‘ศาลอาญา’ พิพากษาประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คดีวางยาฆ่า ‘น.ส.ก้อย’ พร้อมสั่งชดใช้โจทก์ร่วม 2.3 ล้าน ส่วน ‘อดีตสามีนายตำรวจ-ทนายพัช’ โดนคุก 2 ปี ด้าน ‘ตำรวจ’ เตรียมอีก 14 สำนวนคดี ส่งอัยการ 26 พ.ย.นี้
....................................
เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ห้องพิจารณา 713 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษา คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 และมารดาผู้เสียชีวิตร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง นางสรารัตน์ รังสิตวุฒาภรณ์ หรือ ‘แอม ไซยาไนด์’ อายุ 36 ปี จำเลยที่ 1 ความผิดฐานฆ่าอื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อตระเตรียมการหรือเพื่อสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น, ชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ปลอมปนอาหาร ยาหรือเครื่องอุปโภคอื่นใด เพื่อบุคคลอื่นเสพหรือใช้ และการปลอมปนนั้นเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย
ส่วน พ.ต.ท.วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ อายุ 40 ปี อดีตสามี และอดีต รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร (รอง ผกก.สภ.) สวนผึ้ง จ.ราชบุรี จำเลยที่ 2 และ น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวรรณวัตร์ หรือ ‘ทนายพัช’ อายุ 36 ปี จำเลยที่ 3 ในความผิดฐาน ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง และซ่อนเร้นทำลายหลักฐานพร้อมเรียกค่าเสียหายจำนวน 30 ล้านบาท
สำหรับคดีนี้อัยการ โจทก์ ระบุฟ้องพฤติการณ์ความผิดพวกจำเลยต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2566 สรุปว่า เมื่อวันที่ 14 เม.ย.2566 นางสรารัตน์ จำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่า น.ส.ศิริพร ขันวงษ์ หรือ ‘ก้อย’ อายุ 32 ปี โดยนำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ (Potassium Cyanide) ซึ่งเป็นสารพิษปลอมปนใส่ลงในอาหาร หรือน้ำดื่มให้ผู้ตายดื่ม ระหว่างที่จำเลยที่ 1 กับผู้ตาย ซึ่งเป็นเพื่อนกันเดินทางไปปล่อยปลาที่ท่าน้ำ ต.บ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
ก่อนที่ผู้ตายจะหมดสติ และเสียชีวิตเวลาต่อมา โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การช่วยเหลือ และนำทรัพย์สินผู้ตาย 9 รายการมูลค่า 154,630 บาทของผู้ตายไปให้แก่ผู้อื่น เพื่อซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ ตามที่จำเลยที่ 3 ได้ใช้ หรือยุยงส่งเสริมจำเลยที่ 2 เพื่อมิให้เจ้าพนักงานตำรวจติดตามหาทรัพย์ของผู้ตาย เพื่อเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิให้ต้องรับโทษตามกฎหมาย หรือให้ได้รับโทษน้อยลงอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
ทั้งนี้ จำเลยทั้งสาม ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี โดยจำเลยที่ 1 ถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลาง ส่วนจำเลยที่ 2-3 ได้รับการประกันตัวโดยศาลตีราคาประกันคนละ 1 แสนบาท
โดยก่อนอ่านคำพิพากษาศาลให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้ใส่กุญเเจมือจำเลยทั้งสามราย ยืนฟังการอ่านคำพิพากษาตลอดเวลา ซึ่งโดยปกติหากมีการอ่านคำพิพากษานาน ศาลจะอนุญาตให้นั่งฟังได้ และไม่ต้องใส่กุญแจมือ
ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีว่า ช่วงวันที่ 1 ม.ค.2563 ถึง 5 พ.ค.2566 จำเลยที่ 1 มีเงินหมุนเวียนในบัญชีมากกว่า 95 ล้านบาท และมีเส้นทางการเงิน เชื่อมโยงอีก 10 บัญชี ที่ตรวจสอบพบว่าเป็นบัญชีม้าและเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ พร้อมกับมีหนี้สินจำนวนมาก
ส่วนในปี 2564-2565 พบว่าจำเลยที่ 1 เสียเงินให้กับพนันออนไลน์จำนวนมาก เเละมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นกว่าเดิมในช่วงเวลาดังกล่าว ต่อมามีพยานที่เป็นผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงเพื่อวางยาในน้ำดื่มและในยาเม็ดแคปซูล ต่อมาพบว่ามีอาการเหมือนถูกพิษ ข้อเท็จจริงยังได้ความว่ามีการเสียชีวิตของผู้เสียหายที่เกี่ยวพันลักษณะนี้ 13 ราย เเละรอดชีวิต 2 ราย
ส่วนการเสียชีวิตของ นางสาวศิริพร หรือ ‘ก้อย’ มีการกระทำหลายอย่างของจำเลยที่ 1 ที่เป็นพิรุธ ที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาและความคาดหมายว่าจะให้เสียชีวิตในช่วงเวลาใด รวมถึงจำเลยที่ 1 คอยอยู่ใกล้ผู้ตายเพื่อขโมยของ ก่อนที่จะมีผู้อื่นเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งหากบริสุทธิ์จริงควรอยู่ช่วยชีวิตจนถึงที่สุด หรือโทรติดต่อญาติของผู้ตายให้ทราบ
จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่1 มีการวางแผนมาตั้งแต่ต้น และยังพบข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้สั่งไซยาไนด์ มาอย่างเร่งรีบ ทั้งที่ไม่มีอาชีพเกี่ยวกับสารเคมี และพบว่ามียาไซยาไนด์ซ่อนอยู่ภายในรถยนต์ของผู้ตายหลายจุด รวมถึงพบยาเม็ดแคปซูลที่ภายในประกอบด้วยสารไซยาไนด์ซ่อนอยู่ในห้องโดยสารรถยนต์ คดีนี้แม้ไม่มีประจักษ์พยานเเต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่เห็นผู้ตายล้มลง และยังลักทรัพย์ผู้ตายโดยไม่ช่วยเหลือ และภายหลังผู้ตายเสียชีวิตด้วยไซยาไนด์ เรียกได้ว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ฟังได้ว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อประโยชน์เเห่งการชิงทรัพย์ พยานหลักฐาน
จำเลยที่ 2 ทราบว่าตำรวจกำลังตามหาของกลาง ที่มีประเด็นหลักฐานสำคัญซึ่งเป็นกระเป๋าของกลางไปส่งให้กับจำเลยที่ 1 แทนที่จะนำไปให้พนักงานสอบสวน ตามคำยุยงของจำเลยที่ 3
ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นทนายความที่จำเลยที่ 1 ให้ความเชื่อถือ ได้ยุยงให้จำเลยที่1 ปกปิดกระเป๋าซึ่งเป็นของกลางในคดี เพื่อเป็นแนวทางในการชนะคดี พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยที่3 ได้คุยและส่งผลคำพิพากษาศาลฎีกาที่ชนะคดีได้โดยไม่มีของกลางให้จำเลยที่1 และ 3 อ่านในกลุ่มไลน์ที่สร้างขึ้น เพื่อจูงใจให้จำเลย ซ่อนเร้นพยานหลักฐานในคดีการกระทำจึงไม่ใช่แค่การให้คำแนะนำทางกฎหมายแต่เป็นการยุยงให้จำเลยที่2 กระทำความผิด ซึ่งอาชีพทนายความเป็นอาชีพที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรีแต่จำเลยกลับกระทำการให้มีการทำผิดกฎหมาย
พยานโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนัก ศาลรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึง 3 กระทำผิดตามฟ้อง ส่วนทางคดีแพ่ง โจทก์ร่วมขอให้ชดใช้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าควรชำระค่าขาดอุปการะ ค่าปลงศพและค่าเสียหายจากทรัพย์พร้อมดอกเบี้ย ให้ชำระให้โจทก์ร่วม เป็นเงิน 2,343,588 ล้านบาท
ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้ง3 กระทำผิดตามฟ้อง เห็นว่าการกระทำของ นางสรารัตน์ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อกระทำอย่างอื่น พิพากษาประหารชีวิต
ส่วน พ.ต.ท.วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ อดีตสามี และอดีต รอง ผกก.สภ. สวนผึ้ง จำเลยที่ 2 และ น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวรรณวัตร์ หรือ ‘ทนายพัช’ จำเลยที่ 3 มีความผิดฐาน ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง และซ่อนเร้นทำลายหลักฐาน ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี เเต่ พ.ต.ท.วิฑูรย์ จำเลยที่ 2 ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ ตั้งเเต่ช่วง 09.30-12.30 น.เศษ บรรยากาศเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เบิกตัว นางสรารัตน์ หรือ ‘แอม ไซยาไนด์’ มาจากทัณฑสถานหญิงกลาง โดยเจ้าตัวสวมแว่นตา สวมหน้ากากอนามัยสีน้ำเงิน ร่างกายซูบผอมลง และตลอดการฟังคำพิพากษา นางสรารัตน์ หันมาคุยกับ 'ทนายพัช' ตลอด โดยไม่หันไปมองอดีตสามี (จำเลยที่ 2)
ส่วนมารดาและครอบครัวของนางสาวก้อย ผู้เสียชีวิต หลังฟังคำพิพากษาต่างก็ร้องไห้โฮ กอดกันด้วยความดีใจและโผเข้ากอดกัน
ขณะที้ภายหลังมีคำพิพากษา นางพิน แม่ของนางสาวก้อย กล่าวกับผู้สื่อข่าวพร้อมน้ำตาว่า ขอบคุณที่ศาลที่ให้ความยุติธรรม และอยากจะบอกกับลูกสาวว่า “ได้รับความเป็นธรรมแล้ว ขอให้นอนหลับให้สบาย ไม่มีอะไรที่ต้องห่วง”
นอกจากนี้ นางพิน ยังกล่าวอีกว่า ทันทีที่ได้เจอหน้า ‘แอม ไซยาไนด์’ ในห้องพิจารณาคดี ด้วยความที่ตนยังรู้สึกโกรธแค้นจึงไม่อยากจะมองหน้า แต่พอเหลือบไปเห็นสายตาแอม ก็ยังดูปกติ ไม่มีท่าทีสลด และแม้ว่าศาลมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่แอมก็ยังดูเป็นปกติ
ด้าน นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความ กล่าวว่า ศาลได้ให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ศาลพิพากษา แต่มีการพูดถึงพยานจากคดีอื่นด้วย ซึ่งสามารถนำคำพิพากษาในคดีนี้เป็นแนวทางในการพิพากษาคดีอื่นที่เกี่ยวกับแอมและมีการเสียชีวิตอีกด้วย ส่วนคดีอื่นที่เกี่ยวกับแอม 14 คดี ทราบจากพนักงานสอบสวนกองปราบที่เจอกันวันนี้ว่า พนักงานสอบสวนจะนำสำนวนพร้อมความเห็นทางคดีมามอบให้กับพนักงานอัยการในวันที่ 26 พ.ย.นี้
ขณะที่ พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รองผู้บังคับการกองปราบปราม หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนคดีแอมไซยาไนด์ กล่าวว่า ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีการฆ่าผู้เสียหายด้วยไซยาไนด์ และเป็นคดีหนึ่งที่มีการกล่าวหาจำนวนมากถึง 15 คดี นับเป็นคดีต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558-2566 โดยในปี 2565 ผู้ต้องหาก่อคดีมากที่สุด คือ 7 ศพ คดีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมหลักฐาน สามารถนำมาถอดบทเรียนเป็นใช้เป็นทิศทาง ที่คล้ายคดีในลักษณะแบบนี้ของวงการตำรวจได้เป็นอย่างดี
ส่วนคดีที่เหลืออีกจำนวน 14 คดีจะสามารถเอาผิดกับผู้ต้องหาได้หรือไม่นั้น พ.ต.อ.เอนก กล่าวว่า คดีอื่นๆที่เหลือแม้เกิดมานานแล้ว แต่พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ตำรวจภูธรภาค 4 ตำรวจภูธรภาค 7 และตำรวจนครบาล ได้รวบรวมพยานหลักฐานไว้เป็นอย่างดี โดยมีข้อกำหนดในการรวบรวมหลักฐานไว้ 3 ประการ เพื่อให้การดำเนินคดีไปในทิศทางเดียวกัน คือ ประการแรก ผู้ตายทั้งหมดตายด้วยไซยาไนด์ ประการที่สอง ผู้ตายมีความเกี่ยวพันกับผู้ต้องหาหรือไม่ และประการสุดท้าย ผู้ตายมีมูลเหตุจูงใจให้ผู้ต้องหาลงมือฆ่าหรือไม่
“เมื่อพิจารณาดูแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งสามประการพนักงานสอบสวนทั้ง 14 คดีที่เหลือพบว่าสอดคล้องกันหมด ในการตายของผู้ตายมี แอม ทุกคดี นอกจากนี้ เราพบว่าผู้ตายแต่ละราย ล้วนแต่มีแอม เป็นลูกหนี้ทั้งสิ้น และเป็นการฆ่าเพื่อเอาทรัพย์สินจากผู้ตายทุกคดี” พ.ต.อ.เอนก กล่าว พร้อมทั้งระบุว่า คดีนี้ผู้ต้องหาได้ปฏิเสธทั้งหมดทุกคดี หากรับสารภาพในชั้นศาลก็อยู่ในดุลพินิจว่าจะลดโทษในคดีอื่นๆให้หรือไม่ โดยอีก 14 คดีที่เหลือนั้น พนักงานสอบสวนได้นัดหมายส่งสำนวนให้อัยการกองคดีอาญา วันอังคารที่ 26 พ.ย. เวลา 10.00 น.
(พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ)
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิต นางสรารัตน์ หรือ 'แอม ไซยาไนด์' ความผิดฐานฆ่าอื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อตระเตรียมการหรือเพื่อสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น เเละพิพากษษจำคุก พ.ต.ท.วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ จำเลยที่ 2 และน.ส.ธันย์นิชา 'ทนายพัช' จำเลยที่ 3 ในความผิดฐาน ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง และซ่อนเร้นทำลายหลักฐานแล้ว
จำเลยที่ 2-3 ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลพิจารณาคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เเล้วอนุญาตปล่อยชั่วคราวตีราคาประกันคนละ 1 เเสนบาทไม่ได้กำหนดเงื่อนไข