ปลัดคมนาคม-อธิบดีขนส่ง แถลงคืบหน้ารถทัวร์ไฟไหม้ ชี้ผู้ประกอบการไม่นำรถเข้ามาตรวจหลังมีคำสั่ง ประสานตร.อายัดทั้ง 5 คัน พบพฤติการณ์ถอดถังแก๊สออก มีความผิดร้ายแรง พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ยัน 15 วันได้มาตรการเร่งด่วน วอนสื่ออย่าเพิ่งชี้ชัดใครถูกใครผิด ขอสอบก่อน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 3 ตุลาคม 2567 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าจากกรณีรถบัสทัศนศึกษาเกิดเหตุเพลิงไหม้
นายจิรุตม์กล่าวว่า เบื้องต้นพบว่า ผู้ประกอบการติดตั้งถังแก๊สธรรมชาติอัด หรือ Compressed Natural Gas (CNG) บนรถโดยสารที่เกิดเหตุเกินกว่าที่ขอจดทะเบียนไว้ ซึ่งขอไว้ 6 ถัง แต่ติดตั้งเพิ่มภายหลังเป็น 11 ถังจึงได้มอบหมายสำนักงานขนส่งจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งรถคันนี้จดทะเบียนอยู่และมีใบอนุญาตประกอบการขนส่ง จึงได้ออกคำสั่งนายทะเบียนเรียกรถที่อยู่ในใบอนุญาตประกอบการและรถเครือข่าย ซึ่งหมายถึงรถที่อาจจะมีใบอนุญาตประกอบการอื่นอีก 4-5 คันไม่รวมรถที่เกิดเหตุเข้ามาตรวจสอบ โดยการเรียกตรวจมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบว่า ถ้าพบเป็นรถที่ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด อาจจะมีการนำไปรับจ้างต่อ จะเกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน
@ประสาน ตร.อายัดรถแล้ว
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวต่อว่า หลังจากที่ออกประกาศไปแล้ว ทางเจ้าของรถไม่ได้นำรถทั้ง 4-5 คันมาตรวจสภาพ จากการติดตามผ่านระบบ GPS พบว่ามีการนำรถไปอยู่ที่จ.นครราชสีมาทั้งหมด และมีการนำถังแก๊สออกจากตัวรถ ดังนั้น จากพฤติกรรมดังกล่าว กรมได้แจ้งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่ออายัดรถไว้ เพราะเป็นคดีอาญาและเป็นความผิดทางกฎหมายอย่างร้ายแรง ซึ่งได้แจ้งไปยังพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รักษาราชการแทน ผบ.ตร. และพล.ต.ท.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผบช.ภ.1) แล้ว โดยจะให้ทางจำรวจเป็นผู้สืบสวนสอบสวนและติดตามรถดังกล่าวต่อไป
สภาพรถที่ถูกพบที่ จ.นครราชสีมา
@ตั้ง คกก.ล้อมคอก หาข้อเท็จจริง
ขณะที่นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ออกคำสั่งเรียกรถโดยสารจำนวน 13,226 คัน เข้ามาตรวจสอบภายใน 60 วัน และได้สั่งการให้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณามาตรการเชิงป้องกันสำหรับการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ เพื่อพิจารณาหามาตรการเชิงป้องกันในระบบรถโดยสารสาธารณะ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานฯ สภาวิศวกรมาช่วย มอบนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม มีตัวแทนจากกรมการขนส่งทางบก ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยเข้ามาพิจารณา
ทั้งนี้ สิ่งที่จะดำเนินการมีทั้งระยเร่งด่วนที่กำหนดเวลาให้เวลา 15 วัน เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่า อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากอะไร ระบบป้องกันเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่มีก็อาจจะต้องสร้างระบบป้องกันและเรียกมาติดตั้งให้เรียบร้อยก่อนอนุญาตให้ใช้ ส่วนในระยะยาว รถโดยสารสาธารณะต้องให้ความสำคัญทั้งการตรวจป้องกัน และตัวรถจะต้องปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัย นั่นคือภารกิจที่มอบหมายทั้งหมด
“รถที่จะใช้ในการโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะที่จะต้องใช้กับเด็กเล็ก มาตรฐานต้องสูงกว่าทั่วไป รายละเอียดทั้งหมดจะมีการลงรายละเอียดในการประชุมคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่ได้ตั้งไว้ ตอนนี้ คำสั่งออกแล้วคงจะเชิญประชุมทันที กระทรวงให้ความสำคัญ และไม่ได้ทำแบบไฟไหม้ฟาง ในระยะยาวต่อไปต้องดำเนินการอย่างไร? การบริหารรถต่างๆจะบริหารจัดการอย่างไร และที่สำคัญจะต้องไม่เกิดเหตุแบบนี้อีก ขอให้เวลากระทรวงทำงานนิดนึง” ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าว
@ยัน 15 วัน ได้มาตรการ
ด้านนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการ ขั้นแรกจะรวบรวมข้อเท็จจริงก่อนว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการในช่วง 15 วันแรก หลังจากนั้นจะดูว่าในระยะยาวรถโดยสารสาธารณะทั้งหมด จะต้องมีมาตรการอะไรบ้าง โดยเฉพาะในกรณีรถที่ใช้แก๊ส และรถที่บรรทุกเด็ก อาจจะต้องดูเรื่องอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ และอีกประเด็นคือ หากการใช้แก๊สมีผลเสียกับการใชรถโดยวสารสาธารณะ อาจจะต้องมีมาตรการนำไปสู่การพิจารณาความเหมาะสมต่อไปในอนาคต
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนที่ไปเจอรถที่หลบหนีไปยัง จ.นครราชสีมามีพฤติการณ์แบบใด และจะดำเนินการอย่างไร นายจิรุตม์กล่าวว่า เท่าที่มีรายงานคือ รถทั้ง 4-5 คันมีการถอดตัวถังแก๊สออก แสดงเจตนาไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยทางรักษาราชการแทน ผบ.ตร. มอบหมาย ผบช.ภ.1 ส่งคนลงไปและเพิ่มลงไปในสำนวนคดีแล้ว อยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ โดยรถที่อยู่บริษัท ชินบุตร จำกัด มี 2 คันรวมรถที่เกิดเหตุ แต่อีก 4-5 คันที่สั่งให้เอาเข้ามาตรวจไม่ได้อยู่ในบริษัทเดียวกัน แต่เป็นรถที่อยู่เครือข่ายครอบครัวเดียวกันเป็นเจ้าของ จึงเรียกให้เข้ามาตรวจสอบด้วย
จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)
@ขออย่าปรักปรำใครตอนนี้ ยังไม่ตอบ กรมตรวจทิพย์
เมื่อถามว่า รถที่เกิดเหตุเพิ่งผ่านการตรวจสภาพไม่นานนี้ แล้วภายหลังมีการติดตั้งถังแก๊สเพิ่มเติมอีก กรมได้ตรวจจริงหรือไม่ เพราะสังคมมองว่ากรมตรวจทิพย์ นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคมและโฆษกกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ ต้องรอการสืบสวนทางวิศวกรรมนิติเวช ข้อมูลต่างๆคณะกรรมการที่ตั้งไว้จะเป็นผู้ตรวจสอบทั้งในแง่กฎหมาย วิศวกรรม และคดีความ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมมุ่งมั่น เข้มงวด และกำชับทุกหน่วย ถ้าพบความผิดจะดำเนินคดีอย่างเต็มที่ และหากมีระเบียบ กฎเกณฑ์ใดหละหลวมก็จะดำเนินการแก้ไขต่อไป วันนี้อย่างเพิ่งไปปรักปรำใครเลย ขอให้ดูข้อมูลทั้งหมดก่อน
@ย้าย 2 เจ้าหน้าที่ ยังไม่ผิดวินัย ขอสอบสวนก่อน
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จากที่มีการสั่งย้ายหัวหน้าฝ่าย (นายช่างตรวจสภาพรถชำนาญงาน) และนายช่างตรวจสภาพรถชำนาญงาน ฝ่ายตรวจสภาพรถ สำนักงานขนส่งจังหวัดสิงห์บุรี ไปช่วยราชการ ณ กรมการขนส่งทางบก จะมีการสอบสวนทางวินัยอย่างไรหรือไม่ นายจิรุตม์กล่าวว่า คงต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริงก่อน เรื่องนี้มีกระบวนการหลักเกณฑ์ที่จะดำเนินการ ไม่ว่าจะผู้ประกอบการ เจ้าของรถ คนขับ ผู้จัดการด้านความปลอดภัย วิศกรผู้รับใบอนุญาตทดสอบ และเจ้าหน้าที่ข้าราชการ ทุกคนมีหน้าที่ต้องทำ ก็ต้องมาดูว่าใครได้ดำเนินการตามภาระหน้าที่และขั้นตอนทีระเบียบกำหนดหรือไม่ โดยการสอบสวนทางคดีอาญาจะส่งมอบพนักงานสอบสวนดำเนินการทั้งหมด
ส่วนกรมจะรับ 2 ส่วนคือ ทางปกครอง ถ้าผู้ประกอบการไม่ทำตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ก็มีโทษสูงสุด เพิกถอนใบอนุญาต วิศวกรถ้าพบว่าไม่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ โทษสูงสุดก็ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะถูกดำเนินการทางวินัย
@ชี้มีผู้จัดการด้านความปลอดภัยตรวจถี่
เมื่อถามต่อว่า จะเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบรถหรือไม่ เพราะตอนตรวจสอบครั้งแรกดูถูกต้อง และพอเวลาผ่านไปมีการดัดแปลงและเมื่อถึงรอบตรวจสอบค่อยถอดออกอีกครั้ง อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวว่า ปกติการตรวจสอบรถโดยสาร จะมีวงรอบตรวจสอบปีละ 2 ครั้ง โดยกำหนดให้เข้ามาตรวจทุกๆ 6 เดือน กรมเองก็ออกระเบียบเรื่องผู้จัดการด้านความปลอดภัยที่จะต้องไปดูเรื่องรถชนิดรายวันอยู่แล้ว ก่อนรถจะเข้าตรวจ