'สมศักดิ์' เรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องหาทางออก หลังศาลปกครองสูงสุดรับคำฟ้อง แพทยสภาชี้ไม่เหมาะสม กรณีจ่ายยาเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ 13 พ.ย.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รับคำฟ้องของแพทยสภา กรณีการจ่ายยาตาม 16 กลุ่มอาการ โดยแพทยสภากังวลประเด็นจ่ายยาโดยไม่ตรวจวินิจฉัย
ขณะที่สภาเภสัชกรรม แจงผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊กว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.ยา และ พ.ร.บ.วิชาชีพ
ส่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ยืนยันประชาชนรับยาร้านยาใกล้บ้านได้ตามเดิม จนกว่าจะมีคำพิพากษา
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าว ว่า เรื่องนี้ สปสช.ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ไปแล้ว จากเดิมให้ผู้มีสิทธิบัตรทองใน 16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย แต่เมื่อตนมารับตำแหน่งก็มีการขยายเพิ่มเป็น 32 กลุ่มอาการ ซึ่งเมื่อมีเสียงคัดค้านก็คงต้องมีการหารือเพื่อหาทางแก้ไข โดยวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ ตนจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร หลังจากที่ศาลปกครองมีคำสั่งรับคำฟ้อง และต้องเตรียมพร้อมอย่างไรในอนาคต
โดยในวันเดียวกันนี้ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข กรรมการแพทยสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชัญวลี ศรีสุโข หมอหวิว ระบุว่า มีคำถามจากคุณหมอท่านหนึ่งมาว่า “การห้ามเภสัชจ่ายยาร้านขายยา เภสัชจะห้ามแพทย์จ่ายยาที่คลินิกหรือไม่” พร้อมชี้แจง ดังนี้
1. ใครจะไปห้ามเภสัชจ่ายยาร้านขายยา ตอนนี้เป็นเรื่องของการจ่ายเงินให้เภสัชฯ จ่ายยาโดย สปสช. ใน 32 กลุ่มอาการ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อประชาชน ทั้งกลุ่มอาการที่มากไปรวมถึงจำนวนยาที่มากไป ด้วยยานั้น หลายชนิดควรเป็น prescription drug ที่แพทย์ควรจะเป็นคนสั่ง หลังจากได้วินิจฉัยโรคแล้ว ซึ่ง กว่าจะวินิจฉัยได้บางอย่างต้องผ่านการ investigation (สอบสวนโรค) มาก่อน ตอนนี้คดี ว่าการจ่ายยาของเภสัชคลินิกชุมชนอบอุ่น โดยสปสช.จ่ายเงิน เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือไม่ กำลังอยู่ในศาลปกครองชั้นต้น
2. การจ่ายยาของแพทย์ในคลินิก โดยไม่มีเภสัชกร เป็นการกระทำที่ทำได้รองรับโดย พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 ในมาตรา 13 การประชุมล่าสุดของสภาเภสัช คงให้อำนาจการจ่ายยานอกจากเภสัชกรเฉพาะ 3 วิชาชีพหลักเช่นเดิม คือแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ โดยมีบันทึกดังนี้…
ส่วนวิชาชีพอื่นๆ เห็นตรงกันว่าไม่ควรให้อำนาจในการจ่ายยาเพิ่มเติม เนื่องจากอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ทั้งการหาประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยในการรับยาได้ ทั้งยังไม่สอดคล้อง และขัดต่อหลักการในแต่ละวิชาชีพ เนื่องจากแต่ละวิชาชีพในระบบสุขภาพ นอกจากแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์แล้ว ไม่ได้มีหน้าที่รักษาคนไข้ อาทิ พยาบาลมีหน้าที่ดูแลคนไข้ นักเทคนิกการแพทย์มีหน้าที่ตรวจสิ่งส่งตรวจ และนักกายภาพบำบัด มีหน้าที่บำบัดคนไข้โดยไม่ใช้ยา เป็นต้น จึงไม่เกี่ยวข้องกับการจ่ายยาแต่อย่างใด
สรุป การฟ้องร้อง สปสช.และสภาเภสัชฯ โดยแพทยสภา ไม่เกี่ยวกับการห้ามเภสัชจ่ายยาตามธรรมเนียมเดิมแม้แต่น้อย และไม่เกี่ยวข้องกับสภาเภสัชฯ จะมาห้ามแพทย์จ่ายยาที่คลินิกเช่นกัน
พญ.ชัญวลี ศรีสุโข กรรมการแพทยสภา
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า สำหรับการให้บริการ“ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย (Common Illnesses) เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการรับยาใกล้บ้านได้ เป็นความร่วมมือของ สปสช. และสภาเภสัชกรรมในการพัฒนาระบบและดึง 'ร้านยาคุณภาพ' ซึ่งเป็นร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่ผ่านการรับรองคุณภาพเข้าร่วมให้บริการประชาชน ตั้งต้น 500 กว่าแห่งเป็นกว่า 1 พันแห่ง โดยพื้นที่กทม.เข้าร่วมมากที่สุด ซึ่งได้เริ่มระบบบริการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 และมีการนำเข้าเป็นหนึ่งในการบริการรองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว อีกทั้ง ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา ยังได้ขยายการบริการเป็นเจ็บป่วยเล็กน้อยจาก 16 อาการ เป็น 32 อาการ
สำหรับ 32 กลุ่มอาการที่ร้านยา สามารถให้บริการแก่ผู้มีสิทธิบัตรทอง ที่เป็นไปตามแนวทาง และมาตรฐานการให้บริการทางเภสัชกรรมปฐมภูมิ โดยสภาเภสัชกรรม ประกอบด้วย
1.เวียนศีรษะ 2.ปวดหัว 3.ปวดข้อ/ปวดกล้ามเนื้อ 4.ปวดฟัน 5.ปวดประจำเดือน 6.ปวดท้อง 7.ท้องเสีย 8.ท้องผูก/ริดสีดวงทวาร 9.ปัสสาวะแสบขัด 10.ตกขาว
11.แผล 12.ผื่นผิวหนัง 13.อาการทางตา 14.อาการทางหู 15.ไข้ ไอ เจ็บคอ 16.ติดเชื้อโควิด 17.น้ำมูก คัดจมูก 18.มีแผลในปาก 19.ตุ่มน้ำใสที่ปาก 20.แผลน้ำร้อนลวกไม่รุนแรง
21.อาการคันผิวหนัง/ศีรษะ 22.อาการจากพยาธิ 23.อาการจากหิด เหา 24.ฝี หนองที่ผิวหนัง 25.อาการชา/เหน็บชา 26.อาการนอนไม่หลับ 27.เมารถ เมาเรือ 28.เบื่ออาหารโดยไม่มีโรคร่วม 29.คลื่นไส้ อาเจียน 30.อาการแพ้ยา/แพ้อาหารเล็กน้อย/แมลงกัดต่อย 31.อาการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ และ 32.เหงือกอักเสบ/มีกลิ่นปาก
ทั้งนี้ ปัจจุบันสปสช.จ่ายเงินให้ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ Common Illnesses หรือ เภสัชกรรมปฐมภูมิ คิดเป็น 180 บาทต่อครั้งที่มารับบริการ (pay per visit) ภายใต้เงื่อนไข คือ เภสัชกรต้องมีการซักประวัติ ให้คำแนะนำพร้อมจ่ายยา และต้องติดตามอาการภายหลังจ่ายยา 3 วัน ไม่เกิน 5 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นต้องส่งต่อระบบเครือข่ายศักยภาพสูงกว่าทันที
ประชาชนที่จะเข้าร่วมเพียงยื่นบัตรประชาชน และแจ้งอาการที่เข้าข่าย 32 อาการ โดยสามารถเข้ารับบริการร้านยาที่มีโลโก้ หรือติดสติกเกอร์ 30 บาทรักษาทุกที่ หรือ ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย