'ผู้ว่ารถไฟ' ส่งหนังสือ 'อธิบดีกรมที่ดิน' ขอเพิกถอนมติคณะกรรมการสอบสวนกรณี 'เขากระโดง' หลังมีข้อสรุปไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของ รฟท.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 จากกรณีที่อธิบดีกรมที่ดิน มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1195-1196/2566 เรื่อง ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 เพื่อดำเนินการกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณแยกเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ เนื้อที่ 5,083 ไร่เศษ อันเป็นการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566
ต่อมานายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ได้ทำหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0516.2(2)/22162 เรื่อง การเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2567 ถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาสรุปได้ว่าคณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของ รฟท. (อ่านประกอบ : ไม่เชื่อ'แผนที่'ตามคำพิพากษา! ฉบับเต็ม‘คกก.สอบสวน’ยก 4 เหตุผล ไม่เพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’)
ขณะเดียวกัน กรมที่ดิน ยังเผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจงประเด็นที่ดิน ‘เขากระโดง’ ใน 5 ประเด็น โดยกรมที่ดินชี้แจงตอนหนึ่งว่า การดำเนินการคณะกรรมการสอบสวนฯ และกรมที่ดิน เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และมิได้ขัดหรือแย้งกับคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใด
พร้อมทั้งระบุว่าพร้อมทั้งระบุว่า ‘แผนที่’ ที่การรถไฟฯกล่าวอ้าง ซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2539 เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุม กบร. จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2539 โดยผู้ฟ้องคดีนำแผนที่ดังกล่าว ไปใช้ในการต่อสู้คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 และ ที่ 8027/2561
จึงไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พระพุทธศักราช 2464
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลของคณะทำงานศึกษา แสวงหาหลักฐานและบูรณาการข้อมูลประวัติที่ดิน ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 91/2567 ลงวันที่ 18 ม.ค.2567 ที่ได้ศึกษาค้นคว้าเทียบเคียงจากพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้อง และจากหนังสือกระทรวงโยธาธิการ ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 127 สันนิษฐานได้ว่า การกำหนดเขตสร้างทางรถไฟ จะมีการกำหนดไว้เพียงระยะข้างละไม่เกิน 40 เมตร หรือ 20 วา เท่านั้น ไม่ใช่ 8 กิโลเมตร ตามที่มีการกล่าวอ้าง นั้น (อ่านประกอบ : ไม่ขัดแย้งคำพิพากษา!‘กรมที่ดิน’แจงไม่เพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’-แนะ‘รฟท.’ฟ้องขับไล่‘รายแปลง’)
ล่าสุด นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือ ที่ รฟ1/2780/2567 เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิ์ในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ส่งไปถึงอธิบดีกรมที่ดิน โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า
“ตามหนังสืออธิบดีกรมที่ดินได้แจ้งความเห็นของอธิบดีที่เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการสอบสวน ตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งตั้งขึ้นตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 ว่า ไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับช้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ จึงเห็นควรยุติเรื่อง ในกรณีนี้ หากการรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นว่า มีสิทธิในที่ดินกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมต่อไปนั้น
การรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นว่า คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินและมติของคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระทำโดยไม่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ และมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น รวมถึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ จึงขออุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินและคณะกรรมการสอบสวน ตามประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้
ข้อ 1 เหตุผลและวัตถุประสงค์ที่อธิบดีกรมที่ดินต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลในการออกคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ทั้งสองฉบับ ระบุว่า ด้วยความปรากฏว่า หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นโฉนดที่ดิน 44 ฉบับ และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 6 ฉบับ ซึ่งออกสืบเนื่องจากหลักฐานแบบการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และหนังสือรับรองการประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 18 ฉบับ ซึ่งออกการเดินสำรวจ ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ต่อมาหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจำนวน 68 ฉบับดังกล่าว บางฉบับได้มีการรังวัดแบ่งแยกออกเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจำนวน 222 ฉบับ เป็นผลให้หนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินแปลงแบ่งแยกดังกล่าวคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย (ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน 1195/2566)
และด้วยความปรากฏว่า โฉนดที่ดินจำนวน 61 ฉบับ และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 28 ฉบับ ซึ่งออกสืบเนื่องจากหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ตำบล อิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และต่อมาหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจำนวน 89 ฉบับ บางฉบับได้มีการรังวัดแบ่งแยกออกเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน จำนวน 616 ฉบับ เป็นผลให้หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงแบ่งแยกดังกล่าวคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย (ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน 1196/2566)
วัตถุประสงค์อันเป็นสาระสำคัญของการออกคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินทั้งสองฉบับข้างต้น จึงเป็นไปเพื่อดำเนินการตรวจสอบ สอบสวนว่าเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินตามที่ปรากฏในคำสั่งดังกล่าวนั้น ออกในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งหากข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินที่เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว ย่อมถือว่าเป็นการออกเอกสารแสดงสิทธิคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันจะส่งผลให้อธิบดีกรมที่ดินต้องเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวต่อไป เพื่อให้การดำเนินการสำเร็จตามวัตถุประสงค์ข้างต้น
อธิบดีกรมที่ดิน ในฐานะผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือการจดแจ้งเอกสารรายการจุดทะเบียน โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553
และต้องกำกับตรวจสอบให้การดำเนินงานของคณะกรรมการสอบสวนให้เป็นไปตามกฎหมาย ถูกต้องเป็นธรรม สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่มีและปรากฏอยู่หรือไม่ เพียงใด ก่อนที่อธิบดีกรมที่ดินจะใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินและสั่งยุติเรื่อง
การรถไฟแห่งประเทศไทยขอเรียนว่า เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริง พยานหลักฐานประกอบกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นได้โดยชัดแจ้งแล้วว่า ที่ดินตามเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินตามจำนวนแปลงที่ระบุไว้ในคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน บริเวณทางแยกเขากระโดงนั้น เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย….
การรถไฟแห่งประเทศไทยขอเรียนสรุปว่า การเวนคืนที่ดินตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยกรมรถไฟหลวงเริ่มลงมือตรวจแนวทางรถไฟ เป็นไปตามพระราชโองการตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟที่มีอยู่แล้วที่ จังหวัดนครราชสีมา
ต่อมาในปี พ.ศ.2463 กรมรถไฟหลวงได้ทำการสำรวจเส้นทางรถไฟแน่นอนแล้วตั้งแต่สถานีรถไฟนครราชสีมาถึงตำบลท่าช้างจังหวัดนครราชสีมาเป็นช่วงแรก จึงได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2463 โดยได้กำหนดให้กรมรถไฟหลวงทำแผนที่แสดงเขตร์ที่ดิน และคัดสำเนาเนาบัญชีรายชื่อท้ายพระราชกฤษฎีกาพร้อมด้วยแผนที่มอบไว้ ณ ที่ทำการกรมรถไฟหลวงในพระนคร ที่กระทรวงเกษตราธิการที่หอทะเบียนที่ดินทุกๆ จังหวัด และที่ว่าการอำเภอ ซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่
และต่อมาในปี พ.ศ.2464 กรมรถไฟหลวงได้ทำการสำรวจเส้นทางรถไฟแน่นอนแล้วตั้งแต่ตำบลท่าช้าง จังหวัดนครราชสีมา ถึงจังหวัดสุรินทร์อีกตอนหนึ่ง และได้มีการทำแผนที่แสดงแนวแขตที่ดินของกรมรถไฟไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จึงได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464
กรมรถไฟหลวง จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินในทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี รวมทั้งที่ดินสองข้างทางรถไฟในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์มาโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวง ต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2466 ,พระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้าง ฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2464
พระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้างฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 พร้อมแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ซึ่งได้บัญญัติให้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมรถไฟหลวง
ดังนั้น เมื่อการถไฟแห่งประเทศไทยรับโอนทรัพย์สินทั้งหลายจากกรมรถไฟหลวง การถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้กรรมสิทธิ์ ที่ดินในทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี รวมทั้งที่ดินสองข้างทางรถไฟในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์มาตามกฎหมาย ทั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
ย่อมมีผลผูกพันพลเมืองในราชอาณาจักรไทยเป็นการทั่วไป และกฎหมายดังกล่าว ยังเป็นพยานหลักฐานยืนยันการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินการถไฟแห่งประเทศไทย ตลอดจนตำแหน่งที่ตั้งซึ่งมีความชัดเจนเป็นที่ยุติแล้ว และมีความแน่นอนในนิติฐานะยิ่งกว่าเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทใดๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งบัญญัติขึ้นภายหลังการรถไฟแห่งประเทศไทย
จึงขอให้อธิบดีกรมที่ดินและผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ ได้โปรดมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินตามหนังสือกรมที่ดินที่ มท 0516.2 (2)/22162 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 เรื่อง การเพิกถอนหนังสือการแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเพิกถอนมติของคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ที่ได้มีความเห็นและมติไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
และมีคำสั่งให้กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของ ศาลฎีกาที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 หมายเลขแดงที่ 1112/2563 และคำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 โดยการมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินทุกแปลงที่ออกทับซ้อนที่ดินกรรมสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยให้ปฏิบัติตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางในคดีดังกล่าวอย่างเคร่งครัดด้วย
ทั้งนี้ หากท่านพิจารณาแล้วไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิต่างๆ ในที่ดินที่ออกทับช้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่าที่ดินในบริเวณแยกเขากระโดงเป็นที่ดินรถไฟ ขอให้แจ้งยืนยันผลการพิจารณาโดยชัดแจ้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทราบด้วย”