'สาโรจน์ พึงรำพรรณ' คาด ม.ค. 2568 คดีอดีต 44 สส.ก้าวไกลลงชื่อแก้ไขม.112 สรุปสำนวนเสร็จ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2567 ที่ฮอลล์ 7 อาคารศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
นายสาโรจน์ กล่าวว่า ปัญหาทุจริตที่พบมากในประเทศไทย คือ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ที่เริ่มตั้งแต่ขั้นการประกวดราคาและการจัดสรรงบประมาณ ไม่ได้มีการทุจริตหรือเรียกรับเงินหน้างานมากนัก ซึ่งเป็นการทุจริตที่สำคัญของภาครัฐในปัจจุบัน ป.ป.ช.พยายามป้องปราบและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งมีผลดีในการรักษางบประมาณของแผ่นดิน อีกทั้งเมื่อมีการป้องกันการทุจริตอย่างจริงจังแล้วก็จะทำให้ค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ถ้ามีการหยุดยั้งการทุจริตได้ ภาพลักษณ์และค่า CPI ของประเทศก็จะดีขึ้น ส่วนค่า CPI การรับรู้การคอร์รัปชัน ที่คงที่มาตลอดก็เป็นเรื่องของการรับรู้ แต่ทางป.ป.ช.ก็นำผลคะแนนมาวิเคราะห์ก็จะเห็นว่าเรื่องของสินบน ผลประโยชน์ทับซ้อนลดลงจึงต้องมาให้ความสนใจในเรื่องนี้ในด้านของการป้องปราบและเฝ้าระวัง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้ากรณีอดีต 44 สส.พรรคก้าวไกลลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
นายสาโรจน์ กล่าวว่า เรื่องสอบจริยธรรม 44 สส. ตอนนี้ได้มีการตั้งกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว 2 ราย มีการไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐานใกล้จะเสร็จสิ้น คาดว่าเดือน ม.ค. 2568 พนักงานไต่สวนจะสรุปสำนวนมาให้คณะกรรมการป.ป.ช มาพิจารณาได้ ซึ่งมี 2 แนวทาง 1.ถ้ามีมูลก็เสนอให้แจ้งข้อกล่าวหา 2.ไม่มีมูลก็เสนอให้ข่อกล่าวหาตกไป
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าคดีอดีต 44 สส.พรรคก้าวไกล จะพิจารณาชี้มูลรายบุคคลหรือรายกลุ่ม
นายสาโรจน์ ตอบว่า ในเรื่องการฝ่าฝืนจริยธรรมต้องดูพฤติกรรมเป็นรายบุคคลว่าแต่ละคนมีพฤติกรรมอย่างไร ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทั้ง 44 คน เพราะการไต่สวนของป.ป.ช.ไต่สวนในเรื่องการแก้ไขกฎหมาย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าคดีการตรวจสอบกรมราชทัณฑ์ มีการเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ
นายสาโรจน์ ตอบว่า เป็นอย่างที่นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการ ป.ป.ช.ให้ข้อมูล คือ อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ ซึ่งกระบวนการป.ป.ช.มี 2 ส่วน คือ การตรวจสอบและไต่สวน ตอนนี้อยู่ในขั้นการตรวจสอบซึ่งเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.จะรับผิดชอบตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบเสร็จก็จะส่งมาที่คณะกรรมการกลั่นกรอง ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ป.ป.ช.ได้เรียกข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดพยานหลักฐานในสำนวนได้