"...หลังจากกลุ่มเกษตรกรได้ทำสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิต ก็ได้ไปดำเนินตัดแต่งต้นไม้ที่จะซื้อขายให้มีขนาดตามที่กำหนดไว้ ซึ่งในการตัดแต่งต้นไม้ ทางเกษตรกร มีค่าใช้จ่ายในการตัดแต่งต้นไม้ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องได้รับเงินจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ก็มีการขอเลื่อนวันจ่ายเงินมาเรื่อย ๆ ทำให้มีปัญหา..."
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดสงขลาว่า ขณะนี้มีกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดสงขลาหลายราย เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร สิงหานคร ว่า ในช่วงกลางปี 2566 มีบุคคลกลุ่มหนึ่งติดต่อให้ร่วมโครงการทำคาร์บอนเครดิต หรือการปลูกต้นไม้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กำหนดเงื่อนไขซื้อขายในราคา 400 บาท ต่อกิโลตันคาร์บอน และจ่ายเงินเป็นค่าบริหารจัดการอีก 100 บาท/ กิโลตันคาร์บอน
โดยขั้นตอนจะมีการจัดอบรมให้ความรู้ และทำข้อตกลงให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการฯ เป็นผู้ออกทุนในกระบวนการทั้งหมดด้วยทุนทรัพย์ของตนเอง หลังจากนั้น จะทำสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเป็นผู้รับซื้อ แต่หลังจากทำสัญญาแล้ว ได้แจ้งลงทุนคาร์บอน และขายให้กับบริษัทฯ แต่กลับไม่ได้รับเงินตามสัญญา
ขณะที่ พ.ต.ท.พงศักดิ์ คงสอน สว.(หน.งานคดี) สภ.สิงหนคร จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า มีเกษตรกรหลายรายเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์คดีนี้จริง แต่ยังให้ข้อมูลอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่ได้มีการสอบสวนรายละเอียด
แต่มีรายงานข่าวแจ้งว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ว่า บริษัทเอกชนรับซื้อคาร์บอนเครดิตโครงการฯ นี้ มีความเกี่ยวข้องกับนักการเมืองใหญ่ระดับประเทศ ขั้นตอนการดำเนินงานมีการอ้างบันทึกข้อตกลงของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ระบุวงเงินกว่า 5 แสนล้านบาท ขณะนี้จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ และไม่ได้รับเงินขายคาร์บอนเครดิต ขยายวงใหญ่ขึ้นๆ เรื่อย
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบยืนยันข้อมูลจากเกษตรกรในจังหวัดสงขลาหลายราย เกี่ยวกับปัญหาการเข้าร่วมโครงการทำคาร์บอนเครดิต หรือการปลูกต้นไม้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังกล่าว ได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
หนึ่ง. ที่มาที่ไปปัญหา
เกษตรกรรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน มีพี่น้องเกษตรกรมากกว่า 100 คน จาก 11 อําเภอของจังหวัดสงขลา รวมตัวเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งมีประธานคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนชมรมไม้แห่งหนึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทฯ ได้ทําสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับเกษตรกรผู้ขายในจังหวัดสงขลา ในวันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2566 ในราคา 400 บาทต่อกิโลตัน คาร์บอน เป็นเงินจํานวน 6,840,771.05 บาท และสัญญาจ่ายเงินเป็นค่าบริหารจัดการ อีก 100 บาทต่อกิโลตันคาร์บอน เป็นเงินจํานวน 1,710,192.76 บาท จากแปลงไม้เกษตรกรจํานวน 200 กว่าแปลง จาก 11 อําเภอ (ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ สิงหนคร รัตภูมิ คลองหอยโข่ง นาหม่อม สะเดา นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,550,963.81 บาท
แต่ในวันทําสัญญาดังกล่าว กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทฯ ไม่ได้เดินทางมา จังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ จึงนําเอกสารสัญญาของพี่น้องเกษตรกรทั้งหมดกลับไปยังที่ทําการบริษัทฯ การวัดและประเมินค่าคาร์บอนเครดิตเพื่อจําหน่ายของจังหวัดสงขลาเป็นไปตามมาตรฐานของผู้รับซื้อ และจํานวนแปลงดังกล่าวได้ผ่านการออดิท (ตรวจสอบและประเมิน) จาก Auditor ของทางบริษัทผู้รับซื้อดังกล่าว ที่ลงมาสุ่มตรวจต้นไม้อย่างละเอียดทั้งตารางข้อมูลต้นไม้ รวมถึงลงพื้นที่แปลงไม้ตรวจสอบชนิดไม้ ความโต ความสูง ขนาด/ชนิดวัสดุ และการติดแผ่นป้ายรหัสที่ถูกต้อง
เกษตรกรรายนี้ เล่าต่อว่า ในการตรวจสอบดังกล่าว มีการถ่ายวิดีโอการลงสุ่มตรวจต้นไม้ต้นแรกของทุกแปลงไม้ ให้กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทฯ พิจารณา ระหว่างวันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2566 จากนั้น บริษัทฯ ได้ออกหนังสือรับรองขั้นตอนการเสนอขายคาร์บอนเครดิตที่ถูกต้องให้กับจังหวัด สงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 และได้โพสต์ลงใน Social แจ้งเป็นข้อความและภาพใบรับรอง ในไลน์กลุ่มต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น กลุ่มไลน์ต่างๆ ของจังหวัดสงขลา ไลน์กลุ่มที่กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทฯ ไปบรรยาย เช่น พัทลุง ชุมพร และจังหวัดอื่นๆ ทางภาคใต้
โดยมีข้อความว่าจังหวัดสงขลาผ่านออดิท เป็นจังหวัดแรกที่ผ่านออดิท พร้อมรอรับเงินค่าคาร์บอนเครดิต และจะมีการจ่ายเงินเข้าบัญชีให้ เกษตรกร และได้ขอให้เกษตรกรส่งเลขบัญชีธนาคาร ยืนยันยอดเงินที่จะรับ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นมา
สอง. ทวงถามนานแล้วแต่ยังไม่มีการจ่ายเงิน
เกษตรกรรายนี้ กล่าวย้ำว่า แม้ว่าสมาชิกอําเภอ ต่างๆ ได้ทวงถามทางไลน์กลุ่ม ทางโทรศัพท์ รวมถึงคณะกรรมการของจังหวัดได้มีการติดตามทวงถามค่า คาร์บอนเครดิตจาก กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทฯ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการจ่ายเงินแต่อย่างใด
"ตลอดระยะเวลาการติดตามทวงถามเงินค่าคาร์บอนเครดิตและค่าบริหาร จัดการจาก กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทฯ ระยะแรกๆ ให้ข้อมูลว่าติดที่ระบบของทางธนาคาร ธกส."
"ต่อมาแจ้งว่าต้องโอนเงินเข้าธนาคารไทยพาณิชย์และกําลังติดตามธนาคารเพื่อจ่ายให้เกษตรกร ต่อมาช่วงเดือน เมษายน 2567 ทางกรรมการติดตามได้ประสานไปเพื่อเดินทางไปที่จังหวัดตราด ผู้ซื้อรายนี้ได้แจ้งให้ทางสงขลาเดินทางไปรับเงินสดในวันอบรม ที่ 9 พฤษภาคม 2567 แต่ก็ไม่มีการจ่ายแม้แต่แปลงใด และยังให้แก้ไขเอกสารสัญญา"
"พร้อมแจ้งว่าจะซื้อขายคาร์บอนเครดิต ต้องสมัครสมาชิกวิสาหกิจชุมชนชมรมไม้แห่งหนึ่ง และให้จ่ายค่าหุ้นๆ ละ 10 บาท อย่างน้อย 10 หุ้นขึ้นไป รวมทั้งแปลงที่เหลือที่เจ้าของไม่ได้เดินทางไป ก็ให้จัดส่ง เอกสารสัญญาใหม่รวมถึงการสมัครสมาชิกวิสาหกิจ และจ่ายค่าหุ้นทุกคนทุกแปลง หลังจากได้รับเอกสารได้แจ้งทางไลน์กลุ่มว่า ทําการเซ็นต์เอกสารและทยอยสแกนส่งธนาคาร จนผ่านไปสิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 ก็ไม่มีการจ่ายแม้แต่รายใดให้กับสงขลา"
เกษตรกรรายนี้ เล่าอีกว่า ต่อมาเดือนมิถุนายน 2567 กรรมการกลุ่มเกษตรกร ติดตามได้ประชุมแกนนําอําเภอทั้งจังหวัด ทําหนังสือติดตามทวงถามค่าคาร์บอนเครดิตก็ยัง ไม่มีการจ่ายให้รายใดๆ จากการประชุมของวิสาหกิจฯ ของ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทฯ ได้ประชุมมีวาระการจ่ายค่าคาร์บอนเครดิต ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง กันยายน 2567
โดยได้แจ้งในที่ประชุมว่า จะมีการจ่ายครบทุกรายทุกแปลง โดยทยอยจ่ายตามลําดับ ให้เสร็จสิ้น ทุกแปลงในวันที่ 10 กันยายน 2557 โดยเลื่อนด้วยเหตุผลต่างๆ ต่อมาแจ้งในรายการวิทยุ อสมท.ว่าจะจ่ายครบหมดทุกสัญญาก่อน วันที่ 14 ธันวาคม 2567 แต่ทราบจากเอกสารของ ประธาน วิสาหกิจชุมชนชมรมไม้แห่งหนึ่งสาขาจังหวัดสงขลา ที่แจ้งผลการประชุม ผู้บริหารจังหวัดประจําเดือน เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 67 โดยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทฯ เป็นประธานในที่ประชุม มีข้อความว่า “สําหรับ ในส่วนของทีมสงขลาชุดเก่าที่เคยส่งยอดคาร์บอนเครดิตไปเมื่อปลายปีที่แล้ว (205 แปลง) ทางบริษัทไม่รับพิจารณาซื้อทุกแปลงทุก ราย
"จึงเป็นเหตุให้ทราบว่าพี่น้องเกษตรกรทั้ง 205 แปลงที่รอคอยเงินค่าคาร์บอนเครดิตตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ไม่ได้รับเงินอย่างแน่นอน เกษตรกรจึงรวมตัวกันมาแจ้งความดําเนินคดีกับ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทฯ สถานีตํารวจภูธรสิงหนคร อ.สิงหนคร จ.สงขลา ตามที่ปรากฏเป็นข่าวดังกล่าว "เกษตรกรระบุ
ด้านนางสาวโกสุมา ไชยแก้ว ตัวแทนเกษตรกรผู้เสียหาย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการที่บริษัทฯ ไม่ยอมจ่ายเงินให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ
"หลังจากกลุ่มเกษตรกรได้ทำสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิต ก็ได้ไปดำเนินตัดแต่งต้นไม้ที่จะซื้อขายให้มีขนาดตามที่กำหนดไว้ ซึ่งในการตัดแต่งต้นไม้ ทางเกษตรกร มีค่าใช้จ่ายในการตัดแต่งต้นไม้ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องได้รับเงินจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ก็มีการขอเลื่อนวันจ่ายเงินมาเรื่อย ๆ ทำให้มีปัญหา"
นางสาวโกสุมา กล่าวอีกว่า ส่วนเหตุผลในการเลื่อนการจ่ายเงินที่แจ้งกับเกษตรกร คือ เงินที่ได้รับจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นเงินยูโร จึงยังไม่สามารถจ่ายเงินให้เกษตรกรได้ จนกระทั่งครบ 1 ปี ก็ยังคงไม่จ่ายเงินตามสัญญา อีกทั้งกลุ่มเกษตรกรทราบข้อมูลจากเกษตรกลุ่มอื่นว่า จะมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต กลุ่มอื่น แต่จะไม่จะรับซื้อคาร์บอนเครดิต จากกลุ่มเกษตรสทิงพระ(กลุ่มเกษตรกรผู้เสียหาย) ทางกลุ่มเกษตรกรจึงไปดำเนินการแจ้งความไว้เห็นหลักฐาน
นางสาวโกสุมา ยังแจ้งนัดหมายให้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ติดต่อกลับมาใหม่อีกครั้ง โดยจะมีการเตรียมข้อมูลแบบละเอียดไว้ให้
สาม. บริษัทรับซื้อคาร์บอนเครดิต มีทุน 5 ล้าน อยู่ย่านห้วยขวาง กทม.
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเอกชน ที่ถูกระบุว่า ทำสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับเกษตรกร นั้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า จดทะเบียนจัดตั้ง ปี 2558 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท อยู่ย่านห้วยขวาง กทม. แจ้งประกอบธุรกิจการปลูกไม้ยืนต้นอื่นๆที่ให้น้ำมันซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น
ส่วนข้อมูลเชิงลึกว่าบริษัทเอกชนแห่งนี้ เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการฯ นี้ ได้อย่างไร มีความเกี่ยวข้องกับนักการเมืองใหญ่ระดับประเทศจริงหรือไม่? และทำไมถึงไม่ยอมจ่ายเงินให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ
สำนักข่าวอิศรา จะติดตามตรวจสอบมานำเสนอต่อไป
อย่างไรก็ดี คดีนี้ ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ ยังไม่ได้มีการสรุปสำนวนว่ามีการกระทำความผิดแต่อย่างไร บริษัทเอกชนแห่งนี้และผู้เกี่ยวข้องยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่