ปปง.ยึดอายัดทรัพย์ 2 คดีได้ 1 ล. หลอกทำงานโรงแรมในมัลดีฟส์ เหยื่อ 38 ราย จ่าย 50,000-80,000 บาท เสียหาย 1.7 ล. อีกเคสลวง 2 หน เก็บผักประเทศเกาหลีก่อนโดนเบี้ยวส่งกลับไทย ต่อมา‘มาม่าไก่’ ชักชวนทำงานร้านขายเหล้า ANGLE ในญี่ปุ่น ถูกบังคับค้าประเวณี ซ้ำไม่ได้รับค่าตอบแทน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) มีคำสั่ง คณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 153/2567 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2567 และ มีคำสั่ง คณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 161/2567 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2567 คดีแรกเป็นคดีกี่ยวข้องกับกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน กรณีหลอกผู้เสียหายไปทำงานในต่างประเทศ สาธารณรัฐมัลดีฟส์อ้างให้ค่าตอบแทน 50,000-60,000 บาทต่อเดือน เสียค่าใช้จ่าย คนละ 50,000-80,000 บาท ผู้เสียหาย 37 คน
และส่วนคดีหลัง มีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับ การค้ามนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์หรือความผิดตามประมวลกฎหมาย โดยหลอกไปทำงานร้านจำหน่วายสุราในประเทศญี่ปุ่น
โดยคดีแรกคำสั่ง คณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 153/2567 กรณีหลอกผู้เสียหายไปทำงานโรงแรมสาธารณรัฐมัลดีฟส์นั้น ปปง.อายัดทรัพย์เงินในบัญชีเงินฝาก นางสาวสมฤดี แจ้งหิรัญ กับพวก จำนวน 5 บัญชี ยอดเงิน 80,492.78 บาท คดีหลัง คณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 161/2567 ปปง.ยึดและอายัดทรัพย์ รายนางพัชรินทร์ บุญค้ำ กับพวก เป็นที่ดินตามโฉนดที่ดิน ในจ.ขอนแก่น 1 แปลง และ เงินในบัญชีเงินฝาก 10 รายการ รวม ทั้งหมด 11 รายการ มูลค่า 1,017,326.35 บาท
รวมยึดและอายัดทรัพย์ 2 คดี 1,097,819.13 บาท
@เปิดคำสั่งอายัดทรัพย์สองคดี
คำสั่งอายัดทรัพย์ทั้งสองคดีมีรายละเอียดดังนี้
คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 153/2567 เรื่อง อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวรายคดีนางสาวสมฤดี แจ้งหิรัญ กับพวก
ด้วยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้รับรายงานจากกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ตามหนังสือที่ ตข 0026.816(3)/273 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 เรื่อง รายงานการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน รายคดีนางสาวสมฤดี แจ้งหิรัญ ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา กล่าวคือ
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566 กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ได้รับคำร้องทุกข์ในคดีระหว่างนางสาวพิไลพร กับพวก รวม 38 คน (ผู้เสียหาย) กับนางสาวสมฤดี แจ้งหิรัญ ผู้ต้องหาที่ 1 นางสาวภัทราวรรณ พงศ์จินะ ผู้ต้องหาที่ 2 นางสาวรุ่งทิพย์ กกกนทา ผู้ต้องหาที่ 3 นายชลปดิธ ดลปภัทร์ชล ผู้ต้องหาที่ 4 บริษัท ดี เอ ที ออโต้ จำกัด ผู้ต้องหาที่ 5 นายสุทธิพจน์ ธนาทรัพย์ภมณ ผู้ต้องหาที่ 6 เป็นคดีอาญาที่ 6/2566 โดยมีพฤติการณ์โฆษณาในลักษณะจัดหาคนไปทำงานต่างประเทศโดยกล่าวอ้างว่าสามารถจัดหางานในสาธารณรัฐมัลดีฟส์ ตำแหน่งงานโรงแรม มีสัญญาจ้าง 2 ปี 8 เดือน เงินเดือน 50,000-60,000 บาท สามารถเดินทางไปทำงานได้วันที่ 27 มกราคม 2566 และจะต้องเสียค่าดำเนินการด้านเอกสารต่าง ๆ จำนวน 50,000-80,000 บาท
ทำให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อหลายรายโอนเงินไปให้กับนางสาวสมฤดี แจ้งหิรัญ กับพวก แต่เมื่อถึงกำหนดนัดหมายเดินทางไปทำงานผู้เสียหายได้ติดต่อสอบถามนางสาวสมฤดี แจ้งหิรัญ กับพวก แต่ก็ได้รับการแจ้งว่าขอเลื่อนการเดินทางออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนดและไม่คืนเงินให้ ผู้เสียหายเห็นว่าถูกหลอกลวงจึงได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ให้ดำเนินคดีกับนางสาวสมฤดี แจ้งหิรัญ กับพวก ในขั้นนี้ปรากฏผู้เสียหายจำนวน 37 คน รวมมูลค่าความเสียหาย 1,772,500 บาท พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง นางสาวสมฤดี แจ้งหิรัญ กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนงานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นโดจากผู้ถูกหลอกลวง ร่วมกันโฆษณาจัดหางานไม่เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มาตรา 4 มาตรา 30 มาตรา 82 มาตรา 88 มาตรา 91 ตรีและโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูล คอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนอันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (1) และร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ประกอบมาตรา 83 อันเข้าลักษณะความผิดมูลฐานตาม มาตรา 3 (3) และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางสาวสมฤดี แจ้งหิรัญ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 5 รายการ พร้อมดอกผลมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ
คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 161/2567 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รายนางพัชรินทร์ บุญค้ำ กับพวก
ด้วยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้รับรายงาน จากสถานีตำรวจภูธรดอนหัวฬ่อ ตามหนังสือที่ 0017(ขบ).5(225)/3580 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2566 เรื่อง รายงานการดำเนินคดีความผิดมูลฐาน ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับ การค้ามนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์หรือความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญาในความผิดเกี่ยวกับเพศ เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไป พาไป หรือรับไว้เพื่อการอนาจาร ซึ่งชายหรือหญิง เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การค้าประเวณี เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี กล่าวคือ
@ถูกหลอกเก็บผักเกาหลี
ผู้เสียหายสนใจเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศจึงได้ติดต่อนายวิษณุ ศรีภา และนางพัชรินทร์ บุญค้ำ เนื่องจากทราบว่าบุคคลทั้งสองเคยส่งคนไปทำงานที่ประเทศเกาหลีมาก่อน โดยเมื่อผู้เสียหายติดต่อไปยัง นางพัชรินทร์ บุญค้ำ ผู้เสียหายได้รับการชักชวนให้ไปทำงานเป็นคนเก็บผักที่ประเทศเกาหลี ผู้เสียหายสนใจและได้ โอนเงินค่าใช้จ่ายไปยังบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 0331917567 ชื่อบัญชี นางพัชรินทร์ บุญค้ำ แต่เมื่อไปถึงประเทศเกาหลีผู้เสียหายกลับไม่ได้ทำงานและถูกส่งตัวกลับมาจากประเทศเกาหลี
ต่อมา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 นางพัชรินทร์ บุญค้ำ ได้ชักชวนผู้เสียหายอีกครั้ง โดยให้ผู้เสียหายไปทำงานกับ นางสนธยา ตั้งสิทธิวัฒน์ หรือ “มาม่าไก่” เป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านจำหน่ายสุราที่ประเทศญี่ปุ่น โดยจะให้ ค่าตอบแทนประมาณเดือนละ 50,000 - 60,000 บาท โดยนางพัชรินทร์ บุญค้ำ จะคิดค่านายหน้าจำนวน 100,000 บาท ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินค่านายหน้าจากบัญชีของตนไปยังบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 0331917567 ชื่อบัญชี นางพัชรินทร์ บุญค้ำ จำนวน 50,000 บาท และนางพัชรินทร์ บุญค้ำ ได้ให้นางพัชริตา หลุ่มใส ซึ่งเป็นบุตรสาว เป็นผู้จองตั๋วเครื่องบินให้ผู้เสียหาย โดยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้เสียหายได้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นและนางสาวสนธยา ตั้งสิทธิวัฒน์ ได้มารับ และพาไปยังที่พักที่ซีชิอูระ เมืองอิบาระกิ พร้อมทั้งยึดเงินผู้เสียหายไปอีกจำนวน 160,000 เยน (40,000 บาท) ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 มีคนขับรถยนต์มารับผู้เสียหายที่ห้องพักแล้วพาไปที่ร้านจำหน่ายสุรา ชื่อ ANGLE (แองเจิล) แต่เมื่อไปถึงสถานที่อ้างว่าเป็นที่ทำงานดังกล่าวพบว่าได้รับค่าจ้างจากการทำงานเพียง 2,000 เยน (600 บาท) ซึ่งไม่ตรงตามที่ตกลงกันไว้ ในขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 นายวิษณุ ศรีภา ได้โทรศัพท์ไปข่มขู่ญาติผู้เสียหายให้โอนเงินค่านายหน้าที่เหลืออีก 50,000 บาท ถ้าไม่ไอน จะแจ้งให้ทางนางสนธยา ตั้งสิทธิวัฒน์ นำตัวผู้เสียหายไปปล่อยทิ้งไว้ ญาติของผู้เสียหายจึงได้โอนเงิน จำนวน 50,000 บาท ไปยังบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 0351394269 ชื่อบัญชี นางสาวพัชริตา หลุ่มใส
@มาม่าไก่หลอกทำงานร้านเหล้า ก่อนบังคับค้าประเวณี ญี่ปุ่น
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นางสนธยา ตั้งสิทธิวัฒน์ ได้บังคับให้ผู้เสียหายและ พนักงานคนอื่น ๆ มีเพศสัมพันธ์กับลูกค้าในร้าน ANGLE ถ้าขัดขืนไม่ยอมทำตามจะพาตัวไปปล่อยทิ้งไว้ ผู้เสียหาย และพนักงานคนอื่น ๆ จึงต้องยอมทำตามโดยมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้าในห้องนอนด้านหลังร้านจำหน่ายสุรา ซึ่งผู้เสียหายไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการมีเพศสัมพันธ์ดังกล่าวและถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับลูกค้า ผู้เสียหายจึงไม่ยอมไปทำงานที่ร้าน ANGLE อีก และติดต่อขอความช่วยเหลือกลับมาที่ประเทศไทย ผู้เสียหาย ได้รับการช่วยเหลือให้กลับมาที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2566 และได้แจ้งความร้องทุกข์ในกรณี ดังกล่าว ต่อมาพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตอนหัวฬ่อ รับไว้เป็นคดีอาญาที่ 759/2566 และมีความเห็นควรสั่งฟ้องนางพัชรินทร์ บุญค้ำ กับพวก 4 คน ในความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6 และมาตรา 9 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 9 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 และมาตรา 286 อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (2) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางพัชรินทร์ บุญค้ำ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทำความผิดดังกล่าว
คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 11 รายการ พร้อมดอกผลมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ