สภากทม.ผ่านร่างข้อบัญญัติควบคุมการเลี้ยง-ปล่อยสัตว์ หลังรับฟังความเห็นหน่วยงานเกี่ยวข้องสถานบันการศึกษา-มูลนิธีดังเพียบ ระบุเพื่อประโยชน์ป้องกันอันตรายเชื้อโรคสร้างความเดือดร้อนรำคาญ บังคับเจ้าของต้องแจ้งจำนวน ให้ฝังไมโครชิปด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 30 ตุลาคม 2567 นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. ... ได้รายงานผลการพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ของคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สาม โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ประชุมครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม 2566 และได้มีการประชุมร่วมกันใช้เวลารวมทั้งสิ้น 20 ครั้ง
หลักการพิจารณานั้น คณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. ..... เริ่มจากชื่อร่าง หลักการ เหตุผล คําปรารภ และตัวร่างข้อบัญญัติเรียงตามลำดับจนจบ โดยอาศัยคำชี้แจงของข้าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกรรมการวิสามัญ ผู้เทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ ประกอบกับได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านระบบกลางทางกฎหมาย (http://www.law.go.th) และแอปพลิเคชัน Google Forms รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นเป็นหนังสือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่ กรุงเทพมหานคร สัตวแพทยสภา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบําบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย สัตวแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สํานักอนามัย กรุงเทพมหานคร มูลนิธิ The Voice (เสียงจากเรา) มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog Foundation) มูลนิธิ Just for Paws มูลนิธิแมวปันน้ำใจให้แมวจร องค์กรสวัสดิภาพสัตว์ The Hope Thailand องค์กร SOS Animal Thailand และสมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย)
ซึ่งความเห็นที่ได้คือ สมควรกำหนดเขตควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชน ป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์และเหตุเดือดร้อนรำคาญในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนกำหนดมาตรการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องตราเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ประกอบกับมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2538
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ร้านอาหารบางร้านเลี้ยงสุนัขจำนวนมากและมีการถ่ายมูลภายในร้าน จนมีกลิ่นเหม็นและส่งผลกระทบด้านมลภาวะไปถึงเพื่อนบ้าน จนมีการร้องเรียนไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนต้องร้องเรียนไปถึงสื่อมวลชน ซึ่งการร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมสัตว์เลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ฯ ครั้งนี้ มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเรื่องของพื้นที่บ้าน (ตร.วา/ตร.ม.) ต่อการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง 1 ตัว ในแต่ละประเภทสัตว์ และในปัจจุบันมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน หรือมีวิธีแก้ไขปัญหาสำหรับผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงเกินจำนวนและไม่สามารถดูแลสัตว์ได้ทั่วถึงหรือไม่อย่างไร
ด้านนายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก ตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดพื้นที่(ตร.วา/ตร.ม.) ต่อจำนวนสัตว์เลี้ยงแต่ละประเภทบางครั้งอาจเป็นข้อจำกัดและเป็นการริดรอนสิทธิสัตว์หรือไม่อย่างไร เพราะบางครั้งสัตว์ต้องอยู่เป็นคู่หรือต้องมีการผสมพันธุ์สัตว์
นภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. ...
@เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องจดแจ้งจำนวนสัตว์ที่มี - สัตว์เลี้ยงต้องฝังไมโครชิป
นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญฯ ชี้แจงว่า คณะกรรมการวิสามัญชุดนี้ได้พิจารณา มาอย่างถี่ถ้วนผ่านประชาพิจารณ์จากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศใช้ ผู้เลี้ยงสัตว์ต้องมีการจดแจ้งจำนวนสัตว์เลี้ยง แต่จะไม่มีบทลงโทษย้อนหลังหากสัตว์ที่เลี้ยงอยู่เดิมเกินจำนวน หลังจากที่พระราชบัญญัติประกาศออกไป แต่จะมีผลหลังจาก ประกาศแล้ว 360 วัน หากฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 หมวดที่ 8 ข้อ 34
และจะมีการใช้ข้อบังคับให้สุนัขและแมวต้องมีการฝังไมโครชิป เพื่อให้ทราบเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ต้องดูแลรับผิดชอบอีกด้วย ซึ่งจะลดและแก้ปัญหาสัตว์เลี้ยงสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น รวมถึงสำนักอนามัยมีหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการทำหมันสัตว์จรจัดในแต่ละพื้นที่เพื่อลดจำนวนสัตว์จรจัด และในส่วนของสุนัขที่มีความดุร้ายสร้างความเดือดร้อน หน่วยงานของกรุงเทพมหานครจะนำไปไว้ที่ศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัขกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตประเวศ ส่วนกรณีที่ต้องการเลี้ยงเป็นคู่เพื่อผสมพันธุ์สัตว์หรือประกอบธุรกิจนั้น สามารถขออนุญาตเพิ่มเติมได้ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข
“ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. ... ขอขอบคุณสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทุกท่าน เมื่อข้อบัญญัติฯ นี้ได้ประกาศใช้ จะสามารถแก้ไขปัญหาสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัด สัตว์ดุร้ายที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญในกรุงเทพมหานครได้ เพื่อทำให้กรุงเทพมหานครมีความปลอดภัยกับประชาชน” นายนภาพล กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. ... คณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณาแล้วมีการแก้ไขในข้อต่างๆ จากข้อบัญญัติเดิมเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับปัจจุบัน และสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว และจะส่งให้ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครพิจารณาดำเนินการต่อไป
ที่มาภาพปก: https://www.khaophuket.com/