ปปง.ยึดอายัดทรัพย์ 28.9 ล. ‘มาริษา โสมบ้านกวย’ กับพวก ฉ้อโกง 232.8 ล. อ้างเป็นทหารยศพันโท-ร้อยโท ดูแลพินัยกรรม 1,000 ล. จากกองทัพหลายหน่วยงาน ต้องจ่ายค่าหลักประกัน 235 ล. หากช่วยจะแบ่งให้ 300 ล. หลงเชื่อโอนให้ 601 ครั้ง 232.8 ล. ผู้เสียหายฟ้อง ศาลชั้นต้นจำคุก 1,356 ปี ลดโทษกึ่ง 678 ปี เหลือคนละ 20 ปี ให้คืนเงิน อุทธรณ์ยืน ฎีกากรรมเดียวคนละ 1 ปี 6 เดือน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรวมการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) มี คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 149 /2567 ยึดและอายัตทรัพย์สิน น.ส.มาริษา โสมบ้านกวย กับพวก 23,759,457.31 บาท เป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเนื่องมาจากคดีฉ้อโกงโดยร่วมกันหลอกลวงว่ามีบุคคลชื่อแพทย์หญิงสุวิภา ศรีภูมิเศรษฐ์ ที่อาสาไปทำงานที่จังหวัดยะลากับกองทัพบกเสียชีวิต ก่อนเสียชีวิตได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์มรดกตลอดจนสิทธิประโยชน์ในการรับเงินช่วยเหลือจากกองทัพบกและหน่วยงานต่าง ๆ เป็นเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ยกทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ให้นางสาวผาณิตา นารถไพรินทร์ ระหว่างรอการดำเนินการเปิดพินัยกรรมต้องวางเงินเป็นหลักประกันประมาณ 235 ล้านบาท
ขณะนั้นมีนายชัยชนะ จันทรา และนางสาวมาริษา โสมบ้านกวย แสดงตัวเป็นพันโท อนิรุทธิ์ สว่างอารมณ์ และร้อยโทหญิง รัตนา คงวิเศษ เจ้าหน้าที่ทหารประจำกองทัพบกมีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับพินัยกรรม หากผู้เสียหายช่วยเหลือด้านการเงินจะแบ่งเงินให้ 300 ล้านบาท เป็นค่าตอบแทนอันเป็นความเท็จ ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้ รวม 601 ครั้ง เป็นเงิน 232,896,736.80 บาท มีการดำเนินคดีที่ จ.นครปฐม ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีถึงที่สุด
ทรัพย์สินที่ยึดและอายัด 21 รายการ ราคา 23,759,457.31 บาท ประกอบด้วยที่ดิน 12 แปลง รถยนต์ 2 คัน และเงินในบัญชีเงินฝากในชื่อ น.ส.รัตติกร คชวงษ์ กับบุคคลอื่น 2 คน จำนวน 7 รายการ
การยึดและอายัดทรัพย์สินครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ก่อนหน้านี้คณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 165 /2567 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ยึดและอายัตทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ราย นางสาวมาริษา โสมบ้านกวย กับพวก มาแล้ว 6 รายการ ราคา 5,190,000 บาท เป็นรถยนต์ยี่ห้อพอร์ช และเมอร์ซิเดสเบนซ์ 2 คัน และ ชุดเลขทะเบียนรถยนต์ 4 รายการ ในชื่อ นางสาว รัตติกร คชวงษ์
รวมยึดและอายัดทรัพย์ 2 ครั้ง 27 รายการ ราคา 28,949,457 ล้านบาท
@ ที่มาในคดีอาญาฉ้อโกง-เหตุเกิด จ.นครปฐม
ทั้งนี้ คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 149 /2567 ยึดและอายัตทรัพย์สิน น.ส.มาริษา กับพวก มีรายละเอียดดังนี้
ด้วยสำนักงานป้องกันและปราบปรวมการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้รับเรื่องร้องเรียนตามหนังสือส่วนวิเคราะห์ข่าวกรองทางการเงิน กองข่าวกรองทางการเงิน ที่ ปง 0004.2/ล164 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 เรื่อง รายงานผลการดำเนินการและส่งข้อมูลการร้องเรียนผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กรณีนางสาวมาริษา โสมบ้านกวย และนางสาวรัตติกร คชวงษ์ มีพฤติการณ์เข้าข่ายฉ้อโกงอันเป็นปกติธุระ และตามหนังสือส่วนรับเรื่องราวร้องทุกข์ กองสื่อสารองค์กร ที่ ปง 0014.4/2180 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2561 โดยสำนักงาน ปปง. รับไว้ดำเนินการตามเลขรับที่ 17483 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กล่าวคือ
ศาลจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ อ 523/2562 หมายเลขเลขแดงที่ อ 1152/2562 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดนครปฐม โจทก์ นางสาวปาณิสรา ธนะสมานโชค โจทก์ร่วม นางสาวสุภิช นิมิตนิวัธ จำเลยที่ 1 นางสาวผาณิตา นารถไพรินทร์ จำเลยที่ 2 นายชัยชนะ จันทรา จำเลยที่ 3 และนางสาวมาริษา โสมบ้านกวย จำเลยที่ 4 เรื่องฉ้อโกง และในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 665/2562 หมายเลขแดงที่ อ 1152/2562 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดนครปฐม โจทก์ นางสาวปาณิสรา ธนะสมานโชค โจทก์ร่วม นางสาวรัตติกร คชวงษ์ จำเลย เรื่องฉ้อโกง ให้คดีทั้งสองสำนวนรวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน และเรียกนางสาวรัตติกร คชวงษ์ จำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 5
@ แสดงตนเป็นทหารดูแลเกี่ยวกับพินัยกรรม 1,000 ล. มีค่าเปิด 300 ล.
พฤติการณ์ของจำเลยทั้งหาโดยเจตนาทุจริตร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งหลายกรรมต่างกัน โดยร่วมกันทำอุบายให้นางสาวกุลจิตรี มังคลรังสี เพื่อนของนางสาวปาณิสรา ธนะสมานโชค ผู้เสียหาย แนะนำให้รู้จักกับจำเลยทั้งห้า พร้อมขอความช่วยเหลือด้านการเงิน ร่วมกันหลอกลวงว่ามีบุคคลชื่อแพทย์หญิงสุวิภา ศรีภูมิเศรษฐ์ ที่อาสาไปทำงานที่จังหวัดยะลากับกองทัพบกเสียชีวิต ก่อนเสียชีวิตได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์มรดกตลอดจนสิทธิประโยชน์ในการรับเงินช่วยเหลือจากกองทัพบกและหน่วยงานต่าง ๆ เป็นเงินประมาณ 1,000,000,000 บาท ยกทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ให้นางสาวผาณิตา นารถไพรินทร์ จำเลยที่ 2 ระหว่างรอการดำเนินการเปิดพินัยกรรมต้องวางเงินเป็นหลักประกันประมาณ 235,000,000 บาท ขณะนั้นมีนายชัยชนะ จันทรา จำเลยที่ 3 และนางสาวมาริษา โสมบ้านกวย จำเลยที่ 4 แสดงตัวเป็นพันโท อนิรุทธิ์ สว่างอารมณ์ และร้อยโทหญิง รัตนา คงวิเศษ เจ้าหน้าที่ทหารประจำกองทัพบกมีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับพินัยกรรม หากผู้เสียหายช่วยเหลือด้านการเงินจะแบ่งเงินให้ 300,000,000 บาท เป็นค่าตอบแทนอันเป็นความเท็จ
@ ผู้เสียหายโอน 601 ครั้ง 232.8 ล.
จำเลยทั้งห้าร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคลอื่นหลอกลวงจนผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้ รวม 601 ครั้ง เป็นเงิน 232,896,736.80 บาท จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธแต่ก่อนสืบพยาน นายชัยชนะ จันทรา จำเลยที่ 3 และนางสาวมาริษา โสมบ้านกวย จำเลยที่ 4 ขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ระหว่างพิจารณานางสาวปาณิสรา ธนะสมานโชค ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลอนุญาต นางสาวปาณิสรา ธนะสมานโชค โจทก์ร่วม ขอถอนคำร้องทุกข์สำหรับนางสาวสภิช นิมิตนิวัธ จำเลยที่ 1 นางสาวผาณิตา นารถไพรินทร์ จำเลยที่ 2 และนางสาวรัตติกร คชวงษ์ จำเลยที่ 5 ศาลอนุญาตให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ออกจากสารบบความ โจทก์ โจทก์ร่วม จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ติดใจสืบพยาน
@ รับสารภาพ ศาลชั้นต้นสั่งจำคุก 452 กระทง 1,356 ปี ลดโทษ 678 ปี ก่อนเหลือ คนละ 20 ปี ให้คืนเงิน 232.8 ล.
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดข้อหาฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น กฎหมายมิได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักว่านั้น เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดข้อหาดังกล่าวจริง ตามฟ้อง คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาว่า นายชัยชนะ จันทรา จำเลยที่ 3 และนางสาวมาริยา โสมบ้านกวย จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (1) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 รวม 452 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี เป็นจำคุกคนละ 1,356 ปี จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การ รับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 678 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงให้จำคุกคนละ 20 ปี ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันคืนเงิน 232,896,736.80 บาท แก่โจทก์ร่วม
@ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในคดีหมายเลขแดงที่ 1355/2563 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่ละครั้งเป็นความผิดสำเร็จเมื่อโจทก์ร่วมโอนเงินให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยหลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่ว่านางสาวผาณิตา นารถไพรินทร์ จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทของแพทย์หญิงสุวิภา ศรีภูมิเศรษฐ์ จะได้รับเงินตามพินัยกรรมแต่ละครั้งไป จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
@ ศาลฎีกาแก้เหลือโทษกรรมเดียว จำคุก 3 ปี ลดกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน
ศาลฎีกาในคดีหมายเลขแดงที่ 3124-3125/2564 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 342 (1) (เดิม) กับมาตรา 342 (1) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี เมื่อลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นางสาวมาริษา โสมบ้านกวย กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
@ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สิน
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหนาที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฬ่อกเงิน ลับ ที่ ม.599/2566 ลงวันที่ 25 กันยายน 2566 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ราย นางสาวมาริษา โสมบ้านกวย กับพวก และคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม.390/2567 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2567 เรื่อง มอบหมายพนักงาน เจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือพรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) รายนางสาวมาริษา โสมบ้านกวย กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว
ปรากฎหลักธานเป็นที่เชื่อได้ว่า นางสาวมาริษา โสมบ้านกวย กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทำอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลภารทำธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 21 รายการ พร้อมดอกผล
และเบื้องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีนี้ประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินตามโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฎหลักฐานในทางทะเบียนในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาจดำเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนได้ สังหาริมทรัพย์ประเภทรถยนต์ อันเป็น ทรัพย์สินที่ปรากฎหลักฐานในทางทะเบียนในการควบคุมการเสียภาษีหรือการเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าว โดยผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองอาจดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้โดยง่าย สังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร อันเป็นพรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดำเนินการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือช่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีกำลังสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สำนักงาน ปปง. อาจไม่สามารถ ติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นางสาวมาริษา โสมบ้านกวย กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้น ทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุมครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดำเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 21 รายการ พร้อมดอกผล กล่าวคือ มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สิน จำนวน 14 รายการ ได้แก่ รายการที่ 1 ถึงรายการที่ 14 และมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สิน จำนวน 7 รายการ ได้แก่ รายการที่ 15 ถึงรายการที่ 21 มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน)