‘สปน.’ เปิดรับฟังความคิดเห็นประเมินผลสัมฤทธิ์ ‘พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ’ ระบุ 4 อุปสรรคการบังคับใช้กฎหมาย พบ ‘หน่วยงานรัฐ’ มักใช้ ‘ดุลพินิจ’ ปฏิเสธเปิดเผยข้อมูลไว้ก่อน ขณะที่ 'ผู้ร้องเรียน' ใช้สิทธิขอข้อมูลในลักษณะ ‘สร้างภาระ’ แก่หน่วยงานของรัฐ-ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ขณะนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เพื่อนำไปพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสากล และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสอย่างกว้างขวางในการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆของรัฐ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้ถูกต้องกับความจริง
อย่างไรก็ดี ในการรับฟังความคิดเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ดังกล่าว สปน. ได้สรุปปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ไว้ทั้งสิ้น 4 ประเด็น ได้แก่
1.ปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนและการอุทธรณ์ เนื่องจากปัจจุบันมีประชาชนใช้สิทธิร้องเรียนและการอุทธรณ์เป็นจำนวนมาก และอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ไม่สอดคล้องกับปริมาณเรื่องร้องเรียนและการอุทธรณ์
2.หน่วยงานของรัฐมักจะใช้ดุลพินิจในการปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการไว้ก่อน และให้ผู้ร้องหรือประชาชนไปใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาวสารต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) เพื่อให้เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
3.ปัจจุบันมีผู้ร้องเรียนอาศัยสิทธิตามกฎหมายในการขอข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่เป็นการสร้างภาระแก่หน่วยงานของรัฐ และไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
4.เนื่องจาก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ใช้บังคับมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว และยังไม่เคยมีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งอาจจะทำให้บทบัญญัติของกฎหมายบางประการ ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการดำเนินการเรื่องร้องเรียนและการอุทธรณ์
ทั้งนี้ สปน. ยังสรุปสถิติจำนวนเรื่องอุทธรณ์และร้องเรียน ระหว่างปี 2549-2567 จากระบบอุทธรณ์และวินิจฉัย ข้อมูล ณ วันที่ 30 ต.ค.2567 พบว่า มีจำนวนเรื่องอุทธรณ์ทั้งสิ้น 6,606 เรื่อง และจำนวนเรื่องอุทธรณ์ 8,978 เรื่อง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถิติประเภทเรื่องร้องเรียน เฉพาะปี 2565-2567 พบว่า ประเภทเรื่องร้องเรียนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.การตรวจสอบการใช้อำนาจการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงาน 2.การจัดซื้อจัดจ้าง และ3.การดำเนินการทางวินัย
ขณะเดียวกัน มีจำนวนคดีปกครองที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) ถูกฟ้องดำเนินคดีปกครองต่อศาลปกครอง ระหว่างปี 2560-2567 ข้อมูล ณ วันที่ 30 ต.ค.2567 รวมทั้งสิ้น 151 คดี เป็นคดีถึงที่สุดแล้ว จำนวน 85 คดี คงเหลือคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 66 คดี
รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) มีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานวิชาการและธุรการให้แก่คณะกรรมการและและคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ และให้คำปรึกษาแก่เอกชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540