‘แสวง บุญมี’ เลขาธิการ กกต. ตั้ง คกก.สอบสวน ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ครอบงำ เพื่อไทย - 6 พรรคร่วมรัฐบาล ชี้ คดีมีมูล ขีดเส้น 30 วัน ส่ง กกต.ชุุดใหญ่ ยื่น ศาลรัฐธรรมนูญ ‘ยุบพรรค’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 18 ตุลาคม 2567 เมื่อเร็วๆนี้นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จากเหตุนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการครอบงำ ชี้นำ และ 6 พรรคการเมืองยินยอมให้นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ โดยเห็นว่าคำร้องมีมูล และให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นเสนอ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ
รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีดังกล่าวมีผู้ร้องที่ถูกระบุว่าเป็น 1.บุคคลนิรนาม 2.น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี 3.นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และ 4.นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบชาว 2006 เป็นผู้ยื่นคำร้องอ้างถึงพฤติการณ์ของนายทักษิณ อาทิ
- การที่แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปร่วมประชุมกับนายทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาทวีสิน สิ้นสุดลง
- การให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณหลายครั้งเกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล
- การชี้นำพรรคเพื่อไทยในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล
- การนำวิสัยทัศน์ที่นายทักษิณได้แสดงไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค.67 มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล
รายงานข่าวระบุด้วยว่า โดยผู้ร้องเห็นว่าเข้าข่ายขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 29 ที่ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และการที่พรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็เข้าข่ายขัดพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ฯ มาตรา 28 ซึ่งหากการสอบสวนพบว่าเป็นความผิดก็จะเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอต่อกกต.ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง ฯ มาตรา 92 (3) ได้