‘กรมโลกร้อน’ เปิดรับฟัง ‘ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ’ รอบ 2 เดินหน้าวางกลไกซื้อขายสิทธิฯ ‘ปล่อยก๊าซเรือนกระจก’-จัดเก็บ‘ภาษีคาร์บอน’
....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … หรือ ‘ร่าง พ.ร.บ.โลกร้อน’ เป็นครั้งที่ 2 หลังจากเมื่อวันที่ 23 ก.พ.-5 เม.ย.2567 ที่ กรมฯ ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ….มาแล้ว 1 ครั้ง
สำหรับร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ ฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย 202 มาตรา มีทั้งหมด 14 หมวด และบทเฉพาะกาล โดยมีสาระสำคัญ เช่น
หมวด 3 คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (ร่างมาตรา 10-18) กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ รวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ อาทิ พิจารณาเห็นชอบในการออกกฎหมายลำดับรองหรือหลักเกณฑ์ตามที่ พ.ร.บ.กำหนด เสนอแนะนโยบาย มาตรการ รวมถึงการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นต้น
หมวด 4 กองทุนภูมิอากาศ (ร่างมาตรา 19-37) กำหนดให้มีการจัดตั้ง ‘กองทุนภูมิอากาศ’ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ มุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เสมอภาคและเป็นธรรมฯ โดยรายได้ของกองทุนมาจากหลายแหล่ง เช่น เงินรายได้ที่เกิดขึ้นจากระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกฯ เงินอุดหนุนจากรัฐบาล เงินบริจาค และดอกผลจากการลงทุน
ทั้งนี้ กำหนดให้ ‘คณะกรรมการกองทุนภูมิอากาศ’ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน มีหน้าที่กำหนดนโยบายหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงิน การจัดสรรเงินทุน และการควบคุมการดำเนินงานของกองทุน โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกองทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งจัดตั้ง ‘สำนักงานกองทุนภูมิอากาศ’ ทำหน้าที่บริหารงานทั่วไป
หมวด 7 การลดก๊าซเรือนกระจก มาตรา 66-71 กำหนดคณะกรรมการนโยบายฯ ต้องจัดทำ ‘แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ’ ให้สอดคล้องกับแผนแม่บท โดยต้องคำนึงถึงนโยบายพัฒนาประเทศ ขีดความสามารถของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศ แผนนี้จะประกาศและเผยแพร่สู่สาธารณะ และหน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดในแผน
หมวด 8 ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรา 72-99 กำหนดให้มี ‘ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme)’ เพื่อเป็นกลไกภาคบังคับในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกำหนดเพดานในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกฯ และจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้แผนการจัดสรรสิทธิ ผ่านวิธีการให้เปล่าหรือ/และประมูล และมีมาตรการตรวจสอบและบทลงโทษกรณีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินสิทธิ
หมวด 9 กลไกการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน มาตรา 100-117 โดยเมื่อประเทศไทยมีการใช้กลไกราคาคาร์บอนทั้งระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาษีคาร์บอนตาม พ.ร.บ.นี้ อาจส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปต่างประเทศ หรือการนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศเข้ามาแทนที่สินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตภายในประเทศไทย เพราะความเข้มงวดของนโยบายหรือกฎหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน จึงกำหนดให้มีกลไกการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้าตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
หมวด 10 ภาษีคาร์บอน มาตรา 118-มาตรา 147 กำหนด ‘ภาษีคาร์บอน’ เพื่อเป็นกลไกภาคบังคับในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการกำหนดต้นทุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเงินภาษีและเรียกเก็บจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้าสินค้าที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการชำระภาษีจะขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้าที่ผลิตหรือนำเข้า ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินอัตราที่ระบุไว้ในบัญชีพิกัดอัตราภาษีท้าย พ.ร.บ.นี้
อาทิ เช่น น้ำมันเบนซินออกเทน 91 อัตราภาษีคาร์บอน ไม่เกิน 80 บาท/หน่วยสินค้า (1 หน่วยสินค้าเท่ากับ ลิตร เศษของลิตรให้นับเป็นหนึ่งลิตร) ,แก๊สโซฮอล์อี 10 ออกเทน 91 อัตราภาษีคาร์บอน ไม่เกิน 72 บาท/หน่วยสินค้า ,แก๊สโซฮอล์อี 20 อัตราภาษีคาร์บอน ไม่เกิน 64 บาท/หน่วยสินค้า ,น้ำมันอากาศยานเจท เอ 1 อัตราภาษีคาร์บอน ไม่เกิน 72 บาท/หน่วยสินค้า ,แก๊สโซฮอล์อี 20 อัตราภาษีคาร์บอน ไม่เกิน 100 บาท/หน่วยสินค้า
ดีเซลพื้นฐาน อัตราภาษีคาร์บอน ไม่เกิน 100 บาท/หน่วยสินค้า ,ดีเซลหมุนเร็ว บี 7 อัตราภาษีคาร์บอน ไม่เกิน 93 บาท/หน่วยสินค้า ,น้ำมันเตา อัตราภาษีคาร์บอน ไม่เกิน 120 บาท/หน่วยสินค้า ,แอลพีจี อัตราภาษีคาร์บอน ไม่เกิน 80 บาท/หน่วยสินค้า (กิโลกรัม เศษของกิโลกรัมให้นับเป็นหนึ่งกิโลกรัม) , ก๊าซธรรมชาติ อัตราภาษีคาร์บอน ไม่เกิน 80 บาท/หน่วยสินค้า และลิกไนต์ อัตราภาษีคาร์บอน ไม่เกิน 120 บาท/หน่วยสินค้า
“ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ ส่งเสริมการปรับตัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจัดตั้งกลไกสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนภูมิอากาศซึ่งมีแหล่งเงินทุนมาจากระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกลไกการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน โดยเงินทุนนี้จะนำไปใช้ในการส่งเสริมโครงการ พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศไทยให้มั่นคง
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ได้จัดตั้งระบบกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Mechanism) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จูงใจให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรับผิดชอบต้นทุนที่แท้จริงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักการ ‘ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย’ (Polluter Pays Principle) ผ่านการดำเนินการควบคู่กันของระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme-ETS) และการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax)
ทั้งนี้ ระบบ ETS จะกำหนดเพดานจำกัดสูงสุดของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละภาคส่วน ทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่ Carbon Tax กำหนดต้นทุนราคาที่ชัดเจนสำหรับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการดังกล่าวช่วยเสริมสร้างแรงจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์ และครอบคลุมในภาคส่วนที่แตกต่างกันเพื่อลดการซ้ำซ้อน
โดยยังมีการบังคับใช้กลไกราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism - CBAM) เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอนและรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดโลก” เป้าหมายของ ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ระบุ
อ่านเพิ่มเติม : การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. (ครั้งที่ 2)