ป.ป.ช.ตรังมอบหลักฐานให้ ตร.ภูธรจังหวัด หลังรับเบาะแส รร.เอกชนหักเงินเดือนครูได้รับจาก สช.เผยพฤติการณ์หักหัวคิวเงินเดือน 3 ประเภท พบมีทั้งกรณีให้เงินเดือนแค่หมื่นเดียวจากเงินเต็ม 1.5 หมื่น โอนเต็มแต่ขอครูโอนคืนทีหลัง เผยมีบาง รร.ไหวตัวพอรู้ ป.ป.ช.ไปตรวจสอบ ให้ครูทำสัญญาจ่ายค่าส่วนกลางทุกเดือนถึง 7 พันบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าวันที่ 3 ธ.ค. นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดตรัง นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.ภัทรวิชญ์ คีตโมทนียกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรังเพื่อมอบเบาะแสะหลักฐานและหารือคดี แนวทางตามข้อกฎหมายเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ตรัง ได้รับเบาะแสและพยานหลักฐานว่ามีโรงเรียนเอกชนที่สอนสายสามัญควบคู่กับสอนศาสนาแห่งหนึ่ง รวมทั้งโรงเรียนเอกชนอื่นๆ มีการหักเงินเดือนครู ซึ่งเป็นเงินเดือนที่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. อุดหนุนเป็นเงินเดือนมาให้กับครูที่ได้รับการบรรจุ โดยผ่านทางศึกษาธิการจังหวัดและโรงเรียน แต่ปรากฏว่าทางโรงเรียนกลับจ่ายให้ครูไม่เต็มจำนวน โดยที่ทางโรงเรียนหักเอาไว้เป็นของโรงเรียนหรือส่วนตัว ซึ่งเข้าข่ายผิดระเบียบและกฎหมาย
โดยหลักฐานที่ ป.ป.ช.ตรังได้มอบให้กับ ผบก.ภ.จว.ตรัง ประกอบไปด้วยสลิปเงินเดือน รายการเดินบัญชีเงินเดือนครู และอื่นๆเป็นต้น
นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากการที่ ป.ป.ช.ตรัง ลงพื้นที่และตรวจสอบเชิงลึกกับทางโรงเรียนเอกชนที่สอนสายสามัญควบคู่ศาสนา และโรงเรียนเอกชนอื่นๆ พบว่าประเด็นสำคัญหลักๆคือ การเบิกจ่ายเงินเดือนครูไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ครูไม่ได้รับเงินเดือนเต็มตามจำนวนที่รัฐอุดหนุนมาให้ โดยทาง ป.ป.ช.ก็ได้รวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้นไว้แล้ว และส่วนหนึ่งได้ขอมาจากศึกษาธิการจังหวัด และทางศึกษาธิการจังหวัดก็ได้ส่งหนังสือตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นมาให้กับทาง ป.ป.ช.ส่วนหนึ่งแล้ว
และยังมีในส่วนประเด็นอื่นๆ คือเรื่องอาหารกลางวันดำเนินการไม่ถูกต้องตามระเบียบ รวมทั้งจำนวนนักเรียน ไม่มีตัวตนหรือไม่มีตามรายชื่อที่โรงเรียนระบุเอาไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้ขณะนี้มีข้อมูลอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว และขณะนี้ทาง ป.ป.ช.ตรัง ได้ประสานไปกับ พล.ต.ต.ภัทรวิชญ์ คีตโมทนียกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง ในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อจะได้ดำเนินการไป ส่วนทาง ป.ป.ช.ตรัง ก็จะดำเนินการในส่วนหากมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดร่วมก็จะดำเนินการในส่วนนี้ไป
ขณะที่ นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง กล่าวว่า รูปแบบหรือพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับเงินของรัฐที่อุดหนุนให้กับโรงเรียนเอกชน ทั้งโรงเรียนที่สอนสายสามัญควบคู่กับศาสนาและโรงเรียนเอกชนทั่วไป เบื้องต้นจากการที่ ป.ป.ช.ได้รับข้อมูลและเบาะแสมาจากประชาชนและเครือข่ายต่างๆ พบพฤติการณ์อยู่ 3 ประเภท
โดยประเภทที่ 1 คือครูโรงเรียนเอกชนที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเพื่อรับเงินเดือนอุดหนุนจากรัฐ ยกตัวอย่างครูบางรายรัฐอุดหนุนเงินเดือนมาให้จำนวน 15,000 บาท ซึ่งครูจะต้องรับเต็มจำนวนในส่วนนี้ แต่ปรากฏว่าโรงเรียนกลับโอนเงินไม่เต็มจำนวนไปให้กับครู เช่นโอนให้เพียงแค่ครึ่งเดียว หรือ 1 หมื่นบาท ส่วนที่โรงเรียนโรงเรียนกลับหักหัวคิวยึดเอาไว้เป็นของโรงเรียนเอง แต่ในสัญญาจ้างกลับเขียนเงินเดือนที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐไว้เต็มจำนวน
ประเภทที่ 2 คือโรงเรียนทราบว่าการหักเงินเดือนครูที่รัฐอุดหนุนมาให้ผิดระเบียบและกฎหมาย ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ก็เลยใช้รูปแบบโอนเงินเดือนให้ครูไปเต็มจำนวนไปก่อน หลังจากนั้นก็จะให้ครูโอนคืนให้กับทางโรงเรียนหรือกดเป็นเงินสดออกมาคืน ซึ่งในส่วนนี้ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อเท็จจริงว่าพฤติการณ์ดังกล่าวมีการข่มขู่ว่าหากครูไม่โอนหรือให้เงินคืนจะไม่ต่อสัญญาให้ ไม่จ้างต่อ ฯลฯ จะเข้าข่ายผิดกฎหมายเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร
ประเภทที่ 3 คือ หลังจากที่ ป.ป.ช.ได้เชิญผู้บริหารสถานศึกษาเอกชน และศึกษาธิการจังหวัด ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวอาจจะสุ่มเสี่ยงว่าผิดกฏหมาย ก็มีบางโรงเรียนที่สร้างเงื่อนไขมาว่าให้ครูทำสัญญากับทางโรงเรียนว่าในแต่ละเดือนครูจะต้องมีการจ่ายค่าเช่าสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าดูแลทำความสะอาดค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เป็นเงินจำนวน 7,000 กว่าบาท เพื่อจะสร้างเงื่อนไข สร้างหลักฐานขึ้นมาว่าหลังจากโอนเงินเดือนให้เต็มจำนวนไปแล้ว ก็จะต้องชำระในส่วนนี้ให้กับโรงเรียนเอกชน
โดยในส่วนนี้เป็น 3 พฤติการณ์ที่ทาง ป.ป.ช.ตรัง พบเห็น รวมไปถึงทั้งเงินอุดหนุนทั้ง นมโรงเรียน อาหารกลางวัน เงินอุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งมีตัวเลขจากรัฐลงมายังจังหวัดแต่ละเทรมเป็นเงินจำนวน 10 กว่าล้านบาท เบื้องต้นก็ยังไม่มีระเบียบหรือเงื่อนไข หลักฐานที่ชัดเจนในการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆในส่วนนี้ รวมไปถึงการตรวจสอบของศึกษาธิการจังหวัดตรังที่มีข้อจำกัด ทั้งบุคลากรที่มีจำนวนน้อย ไม่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเครื่องไม้เครื่องมือในการตรวจสอบว่าโรงเรียนเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐไปแล้ว มีการเบิกจ่ายถูกต้องเป็นไปตามระเบียบหรือไม่อย่างไร
สำหรับหน้าที่ในส่วนนี้จะเป็นของศึกษาธิการจังหวัดตรัง จะต้องตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของโรงเรียนเอกชน ให้เป็นไปตามระเบียบ หากพบว่ามีการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง ก็จะต้องเรียกเงินคืน และหากพบว่ามีการทุจริตก็จะต้องดำเนินการในคดีอาญาตามกฏหมายต่อไป เพราะตามระเบียบ ทางปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ทางศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการทางกฏหมายอาญา ซึ่งตามระเบียบในส่วนของเงินเดือนครูนั้น กำหนดไว้ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้โอนเข้ามาให้กับทางศึกษาธิการจังหวัด และทางศึกษาธิการจังหวัดจะโอนไปให้กับทางโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนจะโอนไปให้กับครูโดยโอนผ่านระบบธนาคารตามจำนวนเต็ม ส่วนใหญ่ที่ทาง ป.ป.ช.ตรัง ตรวจสอบพบข้อมูลทางโรงเรียนจะหักเงินเดือนครูแต่ละรายอยู่ที่ประมาณ 5,000 – 7,000 บาทต่อเดือน ซึ่งขณะนี้ที่ทาง ป.ป.ช.ตรัง มีข้อมูลอยู่พบพบว่าพฤติการณ์เช่นนี้อยู่หลายโรงเรียน และจะรายงานกรณีเหล่านี้ให้ทราบในอนาคตต่อไป