‘เลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล’ กรรมการกลาง สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ แจง รายละเอียดการจัดแข่งขัน ‘ฟุตบอลคิงส์คัพ’ หลังมีคนไปร้อง ป.ป.ท. เขต 9 ตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ จังหวัดสงขลา ‘เจ้าภาพจัดการแข่งขัน’ เผย ให้สิทธิ์จังหวัดไปจัดการเองทั้งหมด ส่วนค่าปรับปรุงสนามฟุตบอล อบจ.สงขลาเป็นคนควัก คาด มีคนสำรองจ่ายไปก่อน ตั้งข้อสังเกต ปม เลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 9 ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานในการจัดแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 50 ที่สนามกีฬาติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา ในช่วงเดือนต.ค.2567 ที่ผ่านมา
อ่านข่าวประกอบ : สะเทือน ‘สงขลา’! ป.ป.ท.ลุยสอบจัดเก็บรายได้แข่งบอลฯคิงส์คัพ แจ้งผู้ว่าฯ ขอหลักฐานทั้งหมด
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สส.จังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการกลาง สภากรรมการ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราในกรณีดังกล่าวว่า เมื่อสมาคมฟุตบอลฯได้พิจารณาให้จังหวัดสงขลาเป็นเจ้าภาพแล้ว เรื่องการจัดการแข่งขันและรายได้ทั้งหมดจังหวัดสงขลาจะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่สงขลาต้องจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่สมาคมฟุตบอลฯ ในการประสานทีมฟุตบอลทีมชาติที่เข้ามาร่วมการแข่งขัน
“เมื่อสงขลาเป็นคนรับผิดชอบ คนที่มานำเสนอก็จะเป็นจังหวัด แต่จังหวัดจะแต่งตั้งใครเป็นประธานจัดการแข่งขัน และรายได้จะจัดเก็บแบบไหน เป็นเรื่องของทางสงขลา ซึ่งสมาคมฟุตบอลฯ ไม่ทราบรายละเอียดว่า จังหวัดไปจัดเก็บรายได้ หรือนำรายได้ไปที่ไหน อย่างไร”นายเลิศศักดิ์กล่าว
@ อบจ.สงขลา ปรับปรุงสนามแข่งขัน
นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า สำหรับในเรื่องของการปรับปรุงสนามแข่งขันองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลาเป็นผู้ปรับปรุง เพื่อรองรับการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 33 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 20 ธันวาคม 2568 แต่ในเรื่องการดำเนินการค่าใช้จ่าย การเตรียมการต่าง ๆ นอกเหนือจากสนามแข่งขัน ใครเป็นคนจ่าย สมาคมฟุตบอลฯ ไม่ทราบ เพราะทางฝ่ายจัดการแข่งขันจะเป็นผู้ไปดำเนินการเอง
“ปกติแล้ว สนามแข่งขันจะเป็นของหน่วยงานราชการ ถามว่าจะมีใครมาลงทุนให้ไหม ไม่มีหรอก เพราะต้องมาทำหญ้าใหม่ คนที่เป็นเจ้าของก็คือ อบจ. ซึ่งถามว่าผิดไหมที่จะเอาเงินอบจ.มาทำสนาม ไม่ได้อะไร และเป็นการทำไว้เพื่อเตรียมเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ปีหน้า ซึ่งจะใช้สนามสงขลาในการจัดการแข่งขัน”นายเลิศศักดิ์กล่าว
เมื่อถามว่า ไม่ผิดใช่หรือไม่ ที่ไม่นำรายได้จากการจัดการแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพไปจ่ายค่าปรับปรุงสนามให้ อบจ.สงขลา เพราะใช้เป็นสนามแข่งขัน นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า คนจัดการแข่งขันไม่จ่ายเลยก็ได้ เพราะสนามแข่งขันเป็นของอบจ.ฯ เมื่ออบจ.ฯ เห็นว่าสนามทรุดโทรมและจะปรับปรุงอยู่แล้ว และบังเอิญการจัดแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพมาแข่งพอดี ไม่ได้เอื้อประโยชน์อะไรให้ใคร ถึงไม่จัดฟุตบอลคิงส์คัพ อบจ.สงขลาก็สามารถนำสนามที่ปรับปรุงไปแข่งขันอย่างอื่นได้ โดยเฉพาะกีฬาซีเกมส์ที่สงขลาจะจัดการแข่งขันในปีหน้า
นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า เงินที่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการจัดการแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพ นอกเหนือจากสนามแข่งขัน เช่น ค่าที่พัก โรงแรม ค่ารถรับ-ส่ง เป็นภารกิจของจังหวัด ซึ่งจะให้ใครเป็นคนรับผิดชอบ สมาคมฟุตบอลฯ ไม่ทราบ ส่วนรายได้จากการจัดการแข่งขัน คำนวณจากการจัดการแข่งขันที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะถัวหมดพอดี ไม่มีกำไร ถ้ามีคนดูเต็มสนาม
@ อาจจะมีใครสำรองจ่ายไปก่อน
“อาจจะมีใครเป็นคนสำรองจ่ายไปก่อนหรือไม่ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารถ ค่ารับรองต่าง ๆ ของทีม ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพ พอได้ค่าผ่านประตูมาก็จะต้องเอาไปจ่ายคืน เป็นวิธีการปกติที่ทำได้ เชื่อว่า ไม่ใช่เงินของทางราชการ อาจจะไม่เข้าสู่ระบบของจังหวัด จึงเป็นหน้าที่ของจังหวัดที่ต้องตอบ ปปท.”นายเลิศศักดิ์กล่าว
นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า ดังนั้น ปัญหาคือ ใครเป็นคนเอาเงินสำรองไปก่อน ถ้าป.ป.ท.ต้องการจะตรวจสอบว่า จังหวัดเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายหรือไม่ แล้วทำไมรายได้จากการแข่งขันถึงไม่เข้าจังหวัด
“ถ้าประเมินว่าจะเกิดการเอาเงินหลวงมาใช้แล้วรายได้ไม่นำเข้าหลวงหรือไม่ อาจจะเป็นข้อสังเกตของ ป.ป.ท.ได้”นายเลิศศักดิ์กล่าว
เมื่อถามว่า กรณีป.ป.ท.มีหนังสือไปถึงจังหวัดสงขลา ทางสมาคมฟุตบอลฯจะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบด้วยหรือไม่ นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า คงไม่ต้อง เป็นหน้าที่ของจังหวัดที่จะชี้แจงต่อ ป.ป.ท.
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล กรรมการกลาง สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ (ที่มาภาพ : สมาคมฟุตบอลฯ)
“ถ้าจังหวัดไม่ได้ควักเงินตัวเองไปทำ รายได้ก็ไม่ได้นำเข้าจังหวัด ก็ไม่ได้มีความผิดอะไร อาจจะมีคนอาสามาจัดมาลงทุนเอง รายได้ก็เป็นของคนที่อาสาออกเงินจัดการแข่งขัน จังหวัดก็มีหน้าที่เพียงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา แต่ถ้าจังหวัดเอาเงินมาจัดการแข่งขันแล้วไม่เอารายได้เข้าคลังจังหวัดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”นายเลิศศักดิ์กกล่าว
นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า อบจ.ฯไม่สามารถเอามาทำได้อยู่แล้ว เพราะไม่ใช่เจ้าภาพโดยตรง หรือ ไม่ใช่ประธานจัดการแข่งขัน ไม่เหมือนกับการจัดการแข่งขันฟุตคิงส์คัพที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ใช้เงินของอบจ.เชียงใหม่ทั้งหมด และจัดเก็บรายได้เอง
@ อธิบายรูปแบบการจัด ‘ฟุตบอลคิงส์คัพ’
นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาการจัดการแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพในต่างจังหวัดมี 2 แบบ หนึ่ง ไปขอใช้สนามแข่งขัน โดยสมาคมฟุตบอลฯดำเนินการเองทั้งหมด เช่น การจัดแข่งขันที่จังหวัดบุรีรัมย์ สอง การให้สิทธิ์จังหวัดในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน จังหวัดไหนอยากได้สิทธิ์ไปจัดการแข่งขันเอง โดยสมาคมฟุตบอลฯเป็นผู้เชิญทีมฟุตบอลมาเข้าร่วมการแข่งขัน และควบคุมรูปแบบการจัดการแข่งขันให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ฟีฟ่ากำหนด นอกเหนือจากนั้นเจ้าภาพเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด รวมถึงค่าใช้จ่ายของสมาคมฟุตบอลฯ ในการประสานงานทีมต่าง ๆ ส่วนรายได้ก็จะเป็นของจังหวัดนั้น
“จังหวัดจะไปตั้งใคร จะให้ใครเป็นคนลงทุน แล้วแต่รูปแบบ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ อบจ.ฯ ทำเอง แต่จังหวัดสงขลา ไม่มีเจ้าภาพหลักที่เป็นหน่วยงานราชการ จังหวัดก็อาจจะให้ใครช่วยอาสามารับผิดชอบ อาจจะมีนายทุนมาลงขันให้ก่อนและค่อยเก็บรายได้ไปคืน”นายเลิศศักดิ์กล่าว
@ เบื้องหลัง เคาะ สงขลาจัดฟุตบอลคิงส์คัพ
นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า การจัดการแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพในครั้งนี้ สมาคมฟุตบอลฯให้สิทธิ์กับจังหวัดสงขลา ส่วนจังหวัดสงขลาจะตั้งใครเป็นกรรมการก็เป็นสิทธิ์ของจังหวัด สมาคมฟุตบอลฯ มีหน้าที่ตรวจสิ่งที่จังหวัดเสนอตัวเข้ามาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน
“การแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพครั้งนี้ มีจังหวัดที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา เชียงใหม่และเชียงราย ซึ่งเชียงรายให้เพียงการใช้สนามแข่งขัน ที่เหลือทั้งหมดสมาคมฟุตบอลฯเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด ซึ่งสมาคมฟุตบอลฯปัดตกไป เพราะครั้งนี้สมาคมฟุตบอลฯต้องการให้สิทธิ์ ซึ่งสงขลาชนะเชียงใหม่ เพราะมีสนามซ้อมมากกว่า สมาคมฟุตบอลฯจึงตัดสินให้สิทธิ์การจัดการแข่งขันฯในครั้งนี้แก่จังหวัดสงขลาเป็นเจ้าภาพ ส่วนจังหวัดสงขลาจะตั้งใครไปเป็นประธานจัดการแข่งขัน ฯ จะหาเงินจากไหนเป็นเรื่องของจังหวัดสงขลา”นายเลิศศักดิ์กล่าว
เมื่อถามว่า เจ้าภาพจัดการแข่งขันต้องรายงานการจัดการแข่งขันให้สมาฟุตบอลฯได้รับทราบหรือไม่ว่ามีรายรับและรายจ่ายจากการจัดการแข่งขันจำนวนเท่าไหร่ นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า ไม่ต้อง แต่สมาคมฟุตบอลฯจะดูรายละเอียดและคุณภาพการจัดการแข่งขันว่าได้มาตรฐานฟีฟ่าหรือไม่ เช่น โรงแรม รถบัสรับ-ส่ง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ทางเจ้าภาพต้องรับผิดชอบ ค่าที่พัก ค่ารถ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ตลอดการแข่งขัน
“ส่วนสปอนเซอร์หลัก ที่เป็นสปอนเซอร์ของสมาคมฟุตบอลฯ จะมี Plan B เป็นผู้รับผิดชอบ ทางจังหวัดสงขลาอาจจะมีเพียงแค่สปอนเซอร์ท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้มากมาย เพราะป้ายรอบสนามแข่งขันด้านใน ถ้าไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน Plan B จะเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น สมาคมฟุตบอลฯ จะต้องกำหนดว่า จะมีใครไปอยู่ด้านในรอบสนามการแข่งขัน จังหวัดไม่สามารถไปหารายได้จากการติดป้ายในสนามแข่งขันได้ เพราะเป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมฟุตบอลฯ แต่ป้ายโดยรอบสนามด้านนอก ระหว่างเดินเข้าไปในสนามแข่งขัน เป็นหน้าที่ของจังหวัดที่สามารถไปหารายได้ได้ ไม่ผิดเงื่อนไขของสมาคมฟุตบอลฯ ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากการขายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน”
@ คาด ปม การเมืองท้องถิ่นหรือไม่
เมื่อถามว่า การจัดการแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพแต่ละครั้งรายได้จำนวนเท่าไหร่ นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า ไม่เยอะ หลักสิบล้าน ประเมินคร่าว ๆ จากจำนวนผู้เข้าชมที่เป็นรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมการแข่งขัน ว่า สงขลามีผู้ชม 10,000-20,000 คน บัตรเข้าชมราคาใบละ 300 บาท จัดเก็บรายได้รวม 2 นัดรวมกัน ประมาณหลัก 10 กว่าล้าน ทั้งนี้ การแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพ มีจำนวนทีมเข้าร่วมแข่งขัน 4 ทีม แข่งขันกัน 2 วัน วัน 2 นัด ซื้อตัว 1 วัน ดูได้ 2 นัด
นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า ส่วนรายจ่ายหลัก ๆ ก็เป็นค่าโรงแรมที่เป็นที่พักของนักเตะ รายจ่ายจากการจัดพิธีปิด ส่วนสมาคมฟุตบอลฯ มีหน้าที่เอาเงินไปจ่ายค่าเดินทางจากต่างประเทศของทีมฟุตบอลฯชาติที่เชิญมาเตะ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อตกลง เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ซึ่งสมาคมฯอาจจะมีการร้องขอจากเจ้าภาพให้ช่วยรับผิดชอบ
นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า กรณีที่สมาคมฟุตบอลฯจัดเอง สมาคมฟุตบอลฯต้องลงทุนเองทั้งหมด ยกตัวอย่างหากจัดที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน มีคนดูเต็ม 5 หมื่นคน รายได้ก็เป็นของสมาคมฟุตบอลฯ ซึ่งส่วนใหญ่หากจัดในกทม. สมาคมฟุตบอลฯจะเป็นผู้จัดเอง
“ไม่คิดว่าจะมีนอกมีใน หรือมีลับลมคมในอะไร แต่จะเป็นเรื่องของการเมืองหรือไม่ เราไม่ทราบ แต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นเรื่องการเมืองในท้องถิ่น ก็อาจจะเป็นไปได้ อาจจะไปร้องกันเอง อาจจะไปยืมมือ ป.ป.ท. ร้อง”นายเลิศศักดิ์ทิ้งท้าย
อ่านข่าวประกอบ :