‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี เผย เร่งตั้ง ‘คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฝ่ายไทย’ คาดเสร็จหลังกลับจากการประชุมเอเปค-กลางเดือนพฤศจิกายน 2567 เดินหน้าเจรจา ‘พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ฝ่ายไทย คาดว่า หลังตนกลับจากการเดินทางไปการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ในวันที่ 18 พฤศจิกายน การตั้งคณะกรรมการฯ จะเสร็จเรียบร้อย ซึ่งได้บอกกับฝ่ายกัมพูชาไปแล้วว่า การตั้งคณะกรรมการร่วมฯ จะเสร็จสิ้นประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อจะได้คุยกันทุกอย่างผ่านคณะกรรมการร่วมฯ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น เพราะทุกอย่างจะถูกตรวจสอบ ข้อมูลที่ประชาชนอยากได้ก็จะครบถ้วนมากขึ้น ดังนั้นการตั้งคณะกรรมการร่วมฯ คือสิ่งที่สำคัญที่ ที่ต้องเร่งที่สุด
นางสาวแพทองธารยังกล่าวถึงข้อสังเกตเรื่องบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2544 หรือ ‘MOU2544’ ไม่ได้ผ่านเข้าที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบและเรียกร้องให้ยกเลิก ว่า แม้ MOU2544 ไม่เข้าสภาก็จริง แต่ยังเป็นหลักยึดระหว่างไทยกับกัมพูชาที่จะตกลงร่วมกันในการเจรจา ไทยยังไม่ได้เสียเปรียบอะไร การขีดเส้นของทั้งสองประเทศไม่เหมือนกัน จึงเกิดเป็น MOU2544 ขึ้น เพื่อให้เกิดการเจรจา
“การคุยกันของทั้งสองประเทศสำคัญมาก ถ้ายกเลิกแล้วความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างไร ไม่ควรยกเลิกฝ่ายเดียว เพราะจะทำให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ”นางสาวแพทองธารกล่าว
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า ต้องรีบตั้งคณะกรรมการร่วมฯ ฝ่ายไทยก่อน เมื่อตั้งเรียบร้อยแล้วก็จะเริ่มต้นเจรจา ซึ่งมีส่วนที่ผูกพันกันสองส่วน คือ ผลประโยชน์ทางทะเลและเขตแดน