ทอท.ปรับ TOR ระบบลำเลียงกระเป๋า ‘สุวรรณภูมิ’ เชื่อมตึก SAT-1 กับอาคารหลัก ‘กีรติ’ ชี้แก้จากระบบลำเลียงขาเดียวเป็นสองขา คาดใช้เงินลงทุน 3.8 พันล้าน เปิดประมูลเดือน มี.ค. 68 สร้าง 3 ปี พร้อมเผยแผนจัดหาผู้ให้บริการภาคพื้นดิน-คาร์โกใหม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยว่า ทอท.เตรียมเปิดประมูลระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระอาคาร SAT-1 เชื่อมกับอาคารผู้โดยสารหลัก ( Main Terminal) ซึ่งปัจจุบันมีระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ (ICS : Individual Carrier System) เฉพาะขาออกจาก Main Terminal ไปยัง อาคาร SAT-1 เท่านั้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงทีโออาร์ จากเดิมที่จะจัดทำระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระขาเข้าอย่างเดียว ซึ่งพบว่ามีเพียงรายเดียวในโลกที่ทำได้ ซึ่งจะต้องเจรจาและทำสัญญาจ้างตรงภายใต้งบประมาณหลายพันล้านบาท ซึ่งอาจไม่เหมาะสม
ดังนั้น แนวทางใหม่เพื่อให้มีการแข่งขันหลายราย จึงมีการปรับปรุงทีโออาร์ใหม่เพื่อให้ทำระบบ ลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ทั้งขาเข้าและขาออก ระหว่าง อาคารผู้โดยสารหลักและ SAT-1 ซึ่งจะทำให้มีผู้เข้าร่วมประมูลแข่งขันได้หลายรายภายใต้งบประมาณเดิมที่ 3,800 ล้านบาท โดยคาดว่าจะประมูลได้ในเดือนมี.ค. 2568 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี
“คือ ใช้งบเท่าเดิม แต่เปิดกว้างและมีระบบมากขึ้น ส่งผลให้มีเสถียรภาพในการให้บริการมากขึ้นเนื่องจากมีระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าขาออกเดิมแล้ว ยังจะมีระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าใหม่ที่มีทั้งขาเข้าและขาออก” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.กล่าว
@ปรับทีโออาร์ บริการภาคพื้นและคาร์โก้ รายที่ 3 “สุวรรณภูมิ”เปิดประมูลธ.ค. 67
นายกีรติ กล่าวว่า นอกจากนี้ทอท.ยังอยู่ระหว่างจัดทำร่างทีโออาร์ ในการคัดเลือกผู้ประกอบการจำนวน 2 โครงการ คือ โครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง รายที่ 3 และโครงการให้บริการคลังสินค้า (คาร์โก้) รายที่ 3 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามมาตรา 35 ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 ซึ่งคาดว่าจะสรุปร่างทีโออาร์แล้วเสร็จในกลางเดือน พ.ย. 2567 จากนั้นจะนำร่างทีโออาร์ประกาศในเวปไซด์ และเปิดประมูลได้ในต้นเดือนธ.ค. 2567 และพิจารณาข้อเสนอ ช่วงเดือน ธ.ค.2567- ม.ค. 2568 ได้ตัวผู้ชนะและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ คาดลงนามสัญญาภายในเดือนมี.ค. 2568 ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบรายที่3 จะเริ่มทำงานได้ไม่เกินเดือนมิ.ย. 2568
ในการจัดทำร่างทีโออาร์ที่ผ่านมา คณะกรรมการจัดทำร่างทีโออาร์ มีการพิจารณาในหลายมิติ เพื่อให้การประมูลเปิดกว้างมากที่สุด โดยให้ต่างชาติสามารถเข้าร่วมได้ ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพให้สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ด้วย จึงใช้เวลาพิจารณาร่างทีโออาร์นาน
ซึ่งเงื่อนไขของทีโออาร์ล่าสุด คาดว่าจะกำหนดหลักการให้ผู้ประกอบการไทยร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติที่มีผลงานและประสบการณ์ได้ โดยผู้ประกอบการไทยต้องเป็นแกนนำหลัก ในสัดส่วนเกิน 51% และใช้ผลงานของต่างชาติที่เป็นไปตามที่ทีโออาร์กำหนด ยื่นเป็นผลงานร่วมประมูลได้ เนื่องจากหากให้เฉพาะผู้ประกอบการไทยประมูล จะมีน้อยรายไป
กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
@ยันแก้สเปกเปิดกว้าง เลี่ยงครหาประเคนสัมปทาน AOTGA
นายกีรติกล่าวว่า สำหรับบริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด (บพท.) หรือ AOTGA ซึ่งเป็นบริษัทลูกของทอท.นั้น มีประสบการณ์และผลงานอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีต่างชาติร่วมด้วยหรือใช้ประสบการณ์จากต่างชาติ แต่การกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทไทย ร่วมกับต่างชาติและใช้ผลงานต่างชาติได้ เพื่อเป็นการเปิดกว้างและยังทำให้ผู้ประกอบการไทยอีกหลายรายสามารถเข้าร่วมประมูลได้
ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้ให้บริการภาคพื้นตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 2 ราย คือ 1. บมจ. การบินไทย (THAI) ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษในฐานะเป็นสายการบินแห่งชาติ 2. บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด (Bangkok Flight Services : BFS)
สำหรับโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) วงเงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท การออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว เพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 81,000 ตารางเมตร อยู่ระหว่างปรับปรุงTOR คาดเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบ การปรับปรุงแบบ คาดจะเปิดประมูลในเดือน ธ.ค.2567และเปิดประมูลเดือนม.ค.2568
ส่วนการทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อรองรับ 150 ล้านคน/ปี อยู่ระหว่างเตรียมจ้างที่ปรึกษา คาดว่าจะศึกษาภาพรวมแล้วเสร็จในเดือนเม.ย.2568 จากนั้นจะเป็นการออกแบบรายละเอียด อีกประมาณ 1 ปี
นายกีรติกล่าวว่า ในช่วงไฮซีซั่น ที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้นนั้นเมื่อมีการใช้ระบบ Biometric และ ตรวจคนเข้าเมืองอัตโนมัติ หรือ Auto Gate ทำให้ลดแถวคอยผู้โดยสารของผู้โดยสารต่างชาติจากเดิม30นาที ลดเหลือไม่เกิน3นาที และทำให้กระบวนการตังแต่ลงเครื่องบินจนถึงรับกระเป๋า จากเดิมนานสุด 50 นาทีเหลือนานสุดไม่เกิน 30 นาที เพราะเมื่อลดแถวคอยที่ ตม. ก็จะทำให้กระบวนการเร็วขึ้น จะเหลือเพียงคอขวดตรงจุดรับกระเป๋าเท่านั้น ซึ่งกำลังประมูลหาผู้ประกอบการรายที่ 3
ที่มาภาพปก: สำนักงานบริหารโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สกส.)