เผยมติ ป.ป.ช.เสียงเอกฉันท์ ตีตกคดี 'จักรพันธ์ จันทนราช' อดีตรักษาการผอ.สถานศึกษาโรงเรียนเทศบาล 1 วัดศรีเมือง นครนายก - พวก จัดทำโครงการอาหารกลางวันนักเรียน ปี 2560 ส่อไปในทางทุจริต หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นพยานหลักฐานไม่เพียงพอฟังได้ว่ากระทำผิด สรุปผลปริมาณอาหารกลางวันเพียงพอต่อเด็ก ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ตกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ตีตกคดี นายจักรพันธ์ จันทนราช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองการศึกษา รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยสถานศึกษาโรงเรียนเทศบาล 1 วัดศรีเมือง และพวก จัดทำโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 1 วัดศรีเมือง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ประจำปีงบประมาณ 2560 ส่อไปในทางทุจริต
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นพยานหลักฐาน ยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่ากระทำผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป สรุปผลปริมาณอาหารกลางวันเพียงพอต่อนักเรียน
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 เวลา 11.30 น. โรงเรียนเทศบาล 1 วัดศรีเมือง จัดทำอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทาน ประกอบด้วยข้าวและกับข้าว 1 อย่าง คือ ผัดกะหล่ำปลีใส่หมู และผลไม้ 1 อย่าง คือ ฝรั่ง 1 ชิ้น เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารที่โรงเรียนทำขายให้กับนักเรียนที่ไม่มีสิทธิ์รับประทานอาหารกลางวันฟรีแล้วพบว่า ปริมาณกับข้าวแตกต่างกันมาก คือ ราคา 15 บาท มีกับข้าว 2 อย่าง และ 10 บาท มีกับข้าว 1 อย่างแต่ปริมาณมากกว่าราคา 20 บาท ที่ทำให้นักเรียนที่ได้รับสิทธิ์รับประทานฟรี และจากการสุ่มตรวจสอบรายการวัตถุดิบอาหารที่โรงเรียนจัดซื้อมาปรุงอาหารเอง พบว่า ที่ร้านจัดส่งและราคาที่ห้างแม็คโคร สาขานครนายก แตกต่างกันประมาณกิโลกรัมละ 10 - 36 บาท อีกทั้ง ปริมาณอาหารที่ร้านค้าส่งให้กับโรงเรียนก็มีรายการ ไม่ตรงกันกับรายการอาหารที่โรงเรียนกำหนด
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โรงเรียนเทศบาล 1 วัดศรีเมือง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ได้ดำเนินโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน โดยแนวทางการดำเนินการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า จะต้องดำเนินการในรูปแบบใด โรงเรียนสามารถ ดำเนินการโดยจัดซื้อวัตถุดิบมาเพื่อประกอบอาหาร หรือจ้างบุคคลเพื่อประกอบอาหาร หรือการจ้างเหมาประกอบอาหาร (ปรุงสำเร็จ) ก็ได้ ซึ่งโรงเรียนเทศบาล 1 (วัดศรีเมือง) ได้ดำเนินการโดยการจัดซื้อวัตถุดิบมาเพื่อประกอบอาหาร และให้บุคลากรในโรงเรียนจัดเวรเวียนกันมาประกอบอาหาร และมีผู้ปกครองนักเรียนมาช่วยในการประกอบอาหาร
เหตุผลในการเลือกดำเนินการในรูปแบบดังกล่าว เนื่องจากสามารถเลือกวัตถุดิบที่สดใหม่ ไม่ใส่สารกันบูดหรือสารจำพวกฟอร์มาลีน ไม่ใส่สี เป็นธรรมชาติของชนิดนั้น ๆ ไม่ราดน้ำยาที่เป็นอันตรายแก่การบริโภค นักเรียนได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายครบถ้วนเหมาะสมตามความต้องการของนักเรียน และสามารถจัดเพิ่มเติมให้นักเรียนได้ตามความต้องการในการรับประทานอาหารของแต่ละคน โดยดำเนินการจัดซื้อวัตถุดิบประเภทของสด ของแห้งหรือเครื่องปรุงต่าง ๆ มาประกอบอาหารสัปดาห์ละ 1 ครั้ง วัตถุดิบประเภทของสด กำหนดให้จัดส่งในตอนเช้าของทุกวัน เพื่อคงความสดใหม่ ไม่เน่าเสีย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักเรียน และได้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการนำเงินรายได้ของสถานศึกษาไปจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2551 หมวด 3 ข้อ 11 การสั่งซื้อหรือจ้างและการอนุมัติจ่ายเงินรายได้ของสถานศึกษาในแต่ละครั้งให้เป็นอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งและภายในวงเงิน (1) หัวหน้าสถานศึกษา ไม่เกิน 100,000 บาท (2) ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งบริหารท้องถิ่นมอบหมาย เกิน 100,000 บาทขึ้นไป โดยโรงเรียนดำเนินการปฏิบัติ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
กล่าวคือ มีการจัดซื้อด้วยวิธีตกลงราคา ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 13 โดยมีการจัดซื้อจากผู้ขายซึ่งมีร้านค้าในตลาดสดนครนายก และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุประกอบด้วยผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 - 5 ได้ทำการตรวจรับพัสดุ โดยเห็นว่า ถูกต้องครบถ้วน และได้ลงลายมือชื่อรับรองในใบตรวจรับพัสดุไว้เป็นหลักฐานตามระเบียบฯ ข้อ 64 จึงเห็นว่า ได้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการนำเงินรายได้ของสถานศึกษา ไปจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2551 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว กรณีตามคำกล่าวหา เนื่องจากผู้กล่าวหาอยากทราบว่า เด็กนักเรียนที่ได้รับสิทธิ์รับประทานอาหารกลางวันฟรีได้รับประทานอาหารในเมนูใดบ้าง แตกต่างกับเด็กนักเรียนโรงเรียนที่ไม่อยู่ในเขตเทศบาลฯ หรือไม่
ผู้กล่าวหาจึงได้ไปสังเกตการณ์ที่โรงเรียนเทศบาล 1 วัดศรีเมือง และในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 เวลา 11.30 น. โรงเรียนเทศบาล 1 วัดศรีเมือง ได้จัดทำอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทาน ประกอบด้วย ข้าว และกับข้าว 1 อย่าง คือ ผัดกะหล่ำปลีใส่หมู่ และผลไม้ 1 อย่าง คือ ฝรั่ง 1 ชิ้น ซึ่งเมื่อผู้กล่าวหาเปรียบเทียบกับอาหารที่โรงเรียนทำขายให้กับนักเรียนที่ไม่มีสิทธิ์รับประทานอาหารกลางวันฟรีแล้ว เห็นว่ามีปริมาณที่น้อย โดยได้ทำการถ่ายภาพถาดอาหารเป็นหลักฐานประกอบคำกล่าวหาจำนวน 1 ภาพ ซึ่งไม่ได้ระบุว่า เป็นการถ่ายภาพอาหารของนักเรียนบุคคลใด ชั้นเรียนใด วันที่ที่ระบุไว้ในภาพถ่ายระบุว่า เป็นการถ่ายภาพประมาณวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559 จึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวอ้าง
อีกทั้งตามข้อกล่าวหาระบุเพียงว่า การจัดทำอาหารกลางวันดังกล่าว มีปริมาณที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณอาหารที่โรงเรียนทำขายให้แก่นักเรียน ส่อไปในทางทุจริต โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่ามีพฤติการณ์ในการทุจริตอย่างไร กรณีจึงไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว มีการทุจริตหรือไม่ อย่างไร
ในทางไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้เป็นผู้กำหนดรายการอาหาร โดยใช้ระบบแนะนำสำรับอาหารสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch) เพื่อประมาณปริมาณอาหาร ค่าใช้จ่าย วัตถุดิบ ข้อมูลโภชนาการอาหาร ตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีการจัดมีการอบรม เพื่อเป็นแนวทางในการจัดสรรอาหารกลางวันให้แก่นักเรียน และใช้วิธีคำนวณตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร โดยขณะนั้นมีนักเรียนที่ได้รับจัดสรรรายละ 20 บาท จำนวน จำนวน 1,118 คน รวมงบประมาณในการจัดสรรอาหารสำหรับ 1 สัปดาห์ (5 วัน) จำนวนเงิน 111,800 บาท จึงประมาณการค่าใช้จ่ายและคำนวณปริมาณตามงบประมาณดังกล่าวนี้ ซึ่งในบางสัปดาห์อาจใช้งบประมาณไม่ถึงจำนวนที่คำนวณ แต่บางสัปดาห์อาจเกินกว่างบประมาณที่คำนวณไว้ ดังเช่นขณะเกิดเหตุโรงเรียนได้มีการจัดสรรอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน 1 สัปดาห์ คือวันที่ 1 - 4 พฤศจิกายน 2559 รวม 4 วัน งบประมาณรวม 89,440 บาท มีการจัดซื้อและเบิกจ่ายไปทั้งสิ้น 90,164.80 บาท จึงเป็นการถัวจ่ายเพื่อให้เพียงพอตลอดปีงบประมาณ และหากมีเงินเหลือ จะตกเป็นเงินรายได้สะสมของสถานศึกษา ตามระเบียบรายได้สถานศึกษา ฯ
เนื่องจากในบางครั้งมีกรณีที่เทศบาลฯ ประกาศหยุดเรียนเป็นกรณีพิเศษ เช่น นักเรียนเกิดโรคติดต่อ มือ เท้า ปาก หรือโรคติดต่ออื่น ๆ หรือกรณีที่โรงเรียนมีการจัดฝึกอบรม ศึกษาดูงานให้แก่คณะครู หรือรัฐบาลประกาศวันหยุดเป็นวันหยุดพิเศษอื่น ๆ หรือกรณีที่มีจำนวนนักเรียนลดลง เนื่องจากนักเรียนจบการศึกษา หรือกรณีย้าย
โดยเมื่อสิ้นปีงบประมาณ นางชนันรัตน์ วิจิตรโท ครูผู้ได้รับผิดชอบด้านงบประมาณ ได้จัดทำรายงานการเงินประจำปีรายงานต่อเทศบาลเมืองนครนายก ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โรงเรียนฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณรวม 4,472,000 บาท มีการใช้จ่ายไปทั้งสิ้นจำนวน 4,072,000 บาท คงเหลือเงินที่ตกเป็นเงินสะสมของโรงเรียนจำนวน 400,000 บาท ในส่วนการกล่าวหาว่า การจัดทำอาหารกลางวันมีปริมาณน้อย โดยกล่าวอ้างภาพถ่ายประกอบ คำกล่าวหาเพียง 1 ภาพ ซึ่งมีอาหารประกอบด้วย ผัดกะหล่ำปลีใส่หมู่ และผลไม้ 1 อย่าง คือ ฝรั่ง 1 ชิ้นตามทางไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โรงเรียนฯ ได้มีการจัดอาหารกลางวัน โดยเป็นการประกอบอาหาร และทำการตักแบ่งให้กับนักเรียนแต่ละห้อง มีการจัดอาหารเป็นข้าว กับข้าว และขนมหวานหรือผลไม้ ซึ่งในการตักอาหารให้กับเด็กนักเรียน ครูประจำชั้นจะทำการตักข้าว 1 ทัพพี อาหาร 1 ทัพพี
เมื่อเด็กรับประทานหมดสามารถเติมอาหารได้จนกว่าอาหารจะหมด หรือบางครั้งเด็กนักเรียนบางคนจะไม่ชอบอาหารบางเมนูที่โรงเรียนจัดทำ อาจจะขอรับอาหารในปริมาณน้อย โดยปัญหาของการจัดอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน คือ รสชาด และเมนูที่มีผักมากเกินไป เช่น แกงเทโพ แกงฟักทองไก่ ผัดผัก เนื่องจากโรงเรียนต้องประกอบอาหารตามโภชนาการเด็ก ซึ่งบางเมนูอาหารเด็กนักเรียนไม่ชอบ จะทำให้อาหารเหลือ หรือบางวันอาหารอร่อยถูกปาก เช่น เมนูข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ไก่ทอด เด็กนักเรียนจะชื่นชอบเป็นพิเศษ ในการจัดแต่ละครั้งอาหารจึงไม่เหลือ หรือไม่เพียงพอต่อวันตามปริมาณที่จัดให้ โดยพยานบุคคลที่ 3 - 7, 10 - 11 ต่างยืนยันว่า ปริมาณอาหารเพียงพอสำหรับเด็กนักเรียน และไม่เคยพบปัญหาว่าผู้ปกครองหรือนักเรียนแจ้งว่าอาหารที่โรงเรียนจัดให้ไม่เพียงพอแต่อย่างใด โดยเกี่ยวกับเรื่องโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนเทศบาล 1 วัดศรีเมือง
กลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำนครนายก ได้เคยเข้าทำการตรวจเยี่ยม ร่วมกับคณะกรรมการรชมรม STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดนครนายก ณ วันที่ 9 มีนาคม 2565 และมีรายงานสรุปได้ว่า ปริมาณอาหารกลางวันเพียงพอต่อนักเรียน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 95/2567 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง ว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น พยานหลักฐาน ยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 - 5 ได้กระทำผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป