‘นายกฯ’ สั่งถอยขึ้น ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ เป็น 15 แล้ว หลังหารือร่วมกับ ‘รมว.คลัง-คณะที่ปรึกษาฯ’ ด้าน ‘ภูมิธรรม’ ปัดรัฐบาล ‘ถังแตก’ จนต้องขึ้นภาษี ขณะที่ ‘ทีดีอาร์ไอ’ เตือนรัฐบาลอย่าลืมเก็บภาษีบน ‘ฐานทรัพย์สิน’ ชี้หากจะขึ้นภาษี VAT ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ในช่วงบ่าย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านสื่อออนไลน์ทั้ง X และเฟซบุ๊ก ว่า วันนี้ (6 ธ.ค.) ได้หารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง รวมถึงคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี และมีข้อสรุปว่า จะไม่มีการปรับเพิ่มภาษีมูลค่า (VAT) เป็น 15% โดยขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ
สำหรับข้อความที่น.ส.แพทองธารโพสต์มีเนื้อหาว่า “จากข้อกังวลใจของพี่น้องประชาชน ต่อเรื่อง VAT15% วันนี้ ดิฉันได้พูดคุยหารือในประเด็นดังกล่าว กับท่านรองนายกรัฐมนตรีพิชัย ร่วมกับคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อความชัดเจน ดิฉันขอสรุป เพื่อชี้แจงต่อพี่น้องประชาชน ดังนี้ค่ะ
1.ไม่มีการปรับ VAT เป็น 15%
2.กระทรวงการคลัง กำลังศึกษาการปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งต้องมองทั้งระบบให้ครบทุกมิติและเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
3.การปรับโครงสร้างภาษีของประเทศอื่นๆ ใช้เวลาศึกษาและปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป บางประเทศใช้เวลาปรับเปลี่ยนกว่า 10 ปี
4.นโยบายหลักของรัฐบาล คือการลดรายจ่ายของประชาชน ลดรายจ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐ ควบคู่ไปกับการหาโอกาสจากการสร้างรายได้ใหม่ให้ประชาชน ทั้งหมดนี้ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชนคนไทยค่ะ
ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจค่ะว่า การทำงานของรัฐบาล เราดำเนินการด้วยความรัดกุม รับฟังทุกภาคส่วน และยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยของเราทุกคนค่ะ”
ขณะที่เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันเดียวกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อกรณีกระทรวงคลังมีแนวคิดขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 15% ว่า รัฐบาลพยายามดูอยู่ และ นายกฯก็มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้ แต่คิดว่ารอให้สรุปชัดเจนก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย
เมื่อถามว่า ที่ต้องขึ้น VAT เพราะรัฐบาลถังแตกจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับถังแตกหรือไม่ แต่ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการที่ควร เพื่อให้การจัดการภาษีเกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย นับเป็นหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับทุกส่วน ซึ่งกระทรวงการคลังต้องไปดู แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน และคงต้องไปถาม รมว.คลังว่าอะไรที่เป็นปัจจัยที่ทำให้ต้องขึ้นภาษีในครั้งนี้
“ท่าน (รมว.คลัง) มีข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้ ครม. ยังไม่ทราบรายละเอียด เพราะยังไม่ได้นำเข้าที่ประชุม แต่เชื่อว่าเมื่อนายพิชัยพร้อมและตัดสินใจได้ คงมีการชี้แจงที่ชัดเจน ขอยืนยันว่ารัฐบาลและนายกฯ คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ถ้าไม่ได้เป็นปัญหาใดๆ ก็จะทำให้มีความเดือดร้อนน้อยที่สุด” นายภูมิธรรม กล่าว
ด้านนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้มีข้อเสนอแนะไปถึงรัฐบาลเกี่ยวกับมาตรการด้านภาษี โดยเสนอให้รัฐบาลปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แบบค่อยเป็นค่อยไป และทำตามสัญญาว่าจะนำเงินภาษี VAT ที่ได้เพิ่มขึ้นไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ต่อคนจน ขณะที่การปรับเพิ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ไม่ควรทำเป็น flat rate อย่างที่เสนอ เพราะไม่ช่วยในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ
“ข้อเสนอปรับรายละเอียดมาตรการภาษี
1. ภาษี VAT ควรขึ้น แต่ค่อยเป็นค่อยไป เช่นขึ้น 1% ก่อนแล้วหาจังหวะในอนาคตขึ้นทีละ 1% แต่ไม่ประกาศล่วงหน้า เพราะอาจทำให้เกิดการคาดการณ์เงินเฟ้อ (inflation expectation) ได้ แล้วไปจบที่ 10% ภายใน 5 ปี
1.1 รัฐบาลสัญญาและทำตามสัญญาว่าจะเอาเงินภาษี VAT ที่เพิ่มขึ้นได้มาใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ต่อคนจน ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบางเป็นส่วนใหญ่หรือทั้งหมดเลย แต่ไม่ใช่ประชานิยมระยะสั้น
2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ควรเป็น flat rate อย่างที่เสนอ แม้จะมีข้อดีบางข้อ เช่นคำนวณง่าย ทำให้คนอยากทำงานมีรายได้สูง ๆ โดยไม่ต้องกลัวอัตราภาษีสูงตามไปด้วย แต่ข้อเสียมากกว่าคือไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
2.1 ควรพิจารณาปรับลดพวกค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ให้ประโยชน์กับคนรายได้สูง
2.2 ถ้าจะใช้ flat rate ควรใช้กับเงินได้จากดอกเบี้ยและปันผลที่ปัจจุบันแยกคำนวณมากกว่า
3. ภาษีเงินนิติบุคคล ถ้าจะลดเหลือ 15% ก็ควรยกเลิกสิทธิประโยชน์ BOI ไปด้วย จะได้แฟร์และดึงดูดการลงทุนอย่างทั่วถึงแทนที่จะเป็นบางอุตสาหกรรมที่ก็ไม่รู้ว่าให้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยเท่าไรกันแน่ ใช้มาตรการอื่นดึงดูดแทนดีกว่า เช่นพัฒนาทักษะแรงงานไทย ปรับเลิกกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น ป้องกันการเรียกใต้โต๊ะของ ขรก. สารพัดสี
4.สำคัญ คือ อย่าลืมเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สิน เช่น capital gain, windfall tax ด้วยนะจ๊ะ (กินยาไรไปถึงลืมได้อ่ะ)” นายสมชัย โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว Somchai Jitsuchon เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2567
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวภายในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business โดยระบุตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันประเทศไทยเก็บภาษีบริโภคต่ำเกินไป ดังนั้น หากไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้สูงขึ้นในอัตราที่เหมาะสม ก็จะเป็นการช่วยคนรายได้ต่ำมากขึ้น รวมทั้งช่วยลดช่องว่างระหว่างรายได้คนจนและคนรวยให้แคบลง
ทั้งนี้ นอกจากเก็บภาษี VAT เพิ่มเพิ่มรายได้แล้ว ยังต้องลดภาษีนิติบุคคลจาก 20% ให้เหลือ 15% เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและแข่งขันกับชาวโลกได้
ต่อมาวันที่ 4 ธ.ค.2567 นายพิชัย ให้สัมภาษณ์สื่อว่า แนวคิดการปรับขึ้นภาษี VAT จาก 7% เป็น 15% เป็นเพียงแนวความคิด โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา
รายงานข่าวแจ้งว่า การจัดเก็บภาษี VAT ในประเทศไทย มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2535 โดยกำหนดอัตราจัดเก็บภาษี VAT ไว้ที่ 10% ต่อมาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 รัฐบาลในขณะนี้จึงออก พ.ร.ฎ.เพื่อลดภาษี VAT จาก 10% ลงเหลือ 7% แต่หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจจบลงแล้ว รัฐบาลทุกรัฐบาลยังคงออก พ.ร.ฎ.เพื่อลดภาษี VAT จาก 10% เหลือ 7% มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน