‘ก.พ.’ออกแนวปฏิบัติ กรณี ‘ข้าราชการพลเรือน’ ถูก ‘ป.ป.ช.’ชี้มูลความผิดฯ-‘ศาลอาญาคดีทุจริตฯ’ มีคำสั่งประทับฟ้อง ‘ผู้บังคับบัญชา’ ต้องสั่ง ‘พักราชการ-ให้ออกจากราชการไว้ก่อน’ ทันที หากศาลฯพิพากษาถึงที่สุดให้ ‘จำคุก’ หรือรับโทษหนักกว่า ถือเป็นความผิดวินัยฯด้วย
.......................................
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (เลขาธิการ ก.พ.) ได้ทำหนังสือที่ นร 1011/ว 22 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญหยุดปฏิบัติหน้าที่ ลงวันที่ 18 ต.ค. แจ้งไปยังกระทรวง กรม และจังหวัด เพื่อแจ้งแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญหยุดปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบประทับฟ้องในเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา
สำหรับหนังสือฉบับนี้มีเนื้อหาว่า ด้วยมีส่วนราชการหารือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 93 ประกอบมาตรา 81 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 กรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบประทับฟ้องในเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาว่า มีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เนื่องจาก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มิได้มีบทบัญญัติกำหนดให้ข้าราชการหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้
ก.พ. พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบประทับฟ้องข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จะต้องสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามมาตรา 93 ประกอบมาตรา 81 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นการนำบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยอนุโลม
แต่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มิได้มีบทบัญญัติที่กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญหยุดปฏิบัติหน้าที่ คงมีแต่กรณีที่คล้ายคลึงกัน คือ การพักราชการ หรือการให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรา 101 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ประกอบข้อ 78 ถึงข้อ 84 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 กรณีนี้ผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จึงต้องมีคำสั่งให้พักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งจะต้องสั่งให้มีผลเป็นปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ หากต่อมาศาลอาญาคดีพุจริตและประพฤติมิชอบได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือให้รับโทษที่หนักกว่าโทษจำคุก ก็จะเป็นความผิดวินัยตามมาตรา 85 (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551