‘แบงก์ชาติ’ เปิดตัวโครงการ ‘Your Data’ จับมือ ‘หน่วยงานรัฐ-สถาบันการเงิน’ สร้างกลไก-กติกา ‘รับ-ส่งข้อมูลที่ประชาชนให้การ ‘ยิมยอม’ ใน 'ภาคการเงิน' ชี้ช่วยเพิ่มโอกาส ‘รายย่อย-SMEs’ เข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น หลัง ‘แบงก์ร’ มีข้อมูลประเมิน 'ความเสี่ยงสินเชื่อ' มากขึ้น
....................................
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดตัวโครงการ ‘Your Data ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนากลไกให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิส่ง ‘ข้อมูลของตน’ ที่อยู่กับผู้ให้บริการและหน่วยงานต่างๆ ไปยังผู้ให้บริการที่ตนต้องการใช้บริการ ผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวกและปลอดภัย เพื่อให้ได้รับบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์มากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงสินเชื่อและการบริหารจัดการทางการเงินที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล (personalized financial planning)
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวเปิดงานว่า ข้อมูลเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะติดเครื่องให้เทคโนโลยีดิจิทัลทำงานได้อย่างเต็มเครื่อง เต็มสูบ และเต็มศักยภาพ หากประชาชนและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลของตัวเองที่กระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆได้อย่างสะดวกและเป็นระบบผ่านช่องทางดิจิทัล ก็จะเป็นประโยชน์ในการนำข้อมูลมาใช้ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเอื้อต่อการวางแผนและบริหารจัดการชีวิตอีกด้วย
“หากภาครัฐมีข้อมูลที่ทำให้รู้จักและเข้าใจประชาชนว่า กลุ่มใด กลุ่มไหน มีลักษณะอย่างไร กลุ่มใดเดือดร้อน และต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบใด ก็จะสามารถออกแบบนโยบายที่จะช่วยเหลือประชาชนได้ตรงจุด จัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐจึงอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลของประชาชนและผู้ประกอบการที่ถูกเก็บอยู่ในหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ ในการยกระดับระบบเศรษฐกิจ การเงิน
ตั้งแต่การใช้ข้อมูลเพื่อทำนโยบายให้เหมาะสม ไปจนถึงการให้ประชาชนนำข้อมูลของตนเองไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น การบูรณาการข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนตามนโยบายของกระทรวงการคลัง ในการรวบรวมข้อมูลของประชาชนและผู้ประกอบการจากหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวง แล้วจัดทำเป็น Data Lake ที่จะช่วยให้ผู้ออกแบบนโยบาย เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้การทำนโยบายมีประสิทธิภาพและตรงจุดมากขึ้น” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า กระทรวงการคลัง และ ธปท.อยู่ระหว่างร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (NaCGA) เพื่อให้กลไกค้ำประกันของรัฐเพื่อโอกาสให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ทั้งนี้ การนำข้อมูลในมิติต่างๆของผู้ที่ต้องการใช้เงินทุน มาใช้ได้มากขึ้นนั้น จะทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงและให้การค้ำประกันแก่ลูกค้าทำได้ดีขึ้น
ส่วนในฝั่งประชาชนนั้น กรมสรรพากรได้ร่วมกับสถาบันการเงินจัดทำโครงการคัดแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ประชาชนสามารถยื่นขอข้อมูลการยื่นภาษีเงินได้ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น โดยได้เริ่มทดลองใช้งานแล้ว และคาดว่าจะใช้งานได้จริงในปี 2568
นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ได้จัดทำแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ที่สามารถรวบรวมข้อมูลของประชาชนจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆให้อยู่ในที่เดียว เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของตนเองและสามารถทำธุรกรรมกับภาครัฐได้สะดวก ผ่านแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ รวมถึงการลงทะเบียนเพื่อรับการช่วยเหลือต่างๆจากภาครัฐในอนาคต
“ในอนาคตข้อมูลถือเป็นหัวใจในการยกระดับการบริการทางเงิน โดยเฉพาะในบริบทปัจจุบันที่ประเทศไทยยังมีช่องว่างทางการเงินอยู่พอสมควร ทั้งในเรื่องการเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบของประชาชน และ SMEs การมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงเกินความเสี่ยงที่แท้จริงของผู้กู้ หรือแม้แต่การออมที่เพียงพอสำหรับการเกษียณอายุ การที่ข้อมูลไหลเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการทางการเงิน ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างทางการเงินที่สำคัญ
โดยเฉพาะในฝั่งผู้ให้บริการทางการเงิน หากข้อมูลที่มากพอ ก็จะช่วยให้การประเมินความเสี่ยงของลูกค้าได้แม่นยำขึ้น เมื่อสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น ก็จะกล้าปล่อยสินเชื่อให้แก่ประชาชนและ SMEs รายเล็ก ได้มากขึ้น และคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย อีกทั้งการมีข้อมูลที่ละเอียดและหลากหลายจะสามารถนำไปต่อยอด ออกแบบพัฒนา และเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละราย
ขณะที่ในฝั่งผู้ใช้บริการทางการเงิน โอกาสเข้าถึงการเงินในระบบจะมากขึ้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้ประจำ และ SMEs รายเล็ก ที่สถาบันการเงินระมัดระวังอย่างมากในการปล่อยสินเชื่อ เพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอต่อการประเมินความเสี่ยง และยังช่วยให้ผู้ใช้บริการฯ มีโอกาสได้รับบริการที่ตรงกับความต้องการและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์การออม ผลิตภัณฑ์ประกัน หรือบริการด้านการจัดการสินทรัพย์ส่วนบุคคล เป็นต้น” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า เนื่องจากในปัจจุบันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการยกระดับการบริการทางเงินยังอยู่กระจัดกระจายในหน่วยงานต่างๆ และยังขาดกลไกรับส่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ใช้และผู้ให้บริการทางการเงิน ไม่ใช่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้เต็มที่ ดังนั้น การจัดงานเปิดตัวโครงการ ‘Your Data ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์’ ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดกลไกที่จะช่วยให้ข้อมูลตามสิทธิของประชาชนและ SMEs ไหลเวียนได้ดีขึ้น
(พิชัย ชุณหวชิร)
ด้าน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การทำให้ข้อมูลตามสิทธิของประชาชนไหลเวียนได้สะดวก ปลอดภัย และไม่แพง จะเป็นจุดเปลี่ยนเกม และมีประโยชน์ไม่แพ้การนำระบบ Fast payment และพร้อมเพย์ มาใช้ในประเทศไทย เพราะจะทำให้เกิดบริการใหม่ๆจากการที่ข้อมูลไหลเวียนมากขึ้น แม้กระทั่งบริการทางเงินในปัจจุบันก็จะเปลี่ยนรูปแบบไป โดยจะมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น รวมทั้งตอบโจทย์ของประชาชนได้ดีขึ้น
“ยกตัวอย่าง เช่น ตอนขอสินเชื่อจากธนาคาร ก็ต้องรวบรวมเอกสารและข้อมูลต่างๆ บางทีเป็นดิจิทัล บางทีเป็นกระดาษ แล้วเอาไปยื่นกับผู้ให้สินเชื่อ ไปที่หนึ่ง ต้องรวบรวมเอกสารแบบหนึ่ง ไปอีกที่หนึ่ง ก็ต้องรวบรวมเอกสารในเนื้อหาที่ต่างกันไป แต่ถ้าข้อมูลของเราที่อยู่ตามที่ต่างๆ มันสามารถไหลได้ตามสิทธิของเรา ตามที่เราให้ความยินยอม ก็โอกาสที่เราจะเห็นบริการใหม่ๆ เช่น มีคนรวบรวมข้อมูลพวกนี้ของเรา
แล้วคนที่อยากจะให้สินเชื่อ ก็มาดูว่าลูกค้าเป็นอย่างนี้ ข้อมูลเป็นอย่างนี้ ก็ offer (เสนอ) เงื่อนไขการกู้ยืมว่าเป็นอย่างนี้ ซึ่งผู้กู้ก็มีสิทธิเทียบ หรือเลือกบริการได้สะดวกขึ้น อาจจะได้เงื่อนไขที่ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น หรือแม้กระทั่งการเสนอบริการในรูปแบบอื่นๆ เช่น การงานแผนทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันข้อมูลของเราอยู่หลากหลายที่ บัญชีเงินฝากอยู่ที่หนึ่ง บัญชีหลักทรัพย์อยู่อีกที่หนึ่ง บัญชีประกัน และข้อมูลรายรับรายจ่ายของเรา ก็อยู่อีกที่หนึ่ง
ถ้าเอามารวมด้วยกันได้ โอกาสที่ใครจะให้บริการช่วยวางแผนจัดการเรื่องการลงทุน เรื่องการออม ก็จะสูงขึ้น นี่เป็นตัวอย่าง ที่ทำให้เราคิดว่าการทำให้ข้อมูลมัน flow จะโอกาสที่เป็น Game Changer สำหรับไทย ถ้าถามว่าภาพนี้ไหลเกินฝันหรือเปล่า ก็ตอบว่า ไม่ ในต่างประเทศก็เห็นว่าเขาทำกัน และไม่ใช่เฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างอังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดีย บราซิล ก็มีการทำเรื่องพวกนี้ให้เกิดขึ้น” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย หากต้องการทำให้ข้อมูลเหล่านี้ไหลเวียนได้ ในขณะที่ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในหลากหลายที่และเชื่อมต่อกันไม่ได้ สิ่งจำเป็นที่ต้องทำ คือ ต้องสร้างกลไกที่จะเอื้อให้เกิดการรับส่งข้อมูลได้อย่างสะดวก ซึ่งต้องมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.การเก็บข้อมูลต้องอยู่ในรูปแบบดิจิทัล 2.ต้องมีมาตรฐานกลาง เช่น มาตรฐานข้อมูล และมาตรฐานด้านความปลอดภัย เป็นต้น และ 3.การมีกติกาในเรื่องความปลอดภัยต่างๆ
“หลักการสำคัญในการทำเรื่องนี้ คือ ข้อมูลนี้เป็นของเรา เรามีสิทธิในการใช้ข้อมูล ถึงแม้ว่าข้อมูลนั้นจะอยู่ในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือผู้ให้บริการต่างๆ ตอนนี้เรามีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ที่ระบุสิทธิในเรื่องพวกนี้ และเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเอาไว้ เราจึงสามารถนำข้อมูลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ตามความต้องการและความยินยอมของเรา” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การเปิดให้มีการไหลเวียนของข้อมูลตามความยินยอม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง Open data ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย นั้น จะช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและเป็น pain point ที่อยู่กับระบบการเงินไทยมานาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ที่สูง ซึ่งการทำเรื่อง Open data หรือการทำให้ข้อมูลไหลเวียนได้ จะลดต้นทุนการดำเนินงานได้ และช่วยประเมินความเสี่ยงที่ถูกต้องและลดต้นทุนความเสี่ยง (credit cost) ได้
รวมทั้งยังช่วยให้ SMEs และรายย่อย สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เนื่องจากมีข้อมูลในการประกอบการติดสินใจให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ธปท. คาดว่าจะออกหลักเกณฑ์กำหนดกติกา สำหรับกลไกรับส่งข้อมูลในภาคสถาบันการเงินในช่วงครึ่งแรกปี 2568 และทยอยประกาศใช้มาตรฐานในปี 2568 โดยผู้ใช้บริการสามารถเริ่มใช้สิทธิส่งข้อมูลได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2569 ส่วนการใช้สิทธิส่งข้อมูลที่อยู่นอกภาคการเงิน คาดว่าผู้ใช้บริการจะเริ่มนำข้อมูลแบบภาษีและการใช้และชำระค่าไฟฟ้าและประปามาใช้ประโยชน์ได้ในปี 2568
(เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ)
ขณะที่ นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ได้ขับเคลื่อนแนวทางการเปิดกว้างการเข้าถึงข้อมูลในธุรกิจประกันภัย (Open Insurance) ต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนากลไกรองรับสิทธิของลูกค้าจะเป็นอีกก้าวสำคัญของภาคการเงิน ที่จะทำให้การนำข้อมูลใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้ทันสมัยและเกิดนวัตกรรม ทำให้ผู้บริโภคเลือกบริการที่เหมาะสมกับตนเองและวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต. จะพัฒนากรอบกฎหมายให้เอื้อต่อการรับส่งข้อมูลได้อย่างปลอดภัย มีการคุ้มครองผู้ลงทุน และมีความยืดหยุ่นเพื่อไม่ปิดกั้นนวัตกรรมหรือเป็นอุปสรรคต่อการเข้าร่วมโครงการ ควบคู่ไปกับความร่วมมือจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อพัฒนามาตรฐานและแนวปฏิบัติที่จะใช้ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการในภาคตลาดทุนและมีทางเลือกการลงทุนมากขึ้น รวมถึงผู้ลงทุนจะเห็นบัญชีการลงทุนของตนที่อยู่กับผู้ให้บริการต่างๆ ในภาพรวมได้
"โครงการนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาตลาดทุนให้ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนในการสร้างสุขภาวะทางการเงินที่ดี หรือ financial well-being โดยเป็นการสร้างกลไกให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเดิมของตนเองเพื่อเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกขึ้น หรือรวมข้อมูลสถานะการเงินการลงทุนเพื่อนำไปบริหารจัดการทางการเงินของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก.ล.ต. จะร่วมกับภาคธุรกิจเพื่อกำหนดรูปแบบ มาตรฐานของข้อมูล
รวมถึงระบบเชื่อมโยงข้อมูล และส่งเสริมให้เกิด aggregator ที่ช่วยรวบรวม จัดประเภท วิเคราะห์ วางแผนการลงทุนและให้คำแนะนำ เพื่อนำไปสู่การลงทุนหรือการจัดการลงทุนที่ตรงกับความต้องการและเป้าหมายของผู้ลงทุน อันจะช่วยเสริมสร้างความสามารถจัดการลงทุนและการบริหารจัดการด้านการเงินของผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยเพิ่มความมั่งคั่งได้อย่างเหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการ" นางวรัชญา กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ภายในงานเปิดตัวโครงการฯ ผู้ให้บริการในภาคการเงิน ได้แก่ บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัด ,ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ,สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ,สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ,บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้นำเสนอแนวคิดและตัวอย่างบริการทางการเงินที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น หากมีกลไกให้ผู้ใช้บริการใช้สิทธิส่งข้อมูลตนเองได้
ได้แก่ การขอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่งสามารถส่งข้อมูลที่หลากหลายจากต้นทางมาประกอบการขอสินเชื่อ และทราบผลอนุมัติภายในไม่กี่นาที โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่เคยถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อจากธนาคารหรือเคยขอสินเชื่อนอกระบบ การรวมศูนย์การบริหารจัดการและวางแผนทางการเงิน ซึ่งลูกค้าสามารถบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สินได้ในที่เดียว ทั้งการออมการลงทุน การบริหารค่าใช้จ่าย และการบริหารหนี้สิน
รวมถึงการนำเสนอประกันภัยที่เหมาะสมกับลักษณะของลูกค้า ซึ่งให้ความคุ้มครองตามมูลค่าเงินฝากหรือทรัพย์สินของลูกค้า และการพัฒนาบริการสำหรับลูกค้านิติบุคคล เพื่อรองรับการให้สินเชื่อและการบริหารจัดการทางการเงิน เป็นต้น