เว็บไซต์ระบบบกลางทางกฎหมาย เปิดรับฟังความเห็น ร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ‘ฉบับกองทัพ’ ชง ‘บอร์ด’ แต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล-ยึดอำนาจ รมว.กลาโหม จัดสรรงบประมาณ ผุด ‘คณะผู้บัญชาการทหาร’ ให้คำปรึกษา ก่อนเคลื่อนกำลัง
สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ทีทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระทรวงกลาโหมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม 2567 จนถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2567
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org.) รายงานว่า สำหรับรายละเอียดประกาศรับฟังความคิดเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ของกรมพระธรรมนูญ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ดังนี้
ชื่อการรับฟัง การรับฟังความคิดเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ผู้ได้รับผลกระทบ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม, หน่วยงานของรัฐ,ประชาชนทั่วไป
ความเป็นมา (สภาพปัญหาและเป้าหมาย)
พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 1 ก.พ.51 มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการจัดองค์กรและการบริหารราชการ ของกระทรวงกลาโหม (กห.) ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์และระบบการบริหารราชการของประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงไป
ในปัจจุบัน โดยให้ รมว.กห. มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพ.ร.บ.และมีอำนาจออกกฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งเพื่อปฏิบัติการตามพ.ร.บ.นี้ การแบ่งส่วนราชการในสังกัด กห.
@ เปิดร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ‘ฉบับกองทัพ’
คำอธิบายหลักการหรือประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายหรือกฎหมายที่นำมารับฟังความคิดเห็น
พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดมาตรการสำคัญไว้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ดังนี้
1.บทนิยามที่สำคัญ
1.1 ข้าราชการทหาร หมายถึง ข้าราชการทหารตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.2521 ที่กำหนดความหมายไว้ว่า ทหารประจําการและข้าราชการกลาโหมพลเรือนที่บรรจุในตำแหน่งอัตราทหาร
1.2 ข้าราชการพลเรือนกลาโหม หมายถึง ข้าราชการที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการในกระทรวงกลาโหมในตำแหน่งที่มิใช่อัตราทหารและไม่มีชั้นยศเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะทาง
1.3 ทหารกองประจําการ หมายถึง ทหารกองประจําการตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ที่กำหนดความหมายไว้ว่า ผู้ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการและรับราชการในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลด
1.4 นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม หมายถึง นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 ที่กำหนดความหมายไว้ว่า นักเรียนที่เข้าศึกษาในโรงเรียนของทางราชการทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
1.5 เจ้าหน้าที่ทางทหาร หมายถึง ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภากลาโหมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
1.6 การใช้กําลังทหาร หมายความว่า การใช้ทหารตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง ข้าราชการพลเรือนกลาโหมและเจ้าหน้าที่ทางทหาร เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
2.บททั่วไป (หมวด 1 มาตรา 6 - มาตรา 9)
2.1 กำหนดประเภทของข้าราชการกระทรวงกลาโหม แบ่งออกเป็น สองประเภท ได้แก่ ข้าราชการทหาร และข้าราชการพลเรือนกลาโหม รวมถึงอำนาจหน้าที่และการบริหารราชการของกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงกลาโหมอาจแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลใดเพื่อกระทำการหรือพิจารณาหรือสอบสวนกรณีใด ๆ เกี่ยวกับราชการของกระทรวงกลาโหมก็ได้
2.2 อำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม กระทรวงกลาโหมมีหน้าที่พิทักษ์รักษาเอกราชและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในราชอาณาจักร ปราบปรามการกบฏและการจลาจล โดยจัดให้มีและใช้กำลังตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามที่กฎหมายกำหนด ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
ตลอดจนสนับสนุนภารกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ พัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงตลอดจนสนับสนุนภารกิจอื่นของรัฐในการพัฒนาประเทศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติและการช่วยเหลือประชาชน
รวมถึงปฏิบัติการอื่นที่เป็นการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม เพื่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือปฏิบัติการอื่นใด ตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามมติคณะรัฐมนตรี และต้องบริหารราชการให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
3.การแบ่งส่วนราชการ (หมวด 2 มาตรา 10 – มาตรา 23) กำหนดให้ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม ประกอบด้วย สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กองทัพไทย (กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ) ซึ่งได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของแต่ละส่วนราชการ ดังนี้
3.1 สำนักงานรัฐมนตรี มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทางการเมือง เพื่อสนับสนุนภารกิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และการประสานนโยบายระหว่างกระทรวง มีเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ เว้นแต่สำนักงานจเรทหารทั่วไปในสำนักงานรัฐมนตรีให้อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
3.2 จเรทหารทั่วไป มีหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติราชการของกระทรวงกลาโหม
3.3 สำนักงานปลัดกระทรวง มีหน้าที่เกี่ยวกับงานนโยบายและยุทธศาสตร์ งานราชการประจำทั่วไปของกระทรวง และราชการส่วนหนึ่งส่วนใดของกระทรวงซึ่งมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการอื่นใด มีปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
3.4 กองทัพไทย มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพไทย การป้องกันราชอาณาจักรและดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังทหารตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
3.5 กองบัญชาการกองทัพไทย มีหน้าที่ควบคุมอำนวยการ สั่งการ และกำกับดูแลการดำเนินงานของส่วนราชการในกองทัพไทยในการเตรียมกำลัง การป้องกันราชอาณาจักรและการดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังทหารตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชา โดยอาจตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลใดเพื่อพิจารณาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับแผนเพื่อรักษาเอกราชและผลประโยชน์แห่งชาติ
3.6 กองทัพบก มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพบก การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพบกตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
3.7 กองทัพเรือ มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพเรือ การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพเรือตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
3.8 กองทัพอากาศ มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศ การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพอากาศตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
@ ชง บอร์ดแต่งตั้ง ‘นายพล’
4.การจัดระเบียบราชการทั่วไป (หมวด 3 มาตรา 24 – มาตรา 32)
4.1 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ในการปฏิบัติราชการของกระทรวงกลาโหม และให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ช่วย สั่งและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ปลัดกระทรวงกลาโหมมีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ และการปฏิบัติราชการประจำแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
4.2 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ ปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งใดๆ หรือมติของสภากลาโหม หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้บัญชาการทหารอากาศ ทำการแทนในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้ และผู้มอบอำนาจดังกล่าวอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนต่อไป ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
4.3 กำหนดให้การบริหารจัดการกำลังพลของกระทรวงกลาโหมพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง และส่วนราชการกองทัพไทย ให้ดำเนินการโดยที่ส่วนนั้นแต่งตั้งขึ้นแล้วเสนอต่อ ‘คณะกรรมการ’ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการและเลขานุการ และเจ้ากรมเสมียนตราเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของส่วนราชการ
4.4 กําหนดให้กระทรวงกลาโหมกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับระบบการส่งกําลังบํารุงร่วมและมาตรฐานยุทโธปกรณ์ตามความต้องการของกองทัพไทย โดยให้มีคณะกรรมการที่กระทรวงกลาโหมแต่งตั้งขึ้นรับผิดชอบการดำเนินการส่งกําลังบํารุงร่วม หรือมาตรฐานยุทโธปกรณ์ แล้วแต่กรณี และให้รับผิดชอบการวางแผน พัฒนาและดำเนินการเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการบริหารราชการทั่วไปของกระทรวงกลาโหม ให้สามารถติดต่อเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
5. การจัดระเบียบการปฏิบัติราชการทหาร (หมวด 4 มาตรา 33 - มาตรา 41) กำหนดแนวทางการปฏิบัติไว้ ดังนี้
5.1 การใช้กำลังทหารเพื่อปฏิบัติราชการทหาร หรือการวางกำลัง เพื่อเตรียมการยุทธให้เป็นไปตามข้อบังคับแผนและคำสั่งปฏิบัติการทางทหารที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
5.2 การปฏิบัติหน้าที่เพื่อการรบหรือการสงคราม การปราบปราม การกบฏหรือเมื่อได้ประกาศกฎอัยการศึก ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบของสภากลาโหม มีอำนาจกำหนดหน่วยงาน แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทางทหารและกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทางทหารได้ตามความเหมาะสมแก่การปฏิบัติภารกิจ และเมื่อการรบหรือการสงคราม หรือการปราบปรามกบฏสิ้นสุดลง หรือมีการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบจากสภากลาโหมพิจารณาสั่งยกเลิกหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทางทหารที่ได้กำหนดหรือแต่งตั้ง
5.3 การใช้กำลังทหารในการเพื่อการปราบปรามการจลาจลให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ส่วนการใช้กำลังทหารหรือการอื่นใดเพื่อป้องกัน ระงับ หรือ ปราบปรามการกระทำความผิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือเกี่ยวกับการก่อการร้ายซึ่งจำเป็นต้องใช้กำลังทหารเพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงโดยเร็ว มิให้เหตุการณ์มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หรือ เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์แห่งชาติให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ การใช้กำลังทหารในการปฏิบัติภารกิจเพื่อสันติภาพให้เป็นไปโดยความเห็นชอบของสภากระทรวงกลาโหม และเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี
5.4 กําหนดให้ทหาร ข้าราชการพลเรือนกลาโหม และผู้ที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่กับทหารในภารกิจเพื่อความมั่นคงของประเทศ อาจได้รับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
6. หมวด 5 คณะผู้บริหาร (มาตรา 42 – มาตรา 47)
6.1 กำหนดให้มี ‘สภากลาโหม’ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานสภากลาโหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานสภากลาโหม จเรทั่วไป ปลัดกระทรวงกลาโหม รองปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เสนาธิการทหาร ผู้บัญชาการทหารบก รองผู้บัญชาการทหารบก เสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ เสนาธิการทหารเรือ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เสนาธิการทหารอากาศ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในกระทรวงกลาโหมเป็นเลขาและรองเลขาธิการ
ทั้งนี้ สมาชิกสภากลาโหมดังกล่าวมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละสองปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งและอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ไม่เกินสองวาระ
@ ยึดอำนาจ ‘รมว.กลาโหม’ จัดสรรงบประมาณ
6.2 กําหนดให้การดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในเรื่องดังต่อไปนี้ ต้องเป็นไปตามมติของสภากลาโหม
6.2.1 นโยบายการทหาร
6.2.2 นโยบายการระดมสรรพกําลังเพื่อการทหาร
6.2.3 นโยบายการปกครองและการบังคับบัญชาในกระทรวงกลาโหม
6.2.4 การพิจารณางบประมาณการทหาร และการแบ่งสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม
6.5.5 การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการทหาร
6.2.6 เรื่องที่กฎหมายหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกําหนดให้เสนอสภากลาโหม
@ ผุด ‘คณะผู้บัญชาการทหาร’
6.3 กําหนดให้มี ‘คณะผู้บัญชาการทหาร’ ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และเสนาธิการทหาร โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานคณะผู้บัญชาการทหาร มีหน้าที่เสนอแนะและให้คำปรึกษาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในเรื่องการเตรียมกําลัง การสั่งการใช้กําลัง การเคลื่อนกําลังทหาร และการเตรียมพร้อม ตลอดจนรับผิดชอบในการควบคุมอํานวยการยุทธในภาพรวม รวมทั้งควบคุมบังคับบัญชากองกําลังเฉพาะกิจร่วมที่จัดตั้งขึ้นในกรณีที่มีสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ
อ่านประกอบ :