เหยื่อชาวจีนเตือนเพื่อนร่วมชาติระวังขบวนการฉ้อโกงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในไทย ทำสัญญาซื้อขายกว่าสิบล้านแล้วไม่โอนทรัพย์สินให้ เหตุเพราะติดข้อกฎหมาย ด้านลอว์เฟิร์มไทยเผยกว่าร้อยละ 60 ของเหตุฉ้อโกงมาจากความไว้ใจคนชาติเดียวกัน ส่วนบ.เทคอสังหาฯจีนแนะตรวจสอบข้อมูลอสังหาฯก่อนตัดสินใจ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวปัญหาเกี่ยวกับตลาดซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดยอ้างอิงจากสำนักข่าวเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ว่ามีชาวจีนได้ออกมาเตือนให้ระวังเกี่ยวการตัดสินใจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในไทย โดยนางโซอี้ ยู (Zoe Yu) ช่างภาพวัย 45 ปีจากเมืองหนิงป่อ กล่าวว่าเธอต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในเชียงใหม่ โดยเธอได้ลงนามในสัญญาซื้อขายในเดือน ม.ค. 2566 เพื่อซื้อวิลล่ามูลค่า 10 ล้านบาท ซึ่งการตัดสินใจของเธอมาจากการที่คนดังของจีนรายหนึ่งแนะนำ
อย่างไรก็ตามนางยูพบว่ากฎหมายประเทศไทยห้ามห้ามชาวต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดินหรือบ้านเดี่ยว ดังนั้นสัญญาของเธอจึงขาดการคุ้มครองทางกฎหมาย แต่เธอก็ได้ต่อสู้และได้รับเงินคืนในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เธอได้เสียเงินไปมากกว่าหนึ่งในสามของเงินลงทุนของเธอทั้งหมดที่ใช้ไปกับค่าปรับปรุงและขยายสถานที่
สำนักข่าวเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ยังได้มีการไปสัมภาษณ์สำนักกฎหมาย ทนายบ้านและคอนโด (House & Condo Lawyer) ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์นี้ได้กลายจุดร้อนแรงของการฉ้อโกง เนื่องจากมันดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ๆที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับระเบียบการ โดยการใช้โฉนดที่ดินปลอมแปลงและการขายที่ดินที่ผิดกฎหมายอาจนําไปสู่การสูญเสียครั้งใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาพบข้อมูลว่ามีนักลงทุนรายหนึ่งขาดทุนมากถึง 400 ล้านบาท
สำนักกฎหมายในไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกถึงประเด็นของการใช้โครงสร้างนอมินี ทำให้คนต่างชาติเชื่อว่าเขาสามารถเป็นเจ้าของที่ดินในไทยได้โดยถูกต้องผ่านการใช้นอมินีคนไทย ซึ่งการกระทำเช่นนี้นั้นแท้จริงแล้วเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และอาจทำให้ชาวต่างชาติที่ไม่รู้เรื่องต้องเสียเงินลงทุนได้ ถ้าหากอยู่ดีๆนอมินีจะอ้างสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่ หรือว่าทางการไทยได้ดำเนินการสืบสวนขึ้นมา
นางยูไม่ใช่รายเดียวที่ตกเป็นเหยื่อ เพราะในปี 2566 นักลงทุนชาวอังกฤษชื่อว่านายเดวิด เอ็ดเวิร์ด แชปเปล ก็ตกเป็นข่าวหลังจากที่เขารู้ว่า นักลงทุนที่นายแชปเปลได้ไปติดต่อเพื่อซื้อแฟลตลนเกาะสมุยมูลค่า 15 ล้านบาท ไม่สามารถจะลงทะเบียนสินทรัพย์ในชื่อของตัวนายแชปเปลเองได้ ซึ่งนายแชปเปลก็เป็นอีกหนึ่งในชาวต่างชาติหลายคนที่อยู่ในโครงการที่เกาะสมุยดังกล่าวนี้
พอมาถึงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีกรณีชาวออสเตรเลียสองคนยื่นเรื่องร้องเรียนการฉ้อโกง หลังจากที่พวกเขาซื้อแฟลตมูลค่า 5 ล้านบาทใน จ.ภูเก็ต แต่ก็ไม่เคยมีการส่งมอบอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด โดยแม้ทั้งสองคนจะชนะในชั้นศาลแพ่ง แต่ว่าพวกเขาก็ยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชย
สำนักกฎหมาย ทนายบ้านและคอนโด ได้เน้นย้ำว่าแผนการฉ้อโกงส่วนมากจะใช้ประโยชน์จากการขาดการตรวจสอบและความไว้วางใจคนในชาติเดียวกัน โดย 60 เปอร์เซ็นต์ของคดีฉ้อโกงในประเทศไทยนั้นพบว่าเกี่ยวกับคนชาติเดียวกัน
ชาวจีนเป็นผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งคิดเป็นเกือบ 46 เปอร์เซ็นต์ของคอนโดมิเนียมทั้งหมดที่ชาวต่างชาติซื้อในปี 2566 เนื่องจากพวกเขาแสวงหาการลงทุนทางเลือกท่ามกลางการตกต่ำที่ยืดเยื้อของตลาดอสังหาริมทรัพย์บนจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ในปี 2566 มีชาวจีนซื้อคอนโดไปแล้ว 6,614 เพิ่มขึ้น 16 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า
ชาวจีนยังคงติดทอปชาร์ตผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ตามข้อมูลทางการจากทั้งในจีนและในฮ่องกง พบว่ามีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 2567 ตามข้อมูลของนายแดเนียล โฮ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Juwai IQI ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีอสังหาริมทรัพย์
Juwai IQI ยังได้แนะนำด้วยว่านักลงทุนควรดําเนินการตรวจสอบสถานะอสังหาริมทรัพย์และทํางานร่วมกับทนายความด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อปกป้องตนเองและนําทางผ่านปัญหาความยุ่งยากต่างๆ
ขณะที่นางยูได้กล่าวเตือนคนจีนว่าให้ระวังง และหวังว่าเรื่องราวของเธอจะเป็นเรื่องราวเตือนใจสําหรับชาวต่างชาติที่สนใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย
“สามีของฉันพยายามเตือนให้ฉันล้มเลิกการซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่ฉันก็ไม่ฟัง” นางยูกล่าวและยอมรับว่าเธอมืดบอดเพราะคิดแค่เพียงว่าอยากจะอยู่ในละแวกที่อยู่อาศัยเดียวกับเซเลบบริตี้จากจีน