กระทรวงยุติธรรม-กรมราชทัณฑ์ แถลงพักโทษกรณีพิเศษ อภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ ‘เสี่ยเปี๋ยง’ ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย-ใกล้เสียชีวิต ที่ปรึกษารมว.ยุติธรรม ลั่น ไม่มีใครแทรกแซงได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 6 ธันวาคม 2567 ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลราชทัณฑ์ อาทิ พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกราชทัณฑ์ นายสมบูรณ์ ศิลา ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรม นายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แถลงข่าวกรณีการพักโทษนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
@ ลั่น ไมีใครแทรกแซงได้
นายสมบูรณ์กล่าวว่า การบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์หลังศาลพิพากษาแล้ว กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ ไม่มีสิทธิ์ใช้ดุลพินิจ หรือ กำหนดแนวปฏิบัติ นอกเหนือจากกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบที่กฎหมายกำหนดไว้ การพักการลงโทษ กำหนดไว้ชัดเจน โดยย่อ มีสองกรณี คือ การพักโทษกรณีปกติ คือ การรับโทษมาแล้ว 2 ใน 3 และกรณีพิเศษ คือ การรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 ทั้งนี้ จากสถิติที่ผ่านมาทุกปีจะมีการเสนอให้ยกเลิกการพักโทษตลอดเวลา เฉลี่ยปีละ 4.4 % เนื่องจากผิดเงื่อนไขการพักโทษ
นายสมบูรณ์กล่าวว่า กรณีของการพักโทษของนายบุญทรง คือ เป็นนักโทษชั้นกลางถึงชั้นเยี่ยมและได้รับโทษจำคุกแล้ว 2 ใน 3 กรณีของนายอภิชาติ ได้รับการพักโทษกรณีพิเศษ เนื่องจากเข้าเงื่อนไขพักโทษ หนึ่ง อายุ 70 ปี หรือ สอง เจ็บป่วยจากโครร้ายแรง โรคไต จนต้องเปลี่ยนไต เปลี่ยนไตหนักกว่าฟอกไต ซึ่งกรณีของนายอภิชาติเป็นกรณีแรก คนอื่นแค่ฟอกไต แต่เมื่อรับโทษแล้ว 1ใน3 ก็จะได้รับการพิจารณาการพักโทษเช่นเดียวกัน
“กระบวนการพิจารณาในคณะอนุกรรมการแต่ละชุดเป็นอิสระ เป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีใครแทรกแซงได้ ทำตามหลักกฎหมาย ตามระเบียบ ตามกฎกระทรวง ไม่มีลักลั่น การพักโทษไม่ได้ทำกันแบบเงียบ ๆ ที่ไม่แถลงเพราะเป็นวิธีปฏิบัติปกติของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว”นายสมบูรณ์กล่าว
พ.ต.ท.เชนกล่าวว่า ปัจจุบันมีนักโทษในเรือนจำประมาณ 3 แสนคน 1 ปีมีคนเข้าออก ปีที่ผ่านมา เข้า 2 แสนคน ออก 2 แสนคน จึงต้องมีการบริหารการลงโทษ ซึ่งในการบริหารการลงโทษ คือ การพักโทษ จำนวนการพักโทษ ในปี 2566 กรณีปกติ 15,552 คน กรณีพิเศษ 1,776 คน ในปี 2567 ณ วันที่ 5 ม.ค.67 กรณีพักโทษปกติ 6,792 คน แบบพิเศษ 1,320 คน
“กรณีของเสี่ยเปี๋ยง เป็นการพักโทษแบบกรณีพิเศษ คือ จำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 และมีอาการป่วยใกล้จะเสียชีวิต หรือ อาการหนัก โดยเสนอขึ้นมาจากเรือนจำ โดยคณะกรรมการเรือนจำ 8 คน (8 อรหันต์) และเข้าคณะอนุกรรมการของกรมราชทัณฑ์ 19 คน อาทิ ตำรวจ อัยการ แพทย์ ศาล คุมประพฤติ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน”พ.ต.ท.เชนกล่าว
@ โรคร้ายแรง 7 โรค-ไตวายระยะสุดท้าย
นายสมบูรณ์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรมกล่าวว่า กรณีของนายอภิชาติเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นผู้ป่วยกลุ่ม 608 มีโรคร้ายแรง 7 โรค ความเห็นของแพทย์ ระบุว่า ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป็นโรคที่มีโอกาสติดเชื้อ เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ทั้งนี้ นายอภิชาติได้รับการปล่อยตัวที่โรงพยาบาลรามาฯ
“โรคที่เสี่ยเปี๋ยงป่วย คือ หนึ่ง โรคไตวายระยะสุดท้าย มีการล้างไตทางหน้าท้อง มีโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจชนิดรุนแรง โรคโฮโมนไทรอยด์ต่ำ โรคต่อมลูกหมากโต”ผู้บัญชาการเรือนจำคลองเปรมกล่าว
นายสมบูรณ์ ผู้บัญชาการเรือนจำคลองเปรมกล่าวว่า นอกจากนี้นายอภิชาติได้รับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 เป็นนักโทษชั้นกลางขึ้นไป เจ็บป่วยร้ายแรงมีโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สอง ไม่มีโทษกักขัง หรือ โทษอื่นใดในคดีอื่น และมีผู้อุปการะเป็นหลักแหล่ง ที่ประชุมคณะกรรมการเรือนจำจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ 8 ต่อ 0 ให้เสนอกรณีของนายอภิชาติพิจารณาระดับกรมต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการเรือนจำ 8 คน ประกอบด้วย ผู้บัญชาการเรือนจำคลองเปรม เป็นประธาน ผู้อำนวยการส่วนควบคุมฯ ผู้อำนวยการส่วนทัณฑปฏิบัติ หัวหน้าฝ่ายทัณฑปฏิบัติ และกรรมการภายนอก 4 คน คือ ผู้แทนจากกรมตำรวจ ผู้แทนจากกรมคุมประพฤติ ผู้แทนจากปกครอง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)
ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรมกล่าวว่า กรณีของนายอภิชาติ มี 4 คดี ทุกคดีนับระยะเวลาที่ถูกลงโทษต่อกัน พ้นโทษหมดแล้ว 3 คดี เหลือเพียง 1 คดี คือ คดีบ้านเอื้ออาทร ส่วนนายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับการพักโทษกรณีปกติ จำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ได้รับการพักโทษในการประชุมครั้งที่ 8 เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ปล่อยตัวต้นเดือนกันยายน 2567 ได้รับโทษ 8 ปี จำคุกมาแล้ว 6 ปี 12 เดือนเศษ อย่างไรก็คามนักโทษคดีจำนำข้าว ยังมีผู้ต้องหาเหลืออีก 2 รายอยู่ในเรือนจำคลองเปรม เป็นอดีตข้าราชการ ยังไม่เข้าเกณฑ์การได้รับการพักโทษ
นายแพทย์วัฒน์ชัยกล่าวว่า กรณีของนายอภิชาต ประวัติมีโรคประจำตัว อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม ในช่วงที่อยู่ในเรือนจำได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และในช่วงปี 2565 หลังจากมีการตรวจร่างกายโดยแพทย์พบว่า เริ่มมีความผิดปกติ ตัวบวม ปัสสาวะออกน้อย ค่าการทำงานของไตผิดปกติ และไม่ทุเลาลง ทรุดลง จึงส่งตัวไปโรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อรักษากับแพทย์เฉพาะทางโรคไต แพทย์ลงความเห็นว่า เป็นภาวะไตเสื่อมภาวะสุดท้าย ต้องฟอกไตหน้าท้อง พบการติดเชื้อเป็นระยะ ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาฯอย่างต่อเนื่อง และมีการฟอกไตที่โรงพยาบาลภายในทัณฑสถานเรือนจำคลองเปรมทุกวัน และช่วงปี 2566 ปลูกถ่ายไต การพิจารณาให้ผู้ต้องขังรายใดได้รับการพักโทษกรณีพิเศษ กรณีเจ็บป่วยร้ายแรง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ซึ่งจำเป็นต้องฟอกไต
@ ยืนยัน ทักษิณ ติดคุก-โรงพยาบาลตำรวจคือเรือนจำ
นายสมบูรณ์กล่าวว่า กรณีนายบุญทรง ถูกตัดสินจำคุก 48 ปี ได้รับพระราชทานอภัยโทษ 4 ครั้ง เหลือระยะเวลาต้องจำคุก 10 ปี 8 เดือน แต่จำคุกมาแล้ว 7 ปี 3 เดือน 10 วัน จึงเข้าเกณฑ์รับการพักโทษกรณีปกติ เนื่องจากรับโทษมาแล้วครบ 2 ใน 3
นายสมบูรณ์กล่าวว่า กรณีนายอภิชาติ เนื่องจากเจ็บป่วยจึงเข้าเกณฑ์ในการพักโทษ ไม่มีเกณฑ์ว่าต้องจำคุกกี่ปี หรือ อายุเท่าไหร่ คำนึงถึงสุขภาพว่าเป็นโรคระยะสุดท้าย ไม่จำเป็นต้องจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 ทั้งนี้ นายอภิชาติได้รับพระราชทานอภัยโทษ 5 ครั้ง ปัจจุบันเหลือระเวลาต้องรับโทษ 21 ปี 21 เดือนเศษ
นายสมบูรณ์กล่าวว่า กรณีของนายอภิชาติเริ่มต้นจากแพทย์กรมราชทัณฑ์ที่ลงความเห็นว่า ราชทัณฑ์เอาไม่ไหวแล้ว ต้องส่งไปโรงพยาบาลแม่ข่าย คือ โรงพยาบาลรามา ฯ เมื่อมีการรักษาเป็นระยะ สุดท้ายต้องเปลี่ยนไต แต่ไม่ได้เปลี่ยนไตที่โรงพยาบาลรามาฯ ไปเปลี่ยนไตที่โรงพยาบาลพระราม 9 เพราะจำเป็น ซึ่งเป็นความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลรามาฯ เพราะต้องไปเข้าคิวขอไตจากสภากาชาดไทย และกลับมารักษาที่โรงพยาบาลรามาตามเดิม
“ผมยืนยันว่า การปฏิบัติกรณีเสี่ยเปี๋ยง มีความชัดเจน ว่าเข้าข่ายโรคร้ายแรง 1 ใน 7 โรค โรคไตต้องได้รับการพักโทษทั้งหมด ถ้าจำคุกเข้าหลักเกณฑ์ 1ใน3 แล้ว”นายสมบูรณ์กล่าว
นายสมบูรณ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องโรงพยาบาลตำรวจ เจ็บป่วยหรือไม่ต้องฟังความเห็นจากแพทย์ อยากจะพูด อยากจะตอบคำถาม แต่วันนี้กระบวนกาของนายทักษิณ ชินวัตร อยู่ในกระบวนการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวบรวมพยานหลักฐาน มีการขอเอกสารจากกรมราชทัณฑ์ จึงไม่ก้าวล่วง เพราะป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระที่ให้คุณให้โทษจะเป็นคนชี้
“ผมยืนยันได้ว่า ท่านทักษิณติดคุกครับ การไปอยู่โรงพยาบาลก็คือคุกครับ ที่บอกว่าไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว ไม่จริงฮะ”นายสมบูรณ์กล่าว
@ ปัด ระเบียบฯใหม่ เอื้อ ยิ่งลักษณ์
นางกนกวรรณ จิ้วเชื้อพันธ์ รองโฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึง ที่มาที่ไปของประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง คุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้ามในสถานที่คุมขัง ที่อยู่ในระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมายระหว่างวันที่ 2 - 17 ธ.ค.2567 ว่า กรมราชทัณฑ์ได้ประกาศใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2566 ซึ่งในปี 67 คณะอนุกรรมการต้องมีการจัดทำหลักเกณฑ์ประกอบประกาศดังกล่าวตามข้อ 8 ขณะนี้อยู่ระหว่างประกาศรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางการกฎหมายดังกล่าว หลังจากนั้นจะนำมาปรับปรุงแก้ไขคณะอนุกรรมการและส่งให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ลงนามประกาศดังกล่าวต่อไป ซึ่งไม่ใช่สิทธิ์ หรือประโยชน์ของผู้ต้องขัง แต่เป็นการบริหารสถานที่คุมขังเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ต้องขังกว่า 3 แสนคน
นางกนกวรรณกล่าวว่า หลังจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ลงนามแล้ว จะมีการประชุมคณะกรรมการชั้นกรมราชทัณฑ์ หรือ 8 อรหันต์ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง หลังจากนั้นจะมีการประชุมเพื่อทำความเข้าใจกับผู้บัญชาการเรือนจำทั่วประเทศต่อระเบียบใหม่ จึงจะเริ่มดำเนินการได้
นายสมบูรณ์กล่าวว่า ไม่ได้รอใคร รอความครบถ้วนของประกาศ หลักเกณฑ์ยังไม่ออก จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (น้องสาวนายทักษิณ นักโทษจำคุก 5 ปี คดีจำนำข้าว ซึ่งขณะนี้หลบหนีอยู่ต่างประเทศ) จะเข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ประกาศฉบับใหม่หรือไม่
“ระเบียบนี้ไม่ใช่ใช้กับคนใดคนหนึ่ง แต่รอความครบถ้วน เป็นเรื่องที่สังคมสนใจ อาจจะทำให้เกิดความคลางแคลงใจได้ว่า เราทำเพื่ออะไร แต่เรายืนยันว่า เราไม่ได้ทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง เราทำเพราะเข้าเงื่อนไขและครบถ้วนของกระบวนการต่าง ๆ ตามกฎหมายเท่านั้น”นายสมบูรณ์กล่าว
นายสมบูรณ์กล่าวว่า ยืนยันว่า ไม่ได้มีระเบียบ ไม่ได้มีประกาศ เพื่อคนใดคนหนึ่ง ทำเพื่อบริหารสถานที่คุมขังให้ดีขึ้น
อ่านประกอบ : ชอบด้วย กม.! ราชทัณฑ์ แจงพักโทษ 'เสี่ยเปี๋ยง' ป่วยร้ายแรง-อายุเกิน70-ติดคุก 1 ใน 3