'เผด็จ นุ้ยปรี' นายกอบจ.อุทัยธานี แจงปมไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ กรณีถู กป.ป.ช.ชี้มูลฐานละเลยปฏิบัติหน้าที่คดีก่อสร้างถนนลาดยาง ปี 2547 ชี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
จากกรณีเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2567 ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุทัยธานี นายเผด็จ นุ้ยปรี อดีตนายกอบจ.อุทัยธานี 4 สมัย ผู้สมัครเพียงรายเดียว ชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นนายกอบจ.ต่ออีกสมัย หลังจากก่อนหน้านี้ นายเผด็จ ได้ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ภายหลังจากที่ นายเผด็จ นุ้ยปรี ชนะการเลือกตั้ง เป็นนายกอบจ.อุทัยธานี คนใหม่ดังกล่าว มีผู้แจ้งเบาะแสโดยส่งเป็นหนังสือร้องเรียนมายังสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า ก่อนหน้านี้ นายเผด็จ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกอบจ.อุทัยธานี ในปี 2547 ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดฐานละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและมีมูลความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 กรณีการดำเนินการโครงการก่อสร้างถนนลาดยางเชื่อมถนนสายหลักสายบ้านหนองตะเคียน-บ้านบึงแวง อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีคำสั่งประทับรับฟ้อง ในชั้นต้นศาลยกฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 41/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อท 98/2565
หนังสือร้องเรียนดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า จากการชี้มูลดังกล่าว จังหวัดอุทัยธานี มีหนังสือลับ ที่ อน.0023.4/96 ลงวันที่ 3 มี.ค. 2560 ร้องขอสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อนำมาถอดถอนนายเผด็จออกจากตำแหน่ง ทางป.ป.ช.ตอบกลับมาว่า เนื่องจากนายเผด็จ ได้พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องส่งเรื่องไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 อีก ให้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการป.ป.ช. ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดทราบ โดยไม่ต้องส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
หนังสือร้องเรียนระบุอีกว่า นอกจากนี้คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็น เรื่องที่เสร็จ 1486/2565 กรณีผู้ถูกกล่าวหาซึ่งถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ประทับฟ้องในคดีอาญาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดโดยที่ผู้ถูกกล่าวหาได้พ้นจากตำแหน่งเดิมไปแล้ว และอยู่ระหว่างการดำรงตำแหน่งเดิมในวาระใหม่ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยผลของมาตรา 93 ประกอบมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
หนังสือร้องเรียนยังชี้ว่า อีกทั้งเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีหนังสือด่วยที่สุด มท 0804.3/ว1556 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด เรื่อง การดำเนินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีใจความสำคัญ คือ ขอแจ้งแนวทางปฏิบัติ กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น แล้วส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดําเนินคดีอาญา หากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้มีคําสั่งประทับรับฟ้อง หรือได้มีคําพิพากษาในคดีอาญาตามมติชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว แต่คดียังไม่ถึงที่สุด ให้ดําเนินการ ดังนี้
1.ให้บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอําเภอในฐานะผู้กํากับดูแล ตามกฎหมายทราบโดยด่วน ตามนัยหนังสือกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ น. 826/2482 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2482
2.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอําเภอในฐานะผู้กํากับดูแลตามกฎหมาย พิจารณากําชับ ให้บุคคลดังกล่าวหยุดปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด
3.บุคคลใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหรือจงใจปกปิดข้อเท็จจริงไม่รายงานการถูกฟ้องคดีอาญาตามข้อ 1 หรือไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 2 อาจเข้าข่ายเป็นการประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งนายอําเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดําเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แล้วรายงานผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาสั่งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตําแหน่งได้ ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 77 และมาตรา 79 พระราชบัญญัติ เทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73 และมาตรา 73/1 และพระราชบัญญัติสภาตําบล และองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 90/1 และมาตรา 92
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังนายเผด็จ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีการถูกชี้มูล และต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
นายเผด็จ ตอบว่า "กรณีที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลนั้น ศาลชั้นต้นยกฟ้องไปแล้ว คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ จึงไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะกรณีหนังสือของป.ป.ช.มี 2 กรณี 1.สั่งฟ้อง 2.มีคำพิพากษาตามมติที่ชี้มูล หมายถึง มติชี้มูลของป.ป.ช.ที่ชี้มูลว่าผิด ถ้าพิพากษาตามมติชี้มูลต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ผมไม่ได้พิพากษาตามมติชี้มูล ผมพิพากษายกฟ้อง"