บช.ก.แจงคืบหน้า ปคบ.สอบดิไอคอน เผย 10-13 ต.ค. สอบปากคำผู้เสียหายแล้ว 635 ราย สรุปความเสียหาย 232.4 ล้าน ส่วนยอดความเสียหายทั้งหมด 1,067 ราย มูลค่าความเสียหายรวม 378.2 ล้าน ด้าน 'บอย ปกรณ์' ขอโทษหลังให้ปากคำเหตุทำผู้เดือดร้อนจำนวนมาก ด้าน'วันนอร์' สั่งสภาสอบ เหตุคลิปเสียงแฉนักการเมือง ใช้ กมธ.เรียกเงินไอคอน เผยถ้าผิดจริงให้ตำรวจจัดการก่อน แต่ตอนนี้ต้องรอดูหลักฐาน ขณะ 'อี้ แทนคุณ' นำ 40 ผู้ต้องหาแจ้งความกองปราบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าข่าวความหน้าคดีฉ้อโกงดิไอคอนว่า เมื่อเวลา 15.20 น.ตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) หน่วยงานหลักที่รับผิดลอบคดี “ดิไอคอนกรุ๊ป” ได้เผยแพร่เอกสารประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าของคดีดังกล่าว ว่า ตั้งแต่วันที่ 10-13 ต.ค. ทางพนักงานสอบสวน บก.ปคบ.ได้ทำการสอบปากคำผู้เสียหายเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 635 ราย มูลค่าความเสียหายรวม 232.4 ล้านบาทเศษ
โดยเอกสารดังกล่าวยังได้ชี้แจงจำนวนยอดตัวเลขผู้เสียหาย และ ความเสียหายรวม ที่คาดเคลื่อนไปจากข้อมูลที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้ เป็นเพราะว่าผู้เสียหายบางรายขอเดินทางกลับไปแจ้งที่ภูมิลำเนา จึงมีการปรับปรุงตัวเลข ซึ่งขณะนี้คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเตรียมรับมอบคำให้การจากสถานีตำรวจทั่วประเทศเพื่อมาประกอบข้อมูลของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่คาดว่าจะส่งมาถึงในวันเปิดทำการวันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2567 ที่จะถึงนี้
ขณะเดียวกัน สำหรับยอดผู้เสียหายคดีดังกล่าวแบบเรียลไทม์วันนี้ (14 ต.ค.) ที่เข้าแจ้งความกับทางพนักงานสอบสวน บก.ปคบ. ขณะนี้ตัวเลขยอดจำนวนผู้เสียหาย อยู่ที่ 1,067 คน มูลค่าความเสียหายรวม 378.2 ล้านบาท
ด้านนายปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์หรือ “บอย ปกรณ์” ยกมือไหว้ขอโทษผู้เสียหาย พร้อมเปิดใจ หลังให้ปากคำนานกว่า 4 ชม. โดย บอย ปกรณ์ เปิดเผยว่า หลังเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน รู้สึกโล่งใจมากขึ้นแต่ไม่ได้สบายใจ ซึ่งตนได้ชี้แจงตามข้อเท็จจริงโดยมีเอกสารยืนยัน ยอมรับรู้สึกผิดที่มีส่วนทำให้มีผู้เดือดร้อนและเสียหายจำนวนมาก
ส่วนที่วันนี้ใช้เวลานาน เพราะต้องทำหลายอย่าง ทั้งเข้าให้ปากคำ รวมถึงนำเอกสารหนังสือสัญญาต่างๆทั้งหนังสือสัญญาจ้าง และหนังสือสัญญาที่ตัวเองขอยกเลิกสัญญาจ้าง และมีการลงบันทึกประจำวัน มาชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ อีกทั้งในวันนี้ตนยังได้ประสงค์แจ้งความในส่วนคดีของตัวเองอีกด้วย
เมื่อถามถึงกรณีได้ดูบอสพอลไปออกรายการโหนกระแสหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ได้ดูแล้วเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ทราบว่าที่พูดในรายการนั้นออกมาจากใจจริงหรือไม่ ขอไม่แสดงความคิดเห็น ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน และในส่วนของ 3 บอสดาราดัง ตนยังไม่ได้มีการพูดคุย แต่อยากฝากถึงดาราคนอื่นที่เคยร่วมงานหรือที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดิไอคอน อยากให้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง เพราะเชื่อว่าหลายท่านตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับตัวเอง ที่ทำไปโดยไม่ทราบและไม่มีเจตนา ซึ่งข้อมูลต่างๆจะเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีและผู้เสียหาย
ส่วนบอสต่างๆ ที่ไม่ใช่ดารา ตนอยากเรียนว่า “ทำอะไรรู้อยู่แก่ใจ ที่ผ่านมาอาจเคยเจอกัน แต่หลังจากนี้จะไม่ยุ่งเกี่ยว ส่วนเรื่องที่ตำรวจจะนัดหมายให้ตนมาเข้าพบอีกครั้งนั้น ตอนนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดวันที่นัดหมาย
อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 ต.ค. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กรณีคลิปเสียงที่มีนักการเมืองพยายามใช้กรรมาธิการเรียกรับเงินจากบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด รัฐสภาจะตรวจสอบอย่างไรเพราะไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้น ว่า ได้สั่งให้สภาตรวจสอบโดยด่วน เพราะมีเรื่องทำนองนี้เกิดมาแล้วต้องรีบแก้ไข
เมื่อถามว่ามีการตบทรัพย์แบบนี้ตลอด รัฐสภาทำอะไรได้บ้าง ประธานสภาฯ ระบุว่า เป็นเรื่องส่วนบุคคล สภาเวลาตั้งกรรมาธิการจะตั้งคนภายในตัวแทนรัฐบาลและบุคคลภายนอก ส่วนบุคคลภายนอกเสนอโดยพรรคการเมือง เราไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด แต่ถ้าพบเห็นหรือรับรู้ต้องแก้ไขให้บุคคลเหล่านั้นพ้นจากตำแหน่ง ต้องไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
ส่วนคำถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ในทางหลักการที่จะเรียกรับเงินหรือเคลียร์ในชั้นกรรมาธิการ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังเป็นข้อกล่าวหา ต้องสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง ไม่ยากหากมีผู้ได้รับความเสียหายมายืนยัน ฝ่ายเลขาธิการสภาจะเร่งดำเนินการให้ทันที เพราะนี่เป็นเรื่องความเชื่อถือสภาต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าเป็นที่พึ่งได้
“สภามีกรรมาธิการหลายชุด โดยเฉพาะกรรมาธิการวิสามัญ จะมีบุคคลภายนอกมาด้วย ส่วนมากเกิดจากคนภายนอกที่พรรคการเมืองทั้งหลายเสนอมา เราจะตรวจสอบให้ครบถ้วน ครั้งต่อไปจะต้องมีความระมัดระวัง มีการกลั่นกรองบุคคลที่จะเข้ามาในชั้นกรรมาธิการ แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องของผู้ติดตาม ไม่ใช่ตัวจริง อ้างว่าเป็นที่ปรึกษาก็ไปแสวงหาผลประโยชน์ หากประชาชนสงสัยขอให้ติดต่อกับสภาโดยตรง”
สำหรับบทลงโทษ ประธานสภาฯ ระบุว่า แม้ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แต่เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมาธิการ จะต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดการ เพราะการแอบอ้างและหาผลประโยชน์มีโทษกฎหมายอาญา แต่ขอให้แจ้งหลักฐานที่ชัดเจนก่อน
ต่อมาเมื่อเวลา 10.40 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม และ น.ส.ชลิดา หรือ ต้นอ้อ เป็นหนึ่ง พาผู้เสียหาย 40 ราย เดินทางเข้าแจ้งความเอาผิดบริษัท ดิไอ คอน กรุ๊ป
นายแทนคุณ เปิดเผยว่า ขณะนี้รวมผู้เสียหายจากทางตนได้กว่า 1,000 รายแล้ว โดยวันนี้พามา 40 ราย เพื่อเข้าแจ้งความ ความเสียหายหลักๆ มาจากการถูกหลอกให้ลงทุน ซึ่งมีผู้เสียหายบางรายที่เป็นแม่บ้านทำงานได้เงินวันละ 300 บาท ใช้เงินเก็บ 200,000 บาท ที่เก็บมา 19 ปี ไปร่วมลงทุน แต่กลับไม่สามารถทำเงินได้
นายณัฐนันท์ (นามสมมติ) อายุ 43 ปี หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนสู้เรื่องนี้มาตลอด ถึงขั้นไปถึงบริษัทดิ ไอคอน เพื่อไปไลฟ์ ต่อมาเดินทางไปแจ้งความที่ สน.บางเขน แต่ด้วยพยานหลักฐานไม่ชัดเจน ตำรวจแจ้งให้ตนไปหาข้อมูลมาเพิ่ม ตนจึงจะขอแค่ลงบันทึกประจำวัน แต่ตำรวจก็ไม่รับทำ ตนเสียเงินลงทุนไป 1 ล้านบาท โดยตนรู้ข้อมูลรายละเอียดมากกว่าคนอื่นในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถเปิดเผยตรงนี้ได้
สำหรับประเด็นที่ตำรวจไปค้นบ้านตนที่ จ.เชียงราย ตามที่มีการเผยแพร่ภาพผ่านโซเชียลนั้น ตำรวจอ้างว่ามีการแจ้งว่าที่บ้านตนมีอาวุธ เนื่องจากตนเคยมีการโพสต์เป็นการปะทะคารมกับทางบริษัท ดิ ไอคอน แต่หลังจากนั้นตนได้เข้าไปพบกับตำรวจเพื่อไปคุยเจรจา เจ้าหน้าที่ได้ตักเตือนเกี่ยวกับการโพสต์คลิปวิดีโอหรือข้อความข่มขู่ และแนะนำให้ตนไปใช้สิทธิดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบรูปหน้าของตนเองไปแปะอยู่ที่หน้าทางเข้า-ออกบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป ทำให้ตนถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายไปโดยปริยาย
ขณะที่ น.ส.ชลิดา ละมาตย์ หรือต้นอ้อเป็นหนึ่ง กล่าวว่า ฝากถึงสถานีตำรวจในพื้นที่ต่างจังหวัดว่าให้รับแจ้งความผู้เสียหายด้วย เพราะมีผู้เสียหายหลายรายติดต่อกับตนมาว่าทางสภ.ไม่รับแจ้งความและไล่ให้ผู้เสียหายมาแจ้งที่บก.ปคบ. ซึ่งขณะมีผู้เสียหายที่ลงทะเบียนในระบบมูลนิธิเป็นหนึ่งมีจำนวน 300 คน ความเสียหายประมาณ 150 ล้านบาท