ป.ป.ช.เผยปีงบประมาณ 2565-2567 มีเรื่องร้องเรียน 20,675 เรื่อง-หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูกร้องเรียนมากสุด 7,829 เรื่อง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดอภิปรายหัวข้อ 'การพัฒนามาตรการป้องกันการทุจริต : การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงาน สู่การป้องกันการทุจริตอย่างยั่งยืน' โดยการอภิปราย มีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้
นายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 รักษาราชการแทน รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงประเด็นการทุจริตในท้องถิ่นที่ปัจจุบันบริบทของการทุจริตเปลี่ยนไป ในอดีตการจัดซื้อจัดจ้างที่มีการฮั้วประมูลจะมีการใช้อาวุธปืนข่มขู่ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นการใช้นอมินีแทน อีกทั้งการเมืองระดับท้องถิ่นจากมีนายทุนเหมือนกับการเมืองระดับชาติ เรื่องเหล่านี้อาจจะไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ก็ได้เบาะแสจากที่ประชาชนให้มา
นอกจากนี้ภาพรวมสถิติเรื่องกล่าวหาร้องเรียน ปีงบประมาณ 2565-2567 เฉพาะเรื่องที่ ป.ป.ช. รับไว้ดำเนินการเองและเรื่องที่ส่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ มีทั้งหมด 20,675 เรื่อง แบ่งเป็นปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 6,868 เรื่อง ปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 6,610 เรื่อง ปีงบประมาณ 2567 มีจำนวน 7,197 เรื่อง ซึ่งหน่วยงานที่มีเรื่องกล่าวหาร้องเรียนมากที่สุด คือ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีเรื่องกล่าวหาร้องเรียน 7,829 เรื่อง
โดยในปี 2566 เรื่องกล่าวหาในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ ป.ป.ช. รับไว้ดำเนินการมี 1,739 เรื่อง แบ่งเป็น การจัดซื้อจัดจ้าง 827 เรื่อง ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 346 เรื่อง ยักยอก/เบียดบังทรัพย์สินราชการ 171 เรื่อง การบริหารงานบุคคล 92 เรื่อง เรียกรับสินบน 89 เรื่อง ทุจริตงบประมาณ 80 เรื่อง ออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน 57 เรื่อง การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ 39 เรื่อง ร่ำรวยผิดปกติ 38 เรื่อง ซึ่งที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้ออกมาตรการป้องกันต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหา โดยมาตรการที่ใช้ได้ผล คือ มาตรการป้องการทุจริตเงินอุดหนุนวัด และมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ
นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถานการณ์การคอร์รัปชันในประเทศไทยเป็นการเกิดขึ้นทั่วไปและเป็นการโกงซึ่ง ๆ หน้า ทั้งในระดับภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการคอร์รัปชันเชิงระบบ (คอร์รัปชันฝังลึก) ในหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ตำรวจ กรมทางหลวง กรมศุลกากร แต่ทั้งนี้ในส่วนของกรมศุลกากรได้พยายามแก้ปัญหาเพื่อเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของหน่วยงาน ซึ่งยังคงต้องมีการประเมินต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้จะเห็นว่ามีนายทุนใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังนักการเมืองที่สามารถครอบงำรัฐบาล โดยสามารถกำหนดนโยบายต่าง ๆ ได้ หรือนำคนสนิทเข้าไปดำรงตำแหน่งในรัฐบาล เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ปัญหา
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเรื่องเกี่ยวกับการคอร์รัปชันที่ควรทบทวน ได้แก่
1.คดีดิไอคอน ซึ่งในช่วงต้นของเหตุการณ์มีการระบุว่ามีการจ่ายสินบนให้กับหลายหน่วยงาน ซึ่งจะเห็นว่าหลังเกิดเหตุการณ์ก็ไม่มีหน่วยงานใดออกมากล่าวว่าจะแก้ไขปัญหาที่ถูกร้องเรียนว่ามีการเรียกรับสินบนแต่อย่างใด
2.กรณี 2 พลตำรวจเอกมีความขัดแย้งกัน ซึ่งบุคคลทั้งสองนี้มีคดีพัวพันกับ ป.ป.ช. และพนันออนไลน์
3.บุคคลที่สังคมไว้วางใจแล้วมีการคอร์รัปชัน เช่น กรณีของหมอบุญ กรณีของทนายดัง กรณีนักร้องเรียนชื่อดังตบทรัพย์ เป็นต้น
"นอกจากนี้ยังมีกรณีการประมูลสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มูลค่าเกือบสองแสนล้าน ที่มีการประมูลมาแล้ว 5 ปี ซึ่งขณะนี้ยังเจรจากันอยู่ ยังไม่จบสิ้น บอร์ด EEC อนุมัติ แล้วเข้าครม. แล้วมีพรรคภูมิใจไทยเข้ามาขวาง ซึ่งผมขอบคุณเขามากที่เขาขวางไว้ เพราะวันที่ประมูลเป็นการประมูลแบบ International biding ที่ทุกคนทั้งคนไทยและคนต่างชาติมาร่วมประมูลด้วยกติกาเดียวกัน ด้วยกติกาของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง แม้โครงการนั้นจะเป็น PPP ที่อยู่ในอีกหน่วยงานหนึ่งกำกับดูแล แต่ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันถ้าเป็นผลประโยชน์ของรัฐ แต่ประมูลเสร็จก็ไม่ทำ แต่มีการเจรจา เจรจา และเจรจา ได้พ่วงที่ดินมักกะสันและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ควรจะต้องจ่ายเงินเพื่อไปพัฒนารถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แต่ผ่านไป 4 ปี ถึงเริ่มจ่ายเงินก้อนแรก 10% แต่ก็ยังไม่ดำเนินการ แล้วก็เจรจา อันนี้ทำให้บ้านเมืองของเราเสียหน้า เป็นเรื่องน่าละอายเพราะไม่มีกติกา ไม่มีความเป็นธรรม แล้วเอกชนรายใหญ่ขนาดนี้ทำได้หรือ นี่เป็นสิ่งที่บอกต่างชาติ และเขาก็หัวเราะเราเสมอว่ามาลงทุนในประเทศไทย ทำการค้ากับรัฐบาลไทย ถ้าไม่มีพวกพ้อง ไม่มีเส้นสายก็อย่ามา" นายมานะ กล่าว
นายมานะ กล่าวต่อว่า หรือกรณีการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่การประมูลครั้ง 1 มีการแก้ TOR การประมูลครั้งที่ 2 มีข้อมูลว่ามีการเขียน TOR ล็อกสเปก การประมูลทั้งสองครั้งทำให้รัฐเสียหายกว่าหกหมื่นล้าน ซึ่งปัจจุบันมีการตัดสินว่าบริษัทในเครือ ช. การช่าง ได้โครงการไป ก็ไม่มีใครกล่าวถึงเงินที่รัฐเสียหายไปกว่าหกหมื่นล้าน เรื่องเหล่านี้ยกขึ้นมาให้เห็นว่าการต่อรองผลประโยชน์เกิดขึ้นได้ง่ายมากโดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นนายทุนของพรรคการเมือง เมื่อมีการต่อรองแล้วรัฐก็ต้องจำยอม
"ประเด็นเหล่านี้ยกขึ้นมาให้เจ้าหน้าที่ทุกคนเห็นว่า ถ้าวันนี้ผลประโยชน์ของรัฐถูกเพิกเฉยแล้วปล่อยให้เกมการต่อรองผลประโยชน์เกิดขึ้นง่าย ๆ โดยเอกชนทำกันเองแล้วการเมืองพยักหน้าให้ คำว่าปล้นกลางวันแสก ๆ โกงซึ่ง ๆ หน้าก็จะไม่หลุดพ้นจากประเทศไทย เหล่านี้เป็นภาพใหญ่ที่เกิดขึ้น" นายมานะ กล่าว
น.ส.ณิติญาภรณ์ อิ่มใจ ผอ.กองความร่วมมือและความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กล่าวถึงเครื่องมือในการตรวจสอบความโปร่งใสของภาครัฐ โดยมีเครื่องมือต่าง ๆ เช่น การเปิดเผยข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างให้ประชาชนเข้ามาติดตามผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) การมีข้อตกลงคุณธรรมที่มีบุคคลที่สามที่เป็นบุคคลทั่วไปที่มีความรู้เข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์โครงการจัดซื้อจัดต่าง ๆ ที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไปตั้งแต่เริ่มจนจบโครงการ ซึ่งจะมีค่าตอบแทนให้เดือนละประมาณ 5,000 บาท ต่อ 1 โครงการ การสร้างความโปร่งใสในงานก่อสร้างภาครัฐ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างโครงการเล็ก ๆ ที่มีมูลค่า 5 ล้านบาทขึ้นไป โดยให้ท้องถิ่นเข้ามาบันทึกข้อมูลผ่านระบบ e-GP เพื่อให้ประชาชนเข้ามาดูข้อมูลได้ เป็นต้น