‘ก.มหาดไทย’ ไม่เห็นด้วยแนวคิดย้าย ‘เมืองหลวง’ จาก ‘กรุงเทพฯ’ ไปจังหวัดอื่น เหตุต้องใช้งบประมาณมาก แนะสร้างแนวป้องกัน ‘กรุงเทพฯ-ปริมณฑล’ จมบาดาล น่าจะเหมาะสมกว่า
.................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ครม. มีมติรับทราบผลการพิจารณา เรื่อง ญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของประเทศไทย หรือการสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้แจ้งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
ทั้งนี้ ในการพิจารณาวาระดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีความเห็นว่า ขอเรียนขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของประเทศไทย หรือการสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล
โดยพิจารณาจากข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ได้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาแล้ว และมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและถาวร
สำหรับการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพมหานครไปสู่จังหวัดอื่น เห็นว่า ต้องมีการศึกษาพิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างรอบด้านและละเอียดรอบคอบ ทั้งความเหมาะสมทางเชิงภูมิศาสตร์ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ระบบราชการ ตลาดแรงงาน เทคโนโลยีและการสื่อสาร การคมนาคมขนส่งสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยจะต้องผ่านกระบวนการทำประชามติและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก
จึงมีความเห็นว่า การดำเนินการหาแนวทางการสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า หรือแนวทางในการเพิ่มเมืองศูนย์กลางระดับภาคเพื่อกระจายความเจริญและสร้างสมดุลให้แก่ระบบเมืองของประเทศ
ส่วนความเหมาะสมของจังหวัดนครราชสีมาที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ต้องมีการศึกษาด้านทรัพยากรน้ำในทุกมิติให้เกิดความมั่นคงทางน้ำและความสมดุลกับความต้องการน้ำในอนาคต และควรมีการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำเสีย และการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งควรมีการศึกษาแนวทางการย้ายเมืองหลวงของประเทศอื่นที่เคยมีหรือจะมีการย้ายเมืองหลวงเป็นแนวทางและเทียบเคียงด้วย
ทั้งนี้ ในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ 2 เห็นว่า อาจศึกษาเพื่อเป็นแนวทางสำรองเพื่อรองรับการขยายตัวของความเจริญในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งภาวะเรื่องการบรรเทาอุทกภัย การขาดแคลนน้ำ และการรุกของน้ำทะเลในอนาคต
ก่อนหน้านี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของประเทศไทย หรือการสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล โดยขอให้ ครม.รับทราบญัตติ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษาแนวทางที่เหมาะสมของข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ เช่น
-ควรมีแผนการจัดการน้ำที่ดี กล่าวคือ แผนระยะกลาง โดยการสร้างเมืองฟองน้ำ (Sponge City) แบบเมืองอู่ฮั่นของประเทศจีน โดยใช้ระบบพื้นที่สีเขียว (Green Space) สวนชับน้ำฝน (Rain Garden) และการเปลี่ยนแปลงผิวถนนให้สามารถดูดซึมน้ำลงไปกักเก็บใต้ถนนเพื่อรอระบายทีหลังได้ และการปลูกหญ้าแฝก และแผนระยะยาว โดยการสร้างระบการป้องกันน้ำ ซึ่งมีกรณีศึกษาจากเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย และประเทศเนเธอร์แลนด์ ในมิติสิ่งแวดล้อม การประมง และการขนส่งทางเรือ
-ควรมีโครงสร้างการป้องกันชายฝั่ง โดยการทำโครงสร้างแบบแข็ง เช่น เขื่อนกันคลื่น กำแพงกันคลื่นเพื่อรอดักทราย เป็นต้น และโครงสร้างแบบอ่อน เช่น เนินทราย ป่าชายเลน เป็นต้น ควบคู่กัน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลักและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
-การย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพมหานครไปสู่จังหวัดอื่น ควรมีการทำประชามติ เพื่อสอบถามความต้องการของประชากร เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีประชากรและข้าราชการจำนวนมาก หากมีการย้ายเมืองหลวงจะทำให้เกิดผลกระทบและเป็นการสร้างภาระเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากและอาจส่งผลกระทบในหลายด้าน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและวางแผนกันอย่างจริงจังและเป็นระบบ
-ควรมีการศึกษาในเรื่องน้ำทะเลที่สูงขึ้นอันเกิดเนื่องจากภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง ซึ่งหากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดเลย อาจก่อให้เกิดแนวโน้มว่ากรุงเทพมหานครจะจมอยู่ใต้ระดับน้ำอย่างน้อย 1 เมตร นานกว่า 3 เดือน และจะเกิดขึ้นในเวลาอีกไม่เกิน 14 ปี
-เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย และมีประชากรมากเป็นอันดับสองของประเทศ ประกอบกับมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงอยู่เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง และมีแม่น้ำมูลไหลผ่าน เมื่อเกิดน้ำท่วมลักษณะพื้นที่จึงสามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งจังหวัดนครราชสีมาถือเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ เป็นแหล่งรวบรวมแรงงานมีฝีมือ เช่น นิคมอุตสาหกรรมนครราชสีมา มีสถานที่สำคัญทางการศึกษา
การสาธารณสุข ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย มีแหล่งมรดกโลก รวมทั้งมีโครงการขนาดใหญ่ (Megaprojects) อีกมากมาย เช่น รถไฟทางคู่ โครงการระบบขนส่งมวลชนและท่าเรือขนส่ง อันเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศไทยได้
-รัฐบาลควรศึกษาผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นทั้งระบบให้รอบคอบ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อเลือกแนวทางที่ดีที่สุด และหากมีการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ 2 ควรหาแนวทางการป้องกันกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลที่อาจจะเกิดน้ำท่วมในอนาคต
-ควรมีการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาในการออกแบบอาคาร และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วมในอนาคต เป็นต้น