์กลางฯ ยังต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นควบคู่ไปด้วย จึงควรกำหนดหลักการและขอบเขตการดำเนินธุรกิจที่รัดกุม และมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงในด้านต่างๆ อย่างเพียงพอ ดังนี้
2.1 ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเสถียรภาพด้านต่างประเทศ เสถียรภาพของตลาดการเงิน เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน เนื่องจากการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจในศูนย์กลางฯ อาจลดระดับความเข้มข้นลง รวมทั้งอาจได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายสำคัญหลายฉบับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพด้านต่างๆ สูงกว่านอกศูนย์กลางฯ ดังนั้น
(1) ควรแยกการประกอบธุรกิจและการกำกับดูแลระหว่างธุรกิจในศูนย์กลางฯและนอกศูนย์กลางฯ ออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อมิให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในศูนย์กลางฯ ส่งผ่านมากระทบความน่าเชื่อถือของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ดี หากมีเหตุที่อาจกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศโดยรวม ผู้กำกับดูแลหลักจะต้องสามารถกำหนดมาตรการดูแลที่ธุรกิจในศูนย์กลางฯ ต้องปฏิบัติตามได้ เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในภาพรวม
(2) ในการให้บริการกับลูกค้า ควรกำหนดมิให้ผู้ประกอบธุรกิจในศูนย์กลางฯให้บริการกับลูกค้าไทย (ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจในศูนย์กลางฯจะถูกกำกับดูแลเข้มงวดน้อยกว่า จึงอาจส่งผลต่อมาตรฐานการให้บริการและการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงความเท่าเทียมกันในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจในและนอกศูนย์กลางฯ
(3) ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจในศูนย์กลางฯ อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้กำกับดูแลหลัก ควรให้อำนาจผู้กำกับดูแลหลักในการกำกับดูแลผู้แลผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวแบบรวมกลุ่มด้วย เช่น หากมีการอนุญาตให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินประกอบธุรกิจ ในศูนย์กลางฯ ควรให้อำนาจ ธปท. ในการกำกับดูแลตามหลักเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน เพื่อให้สามารถดูแลเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น หากจะมีการเชื่อมโยงกันระหว่างธุรกิจในศูนย์กลางฯ และธุรกิจนอกศูนย์กลางฯ ในกรณีใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการนอกศูนย์กลางฯ หรือระบบการเงินในภาพรวม เช่น การเป็น partner ด้านการให้บริการระบบการชำระเงินกับผู้ประกอบธุรกิจนอกศูนย์กลางฯ ก็จะต้องมีมาตรฐานการดำเนินงานที่เท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านต่างประเทศ และให้สามารถดูแลความเสี่ยงด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างเหมาะสม จึงควรกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจในศูนย์กลางฯ มีสถานะเป็นบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-resident) ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินหรือมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.2 ความเสี่ยงด้าน Anti-Money Laundering และ Countering the Financing of Terrorism (AML/CFT) ที่อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศ เนื่องจากกฎเกณฑ์ในศูนย์กลางฯ ที่ผ่อนคลายมากกว่าปกติ ศูนย์กลางฯบางแห่ง จึงอาจถูกจับตามองหรือมีภาพลักษณ์ในการเป็นแหล่งสนับสนุนธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ถูกกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งหากศูนย์กลางฯ ในไทยเกิดปัญหาดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศในภาพรวมได้
ดังนั้น การประกอบธุรกิจในศูนย์กลางฯ จึงควรถูกกำกับดูแลด้าน AML/CCFFT อย่างรัดกุม โดยมีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการพ่อกเงิน และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ที่เข้มข้นและไม่น้อยกว่ามาตรฐานของประเทศ รวมทั้งมีกระบวนการกำกับและตะตรวจสอบธุรกิจทั้งในศูนย์กลางฯ และธุรกิจนอกศูนย์กลางฯด้วยมาตรฐานเดียวกัน
อนึ่ง ธปท. มีข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อสรุปสาระสำคัญของนโยบายและแนวทางในการจัดตั้งศูนย์กลางฯ ตามที่ระบุในหนังสือของกระทรวงการคลังเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ที่ กค 1008/662 ลงวันที่ 16 ม.ค.2568 เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. ...) โดยในข้อ 3.2.2 ได้ระบุว่า “ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย” หมายถึง นิติบุคคลหรือบุคคลที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (non-residents)
อย่างไรก็ดี ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มิได้จำกัดผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายให้เป็นเฉพาะผู้ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย แต่เป็นการจำกัดขอบเขตการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจในศูนย์กลางฯ ว่า ต้องให้บริการเฉพาะผู้ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้น ในการเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาจึงควรทำให้มีความขัดเจนในประเด็นดังกล่าวด้วย
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียว‘ร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางประกอบธุรกิจทางการเงินฯ’ ดันไทยเป็น Financial Hub
‘คลัง’ดัน‘ร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน’ หนุนไทยขึ้นแท่น Financial Hub