'รังสิมันต์ โรม' เผยกรณีสอบ 'ทักษิณ ชินวัตร' นอนรพ.ชั้น 14 ต้องใช้เวลาอีกนาน เหตุหน่วยงานไม่ให้ความร่วมมือ-ตั้งคำถามค่ารักษาพยาบาล 1 ล้านใครเป็นคนจ่าย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2567 นายรังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา กรณีการประชุมหารือการพักรักษาอาการป่วยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า แนวทางที่คณะกรรมาธิการฯกำลังตรวจสอบ ได้แก่ 1.นายทักษิณไปรักษาตัวเป็นกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2.การอยู่โรงพยาบาลจนได้รับการพักโทษ นายทักษิณอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 3.กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการที่นายทักษิณได้ออกไป ซึ่งในสองประเด็นแรกนั้นข้อมูลที่ได้รับยังไม่ชัดเจนเพียงพอ คำถามหลาย ๆ คำถามที่ทางกรรมาธิการพยายามถามในเรื่องนี้ ก็ไม่ได้รับคำตอบที่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการมีการกล่าวอ้างว่า นายทักษิณเจ็บป่วยด้วยอาการเจ็บหน้าอก แล้วไปสถานพยาบาล ซึ่งมีเพียงแค่พยาบาลในสถานพยาบาลได้พูดคุยผ่านทางโทรศัพท์กับหมอที่อยู่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ แล้วหมอไม่ได้มาดูเรื่องของสุขภาพหรือมาตรวจสุขภาพของนายทักษิณว่ามีความร้ายแรงอย่างไร เหล่านี้ทำให้เกิดความน่าสงสัยว่ามีความละเอียดรอบคอบแค่ไหน ในการดูสุขภาพของนายทักษิณ
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเราพิจารณาแล้วเราทราบว่าระยะเวลาที่นายทักษิณจะเดินทางจากสถานพยาบาลเพื่อไปโรงพยาบาลตำรวจโดยใช้เวลา 21 นาที เท่ากับว่าราชทัณฑ์ใช้เวลาในการตรวจสุขภาพจริง ๆ ของนายทักษิณ รวมถึงการอนุมัติให้ไปที่โรงพยาบาลตำรวจ ใช้เวลาแค่ 4 นาที
“เหล่านี้ค่อนข้างประหลาด มันดูเร็วได้ขนาดนั้น เราก็พยายามสอบถามเรื่องของไกด์ไลน์ต่าง ๆ เราก็ไม่ได้รับคำตอบ การถามชื่อหมอที่เป็นคนคุยสายกับทางพยาบาล ก็ไม่ได้รับคำตอบ โดยทางหน่วยงานขอชี้แจงเป็นหนังสือเท่านั้น ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องทำแบบนั้นเลย เราก็จะเห็นว่าการมาตอบคำถามครั้งนี้ของหน่วยงาน ไม่แน่ใจว่ามาเพื่อให้ข้อมูล หรือสุดท้ายต้องการจะทำให้เรื่องนี้ การตรวจสอบเรื่องนี้ไม่ได้รับข้อมูลอะไร” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นเรื่องรักษาตัว เป็นการอยู่โดยชอบหรือไม่ มีประเด็นน่าสงสัยเช่นกันคือ ตกลงแล้วใครเป็นคนตัดสินให้นายทักษิณอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เพราะทางโรงพยาบาลตำรวจก็เป็นคนบอกเองว่าเป็นราชทัณฑ์ ด้านราชทัณฑ์ก็บอกว่าหมอที่เป็นเจ้าของไข้ก็คือโรงพยาบาลตำรวจ สุดท้ายก็ไม่ได้ข้อสรุปอะไรว่าเรื่องนี้มีหมอหรือไม่ที่เป็นคนให้คำแนะนำว่านายทักษิณจะต้องอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ข้อมูลตรงนี้เราก็ไม่ได้อย่างชัดเจน
"การที่ไม่ได้ข้อมูบอย่างชัดเจน หมายความว่า เรื่องของนายทักษิณก็มีเงื่อนงำ สุดท้ายสังคมก็จะมองว่าเสแสร้ง ทำเป็นป่วยหรือไม่ เพื่อให้ตัวเองไม่อยู่ในเรือนจำ มากไปกว่านั้นก็มีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ การไปอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ ที่เป็นห้องที่ราคาแพง ซึ่งก็ไม่มีใครยืนยันได้ว่า ห้องที่นายทักษิณรักษาตัวเป็นห้องวีไอพีหรือไม่ แต่ว่าเรามีเลขานุการบางท่านให้ข้อมูลในทำนองว่าเป็นห้องที่น่าจะแพง เป็นห้องหรู แล้วก็ไม่มีคำปฏิเสธจากใครเลยที่มาชี้แจงในวันนี้ว่าไม่เป็นแบบนั้น ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะทำให้มีประเด็นต่อไปว่าใครเป็นคนจ่ายเงิน ซึ่งหลักการที่เราได้รับมาจากทางราชทัณฑ์ คือผู้ป่วยจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย เป็นไปได้ว่าเงิน 1 ล้านบาท ที่อาจจะเป็นค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลตำรวจสุดท้ายก็คือผู้เสียภาษีอย่างประชาชนเป็นคนจ่าย" นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า นอกจากนั้นก็ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น อดีตรองแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจที่พูดทำนองว่าเขาก็เกษียณไปแล้ว ไม่สามารถที่จะตอบและยืนยันเรื่องชั้น 14 ได้ เพราะเขาไม่เคยไปรักษา เป็นต้น ดังนั้นข้อมูลหลาย ๆ อย่างเราก็ต้องแสวงหากันต่อไป
เมื่อถามต่อว่าเรียกหน่วยงานใดมาสอบบ้างและมีผลอย่างไรบ้าง
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ผลของการเรียกก็ค่อนข้างยังน่าผิดหวัง เราไม่ได้สามารถได้รับข้อมูลอย่างเต็มที่ เท่าที่เราเรียกมาพบว่า หน่วยงานไม่ได้ให้ความร่วมมือขนาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ไม่ได้มาให้ข้อมูลกับเรา รวมถึงประธานอนุกรรมการกลั่นกรองจริยธรรมแพทยสภา ที่ติดภารกิจไม่สามารถมาได้ ก็ต้องมาดูอีกทีว่าจะนัดวันไหนอย่างไร
“ข้อมูลตอนนี้ยังไม่เพียงพอ แต่เราก็ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ ถ้าเรื่องของนายทักษิณเป็น protocol ก็ไม่ควรจะเป็นการเลือกปฏิบัติ เรื่องที่เกิดขึ้นกับนายทักษิณไม่ใช่วิสัยปกติที่เกิดกับคนทั่วไป” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ส่วนที่บุคคลเชิญให้มาให้ข้อมูล เช่น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ พล.ต.ท.สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงศ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ นายวัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของสส. เป็นต้น รวมถึงแพทย์หญิงที่ให้การรักษานายทักษิณในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่เราเชื่อว่าน่าจะเป็นคนคุยสายกับพยาบาล
“สรุปมาแค่ หมอวาโย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ พล.ต.ท.สรวุฒิ ตัวแทนของฝั่งราชทัณฑ์” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า จะมีการเรียกบุคคลอื่น ๆ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมแน่นอน เบื้องต้นก็จะแจ้งสื่อมวลชนให้ทราบ แต่ขอหารือก่อน ว่าจะต้องเชิญใครบ้าง นอกจากนี้ในประเด็นการสอบจะสรุปได้เมื่อไรนั้น ยังตอบไม่ได้ว่าจะสรุปได้เมื่อไร แต่จะพยายามให้เร็วที่สุด แต่น่าจะนานเพราะหน่วยงานไม่ค่อยให้ความร่วมมือ