ที่ประชุมสภาฯเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง 3 ฉบับ วาระแรกแล้ว ใช้ร่างของครม.เป็นหลัก ตั้งกมธ. 31 คน ‘พรรคประชาชน’ ดึง ‘ทีดีอาร์ไอ-วีระ ธีรภัทร’ ร่วมวง แปรญัตติ 15 วัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 30 ตุลาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 36 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ซึ่งมีการเสนอพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจำนวน 3 ร่าง ได้แก่ ร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.), ร่างของนางมนพร เจริญศรี (พรรคเพื่อไทย) และร่างของนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ (พรรคประชาชน)
โดยนายภราดร ปริศนานันทกุล สส.พรรคภูมิใจไทยในฐานรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ปรธานในที่ประชุม กล่าวว่า เนื่องจากการประชุมครั้งที่ 32 เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 67 ที่ประชุมให้นำร่างที่มีหลักการเดียวกันทั้ง 3 ฉบับมาพิจารณาพร้อมกัน โดยการประชุมครั้งนั้นทั้งผู้เสนอและสมาชิกได้อภิปรายกันไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นในการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการลงมติทั้ง 3 ร่าง
ด้านนางมนพร เจริญศรี สส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและตัวแทนของคณะรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมว่า ขอให้มีการรวมทั้ง 3 ร่าง โหวตลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบไปในคราวเดียว แล้วตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างทั้ง 3 ฉบับ โดยขอให้ใช้ร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก แต่นายภราดรตอบว่า ขอให้มีการลงคะแนนก่อนแล้วจึงหารือกัน
ต่อมาที่ประชุมสภาฯ สมาชิกแสดงตน 409 คน เห็นด้วย 405 คน และงดออกเสียง 4 คน เท่ากับว่าที่ประชุมสภาฯเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ....ทั้ง 3 ฉบับ โดยมีระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน และใช้ร่างของ และมีการเสนอรายชื่อกรรมาธิการจำนวน 31 คน แบ่งเป็นสัดส่วนคณะรัฐมนตรี 7 คน สส. 24 คน
@เปิดรายชื่อ 31 กรรมาธิการฯ
โดยสัดส่วนของคณะรัฐมนตรีประกอบด้วย 1.นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม 2. นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง 3. นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง 4. นางสาววิลลี่ อมราภรณ์ ผู้อำนวยการกองกฎหมายเทคโนโลยี และการคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 5.นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 6. นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ 7.นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ขณะที่กรรมาธิการในสัดส่วนของ สส. แบ่งเป็น พรรคประชาชน 7 คน ได้แก่ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.พรรคประชาชน, นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง สส.พรรคประชาชน, นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส.พรรคประชาชน, นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ สส.พรรคประชาชน, นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ, นางเกษราภรณ์ กังสมุทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรานส์ ไทย เรลเวย์ จำกัด และนายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย และนายวีระ ธีรภัทรานนท์ พิธีกรและผู้ดำเนินรายการวิทยุ
พรรคเพื่อไทย 7 คน ได้แก่ นายโกศล ปัทมะ สส.พรรคเพื่อไทย, นายพชร จันทรรวงทอง สส.พรรคเพื่อไทย, นายพนม โพธิ์แก้ว สส.พรรคเพื่อไทย, นายเชิงชาย ชาลีรินทร์ สส.พรรคเพื่อไทย, นายธนันท์วรุตม์ ลิ้มทรงพรต กรรมการบริหาร บริษัทศรีสมบูรณ์ กรุ๊ป, นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง และนายดำรง ประทีป ณ ถลาง กรรมการ บริษัท ไทยพัฒนา พีอี ไพพ์ จำกัด
พรรคภูมิใจไทย 3 คน ได้แก่ นางนันทนา สงฆ์ประชา สส.พรรคภูมิใจไทย, นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน สส.พรรคภูมิใจไทย และนายคารม พลพรกลาง อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
พรรคพลังประชารัฐ 2 คน ได้แก่ นายพัฒนา พร้อมพัฒน์ และนางสาวสิริพร อินทรธรรม
พรรครวมไทยสร้างชาติ 2 คน ได้แก่ นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.พรรครวมไทยสร้างชาติและนายเจือ ราชสีห์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน ได้แก่ นายอลงกรณ์ พลบุตร
พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน ได้แก่ นายอนุรักษ์ จุรีมาศ
พรรคประชาติ 1 คน ได้แก่ นายสุไลมาน บือแนปีแน