ครม.ไฟเขียว ‘Easy E-Receipt 2.0’ นำค่าซื้อ ‘สินค้า-บริการ’ ในช่วง 16 ม.ค.-28 ก.พ.2568 มาหักลดย่อนภาษีเงินได้ฯ ได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท ‘นายกฯ-รมช.คลัง’ คาดจีดีพีปีหน้าโตไม่ต่ำกว่า 3%
..................................
เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการ ‘Easy E-Receipt 2.0’ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศในปี 2568 ผ่านการส่งเสริมการบริโภคสินค้าและบริการ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ มาหักลดหย่อนภาษีฯได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
น.ส.แพทองธาร ระบุด้วยว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาทำงานได้ดำเนินนโยบายต่างๆในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในปี 2568 งบประมาณรายจ่ายจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่การขาดดุลการคลังลดลง ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจหลายๆ ตัว ต้องเร่งรัดเพื่อให้เกิดการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น จึงได้ฝากข้อสังเกตให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐและกระทรวงการคลังดำเนินการดังต่อไปนี้
1.ให้กระทรวงการคลังเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ให้เหมาะสม สอดคล้องกับประเทศที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกัน 2.ให้หน่วยงานรับงบประมาณเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณให้คุ้มค่า ประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน 3.ให้หน่วยงานรับงบประมาณ นำเงินนอกงบประมาณ เงินรายได้ หรือเงินที่สะสม มาใช้ดำเนินภารกิจเป็นลำดับแรก และ4.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจและสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
น.ส.แพทองธาร ยังกล่าวถึงเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2568 ว่า ได้มีการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจในแต่ละไตรมาสอยู่แล้ว และหวังว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเกิน 3% อย่างแน่นอน ส่วนในแต่ละไตรมาสจะสามารถผลักดันได้แค่ไหนนั้น ก็จะทำให้เต็มที่อยู่แล้ว ต้องผลักดันทุกไตรมาส เพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ว่าใครจะพูดอย่างไร เราก็อยากให้ไปถึงตรงนั้น
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบโครงการ ‘Easy E-Receipt 2.0’ โดยให้นำค่าซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันที่ 16 ม.ค.-28 ก.พ.2568 มาหักลดหย่อนภาษีฯได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นการจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าทั่วไป ซึ่งสามารถหักลดหย่อนภาษีฯได้ไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนที่สอง เป็นการใช้จ่ายกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือโอทอปที่มีการลงทะเบียน ซึ่งสามารถหักลดหย่อนฯได้ไม่เกิน 20,000 บาท
“ต้องเรียนว่า ของขวัญปีใหม่ที่เราได้ดำเนินการ การได้ส่วนลดในการเสียภาษีในโครงการ Easy E-Receipt กับเรื่องการเติมเม็ดเงินให้กับพี่น้องประชาชนกลุ่มชาวนาและกลุ่มผู้สูงอายุนั้น พี่น้องประชาชนทั่วประเทศจะได้ผลประโยชน์ด้วย คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงปลายไตรมาส 3 ปีนี้ ในเดือน ก.ย.2567 เรามีการเติมเงินให้กับกลุ่มเปราะบาง วงเงิน 1.45 แสนล้านบาท
ส่วนช่วงเดือน ธ.ค.นี้ จนกระทั่งถึงเดือน ม.ค.-ก.พ.2568 จะมีเม็ดเงินจากโครงการ 3 โครงการ คือ การกระตุ้นผ่านกลุ่มชาวนา 1,000 บาทต่อไร่ 3.5 หมื่นล้านบาท มีในส่วนของผู้สูงอายุอีกราว 4 หมื่นล้านบาท และสุดท้าย Easy E-Receipt ที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จะมีเงิน 1.4-1.5 แสนล้านบาท ที่จะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการกระตุ้นรอบที่ 2
จะเห็นว่าเราพยายามรักษาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งผ่านตั้งแต่ปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า และในช่วงไตรมาส 2/2568 โครงการเฟสถัดไปที่จะเป็นในรูปดิจิทัลวอลเลตก็คงจะมีความพร้อม และจะมีเม็ดเงินอีกแสนกว่าล้านบาทที่เติมเข้าไปในช่วงนั้น จะเป็นการรักษาโมเมนตัมที่ดีให้กับระบบเศรษฐกิจในปี 2568 โดยเราตั้งเป้าและเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้สูงกว่าที่หลายๆคนคาด เรายังหวังตัวเลขที่ 3% เป็นอย่างน้อย” นายจุลพันธ์ กล่าว
ขณะที่ น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการมาตรการ "Easy E-Receipt 2.0" เพื่อสนับสนุนการบริโภคในประเทศ ส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีและการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักรจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้สูงสุด รวม 50,000 บาท สำหรับสินค้าหรือค่าบริการทั่วไป (รวมค่าซื้อสินค้า OTOP และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม) ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
ทั้งนี้ หากเกิน 30,000 บาท ให้หักลดหย่อนสำหรับค่าซื้อสินค้า OTOP ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและกฎหมายว่า ด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
สำหรับเงื่อนไขในการใช้มาตรการฯ มีดังนี้ ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ 1) ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร 2) ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (E- book)
3) ค่าซื้อสินค้า OTOP ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว 4) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร ไม่ว่าวิสาหกิจชุมชนนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล 5) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อ สวส.
ทั้งนี้ ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการนี้ไม่รวมถึง 1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ 2) ค่าซื้อยาสูบ 3) ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ 4) ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และค่าซื้อเรือ 5) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
6) ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการ ดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนด 7) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย 8) ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ 9) ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
10) ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยให้แก่ผู้ประกอบการโฮมสเตย์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) 11) ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบการสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ซึ่งผู้มีเงินได้ที่ได้รับสิทธิตามมาตรการนี้ต้องไม่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.2568 ถึงวันที่ 28 ก.พ.2568 และจะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)" ของกรมสรรพากรเท่านั้น”
“มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท และช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 2.3 – 3.3 และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษี โดยกรมสรรพากรคาดการณ์ว่ามาตรการ "Easy E-Receipt 2.0" จะมีผู้ใช้สิทธิประมาณ 1.4 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท ซึ่งจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 10,500 ล้านบาท" น.ส.ศศิกานต์ ระบุ