‘รอง ผบช.ก.’ เผย ‘ปปป.’ ตั้งเรื่องสอบสวน ปมคลิปเสียงเรียกเงิน เหล่าบอส ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ พร้อมเรียก ‘พยานบุคคล’ ให้การ ขณะที่ ‘กฤษอนงค์’ ให้ปากคำแล้ว ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ด้าน DSI แจงข้อสงสัย ‘ทรัพย์สินปลอม’
................................
เมื่อวันที่ 23 ต.ค. พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) กล่าวถึงกรณีคลิปเสียงการเรียกรับเงินจาก นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ ‘บอสพอล ดิไอคอนกรุ๊ป’ ว่า หลังจากที่นายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความของบอสพอล เข้ามาหานั้น และได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี จากการพูดคุยกันพบว่ายังมีอีกหลายคลิปที่บรรดาบอสต่างๆ อัดคลิป พร้อมทั้งถ่ายภาพเก็บเอาไว้ เนื่องจากที่ผ่านมีนักร้องเรียนหลายรายที่เข้าไปก่อเหตุคล้ายๆกัน
โดยนายวิฑูรย์จะรวบรวมนำมามอบให้เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นก็จะต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์อีกครั้งว่า สามารถจะดำเนินคดีกับใครได้บ้าง ส่วนเรื่องนักร้องเรียนหญิง นั้น พนักงานสอบสวนกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) จะตั้งเรื่องสอบสวนพร้อมนำพยานบุคคลมาให้การยืนยัน ก่อนดำเนินคดีต่อไป
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานสอบสวน บก.ปปป. ได้เชิญ น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ เจ้าของเพจ ‘กฤษอนงค์ต้านโกง’ ที่ถูกพาดพิงตามที่ปรากฎคลิปเสียงการเรียกรับเงิน จำนวน 10 ล้านบาท จากนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล เข้ามาให้ข้อมูลในประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ทั้งเรื่องของคลิปเสียง และเรื่องเรียกรับผลประโยชน์ โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ เพราะเป็นเพียงการเชิญมาให้ข้อมูลเท่านั้น
ทั้งนี้ ภายหลังเข้าให้ปากคำแล้ว น.ส.กฤษอนงค์ พร้อมสามี ก็รีบหลบกลุ่มผู้สื่อข่าวที่มาดักรอกันเป็นจำนวนมาก ก่อนขึ้นรถขับออกไปจาก บช.ก.ทันที
สำหรับคดีของนักร้องเรียนที่เรียกรับผลประโยชน์จากนายวรัตน์พลนั้น มีรายงานว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างสอบปากคำพยานให้ครบถ้วน รวมถึงตรวจสอบเส้นทางการเงิน ก่อนที่จะพิจารณาขอหมายจับผู้ต้องหา ซึ่งน่าจะดำเนินการได้เร็วๆ นี้อีกด้วย ส่วนกรณีคลิปเสียงนักการเมือง ส. ตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น ทางตำรวจอยู่ระหว่างการประสานขอความร่วมมือ เพื่อจะเชิญมาให้ข้อมูลอีกด้วย
ด้าน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า จากปรากฏการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางสื่อสาธารณะว่าทรัพย์สินที่ได้จากการตรวจค้นห้องพักในซอยรามอินทรา 9 เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งแหล่งข่าวชี้ช่องเบาะแสว่าเป็นที่ซ่อนทรัพย์สินของกลุ่มผู้บริหารบริษัท ดิไอคอนฯ เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2567 จากการประเมินด้วยสายตามีความคิดเห็นว่าเป็นของปลอม และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษในการดำเนินการ นั้น
กรมสอบสวนคดีพิเศษขอชี้แจงว่าปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปภายใต้การสืบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ในความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินทางอาญา และความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และการเข้าตรวจค้นดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยแสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลและนำไปสู่การยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาลตามขั้นตอนของกฎหมาย
ส่วนสิ่งของที่ตรวจยึดมานั้น มีทั้งสิ่งของที่เป็นพยานหลักฐานและทรัพย์สินตามที่ได้ข้อมูลจากพยาน ซึ่งรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้สั่งการให้กองคดีทรัพย์สินทางปัญญาเชิญผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบตามขั้นตอนแล้ว
“กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอยืนยันว่าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ เมื่อได้ผลการตรวจสอบแล้วก็จะนำไปพิจารณาประกอบการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” เอกสารข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุ