‘สศช.’ เผยปีงบ 69 รัฐบาลมีภาระต้องตั้ง ‘งบชำระหนี้’ เพิ่มขึ้นจากปีงบ 68 กว่า 22.6% แนะปรับลดขนาดการขาดดุลควบคู่จัดสรรงบชำระหนี้
..................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณฯ ใช้เป็นแนวทางประกอบการวางแผนการดำเนินงานและกำหนดแผนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ
อย่างไรก็ดี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. ในเรื่องดังกล่าว โดย สศช. มีข้อสังเกตว่า ในระยะปานกลาง แรงกดดันทางการคลังอยู่ในระดับสูงตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของภาระหนี้ภาครัฐ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2569 งบชำระหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 เทียบกับปึงบประมาณ พ.ศ.2568
ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการปรับลดขนาดการขาดดุลงบประมาณควบคู่กับการจัดสรรงบชำระหนี้ของรัฐบาล ให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้ที่ครบกำหนดชำระ ทั้งในส่วนของหนี้ของรัฐบาลและหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อดำเนินโครงการของรัฐ เพื่อลดภาระหนี้ภาครัฐที่อยู่ในระดับสูง และเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้เพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ครม.รับทราบข้อสังเกตของ สศช. และมอบหมายให้สำนักงบประมาณรับข้อสังเกตของ สศช. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ในปีงบประมาณ 2568 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ สำหรับเป็นรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ภาครัฐทั้งสิ้น 410,253.7 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 150,100 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4% ของงบประมาณ และรายจ่ายชำระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 260,153.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.9% ของงบประมาณ
ที่มา : งบประมาณฉบับประชาชน ปีงบประมาณ 2568 สำนักงบประมาณ
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ที่ ครม.เห็นชอบ ประกอบด้วย 7 ข้อ ได้แก่
1.มุ่งเน้นดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล นโยบายเร่งด่วน นโยบายระยะกลางและระยะยาว โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2566-2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่13 (พ.ศ.2566-2570) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2566-2570) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง ความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ รวมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรประมาณ
2จัดทำงบประมาณเพื่อสนับสนุนโอกาสในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาเร่งด่วน พร้อมกับสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมการวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต พร้อมทั้งวางยุทธศาสตร์ให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตทั้งอุตสาหกรรมและการเกษตร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส การดูแลคุณภาพชีวิตและความมั่นคง ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสวัสดิการที่เหมาะสม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการภาครัฐโดยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3.จัดทำงบประมาณโดยพิจารณาลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วนและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่หมดความจำเป็น หรือมีความสำคัญในระดับต่ำ โดยคำนึงถึงการใช้จ่ายงยงประมาณอย่างคุ้มค่า (Value for Money : VFM) ประหยัด (Economy) มีประสิทธิภาพ (Efficiency) และประสิทธิผล (Effectiveness) รวมถึงศักยภาพการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณในปีที่ผ่านมา
4.จัดทำแผนงาน/โครงการ โดยมีการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด ผลลัพธ์ที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ โดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อลดความซ้ำช้อน เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงประมาณ
5.จัดทำงบประมาณโดยพิจารณาให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน ทั้งเงินงบประมาณและนอกงบประมาณ โดยให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณานำเงินนอกงบประมาณ เช่น เงินรายได้ เงินสะสมคงเหลือ มาดำเนินภารกิจของหน่วยรับงบประมาณเป็นลำดับแรก รวมทั้งพิจารณาแหล่งเงินอื่นเพื่อดำเนินโครงการภาครัฐ เช่น เงินกู้ การร่วมทุนหว่างภาภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnerships-PPP) เพื่อลดภาระงบประมาณของประเทศ
6.ให้ความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณมิติพื้นที่ (Area) ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพื้นที่ ระดับภูมิภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด และท้องถิ่น ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือระหว่างราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนนโยบาย
7.ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 กฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างครบถ้วน
อ่านประกอบ :
33 บิ๊กโปรเจกต์ก่อหนี้ฯปีงบ 68 เช่า'อุปกรณ์เรียนฯ-รถเมล์ EV'-ทอ.ซื้อ'บ.ขับไล่' 2 หมื่นล.
ครม.อนุมัติก่อหนี้ผูกพันฯ‘รายการใหม่’ปีงบ 68 กว่า 1.6 พันโครงการ วงเงิน 3.52 แสนล้าน
ส่อง 22 บิ๊กโปรเจกต์ รัฐเคาะก่อหนี้ฯ1.6 แสนล. ผุดรันเวย์ 2 อู่ตะเภา-เช่าศูนย์ราชการ 30 ปี
โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 67 วงเงิน 3.48 ล้านล้าน
เปิดรายละเอียดงบปี 68 เทงบกลางฯ 1.52 แสนล.เติม‘หมื่นดิจิทัล’-หั่น‘มหาดไทย’ 5.6 หมื่นล้าน