ชวน หลีกภัย-บัญญัติ บรรทัดฐาน-จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ – อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำหนังสือถึง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง-ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ปรับปรุงกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ป้องกัน ‘นายก อบจ.-นายกเทศมนตรี’ ชิงลาออก-เลือกตั้งสองรอบ ไม่ให้เป็นภาระทางการคลัง-สูญเสียงบประมาณแผ่นดินจากภาษีอากรของประชาชนโดยไม่จำเป็น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำหนังสือถึงนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่อง การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริการส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) โดยมีบางช่วงระบุในหนังสือว่า
ตามที่บทบัญญัติมาตรา 10 และมาตรา 35/2 ของพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 กำหนดให้สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหาร่ส่วนจังหวัดมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี
ดังนั้น สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุดปัจจุบันซึ่งได้รับการเลือกตั้งพร้อมกัน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 จะครบวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปีพร้อมกันในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ซึ่งโดยมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 กำหนดให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ภายใน 45 วันนับแต่วันครบวาระ ซึ่งทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
อย่างไรก็ดี ในบางจังหวัดได้มีการจัดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดไปก่อนแล้ว เนื่องจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดคนเดิมได้ลาออกก่อนครบวาระและจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งเฉพาะตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตามวาระเป็นต่างหากอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ ในองค์การบริหารส่วนจังหวัดเดียวกันต้องจัดการเลือกตั้งถึงสองครั้งในระยะเวลาที่ห่างกันไม่นาน อันเป็นการสูญเสียงบประมาณแผ่นดินซึ่งรายได้ของรัฐบาลส่วนใหญ่มาจากการจัดเก็บภาษีอากรจากประชาชนเพื่อจัดการเลือกตั้งซ้ำสองรอบและจะอยู่ในสภาวะเหลื่อมเวลาที่จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งสองครั้งเช่นนี้ในวาระถัด ๆ ไปโดยตลอดด้วย
โดยที่มาตรา 230 วรรคหนึ่ง (1) ของรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 22 วรรคหนึ่ง (1) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรรมแก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น หรือเกินสมควรแก่เหตุ
ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของประชาชน ข้าพเจ้าและคณะจึงขอนำเรียนข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาข้างต้น แก่ท่านประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับทราบ และพิจารณาให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดเพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงกฎหมาย และเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อในประเด็นดังกล่าวนี้ อันเป็นการดำเนินการภายในขอบหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนด
ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สาธารณะอันเป็นความมุ่งหมายสูงสุดของบรรดาองค์กรของรัฐ ทั้งเพื่อส่งเสริมการกระจายอำนาจที่ตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาล อันเป็นพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อไป
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 นายชวนและนายบัญญัติ ยังได้ทำหนังสือถึงนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี โดยมีสาระสำคัญในหนังสือ ว่า
ตามที่สมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีจะครบวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี ในวันที่ 28 มีนาคม 2568 โดยมาตรา 11 ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 กำหนดให้จัดการเลือกตั้งใหม่ภายในสี่สิบห้าวัน นับแต่วันที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งครบวาระ
ขณะนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในหลายเทศบาล นายกเทศมนตรีได้ลาออกจากตำแหน่ง และเชื่อว่าจะมีการทยอยลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระดังเช่นกรณีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ผ่านมา ทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกันซ้ำสองรอบในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ส่งผลให้ต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินอันมาจากภาษีอากรของประชาชนโดยไม่จำเป็น ทั้งไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนแต่อย่างใด
ดังนั้น เพื่อปกป้องประโยชน์ของส่วนรวมและประชาชน ในฐานะที่ข้าพเจ้าและคณะได้มีส่วนร่วมส่งเสริมการกระจายอำนาจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อครั้งทำหน้าที่เป็นรัฐบาล จึงขอนำเรียนข้อเท็จจริงข้างต้นแก่ท่านประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับทราบและพิจารณาดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด อันจะทำให้เกิดความตระหนักทั้งต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและต่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการลาออกก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่ง แม้การลาออกก่อนครบวาระนั้นจะเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมายก็ตาม รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาศึกษาเพื่อหาแนวทางการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไปในอนาคต