‘กกร.’ มอบ ‘สมุดปกขาว’ ให้ ‘นายกฯ’ เสนอรัฐบาลเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-เดินหน้าโครงการ ‘คนละครึ่ง’ พร้อมช่วยเจรจา ‘แบงก์’ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
.............................................
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ตัวแทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ,นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ,นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และนายสุธีร์ สธนสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงาน กกร. เข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ได้หารือแนวทางการส่งเสริมและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศร่วมกับ กกร. โดยนายกฯ ระบุว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนและรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน เพื่อนำไปปรับให้เข้ากับนโยบายของรัฐบาลต่อไป
“เป็นนิมิตหมายอันดีที่จะพบปะหารือกับคณะกรรมการร่วมเอกชนฯ ซึ่งจากการรับฟังครั้งก่อนได้รับประโยชน์และนำไปปรับปรุงในการบริหารงานของรัฐบาลได้อย่างมาก ซึ่งประเทศไทยประสบปัญหาศักยภาพการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเกิดหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น จึงต้องการให้ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันในทุกมิติ
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างหนี้เพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายหารายได้ใหม่ๆ เข้าประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ที่ผ่านมาไม่กี่เดือนรัฐบาลได้เร่งทำเรื่องซอฟพาวเวอร์ โดยได้ร่วมมือกับเอกชนจำนวนมากซึ่งถือเป็นภาคสำคัญในการทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งรัฐบาลและภาคเอกชนจะทำงานร่วมกันเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจต่อประชาชน” นายกฯ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายสนั่น ได้กล่าวกับนายกฯว่า เชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร พร้อมเสนอรายงานผลจากการระดมความเห็นจากตัวแทนภาคธุรกิจในสาขาต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลนำไปประกอบเป็นแนวทาง กำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ให้สอดรับกับสถานการณ์ของโลกและภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาว เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศโดยมีเป้าหมายไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน 4 ด้าน
ประกอบด้วย 1.การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 2.การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 3. การบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ และ 4.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นายสนั่น ยังขอให้รัฐบาลสนับสนุนส่งเสริมประชาชนที่ใช้รถเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถกระบะ ในการทำมาหากิน โดยขอให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน อาทิ การขยายเวลาการผ่อนชำระ การยกเว้นดอกเบี้ยปรับ ค่างวดรถที่ค้างชำระ และขอให้ผ่อนปรนในการยึดรถ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีรถใช้ทำมาหากินได้ต่อไป ส่วนด้านการท่องเที่ยวขอให้รัฐบาลเร่งประชาสัมพันธ์เทศกาลท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเฉพาะงานพืชสวนโลก ซึ่งจังหวัดอุดรธานีจะเป็นเจ้าภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ กกร.ขอให้รัฐบาลพิจารณา นโยบายนี้ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำมาต่อยอดเดินหน้าโครงการต่อไป เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและต่อพื้นที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ และขอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ พร้อมเสนอให้มีการพบปะหารือระหว่าง กกร. กับนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลทุกๆ 6 เดือน
ขณะที่นายเกรียงไกร เสนอรัฐบาลว่า ขอให้เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยเสนอให้รัฐบาลจัดทำโครงการ ”คนละครึ่ง” ต่อเนื่องจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เพื่อเป็นการกระตุ้นในระยะเร่งด่วน โดยเฉพาะต้นปีหน้านี้ ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน และเทศกาลสงกรานต์ เป็นช่วงที่ประชาชนต้องจับจ่ายซื้อของและเดินทางท่องเที่ยว พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลเร่งรัดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เร่งใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
นายจิรายุ กล่าวว่า นายกฯ กล่าวขอบคุณภาคเอกชนสำหรับข้อเสนอและแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยจะนำข้อเสนอไปพิจารณาและจะติดตามการดำเนินการตามนโยบายต่างๆ ในรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นของอดีตนายกฯนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ทำไว้ดีอยู่แล้ว ให้เกิดความต่อเนื่อง ไม่ให้สะดุด ในส่วนของกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดต้นทุนแฝงและกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจนั้น ขอให้ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาล ซึ่งพร้อมพิจารณาดำเนิน ทั้งนี้ นายกฯ ยังตอบรับข้อเสนอของภาคเอกชนในการพบปะหารือร่วมกันอย่างน้อย 6 เดือนอีกด้วย
รายงานแจ้งว่า ในการหารือครั้งนี้ กกร. ยังมอบ ‘สมุดปกขาว’ ให้นายกฯ โดย กกร.เสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เช่น การลดภาระค่าครองชีพ ควบคุมราคาสินค้า ตรึงราคาค่าไฟฟ้าและน้ำมันดีเซล ,การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และผลักดันการจัดตั้ง กรอ.พลังงาน และการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพุ่งเป้าไปยังกลุ่มเปราะบาง ส่วนกลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อ ให้เพิ่มกำลังซื้อในลักษณะ ‘โครงการคูณสอง’ ขณะที่กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ควรสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านมาตรการต่างๆ เช่น Easy-e-receipt
2.การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เช่น การเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ,การสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ และกองทุนต่างๆ ,การส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการ อาทิ มาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้ SME ทั้งกลุ่มที่มีปัญหาเครดิตบูโร และอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business และการเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลด้วยระบบ Corporate Digital ID เพื่อแก้ปัญหาบัญชีม้า
3.ด้านการบริหาตจัดการน้ำ เช่น การบูรณาการหน่วยงานของรัฐในการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาระบบแจ้งเตือนแบบ Real Time ,การผลักดันให้มีการพัฒนาและเชื่อมต่อแหล่งน้ำทั่วประเทศ และการผลักดันนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางการบริการจัดการน้ำ 4.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การผลักดันและขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่ EEC ,การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ และการปกป้องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมภายในประเทศ เป็นต้น