สส.เพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามปมยาเสพติด รมว.สธ.เร่งเพิ่มเตียงผู้ป่วยยาเสพติด ลั่นไม่เกิน 3 ปี คนค้ายาถูกจับหมด เชื่อหากยึดทรัพย์ผู้ค้ามากขึ้น ผู้ป่วยจะน้อยลง ด้าน ปธ.สภาจี้รัฐฐเร่งปราบใน 6 เดือน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามทั่วไปเรื่อง ขอให้แก้ไขปัญหาศูนย์บำบัดยาเสพติดไม่เพียงพอต่อการรักษา ของนายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ สส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ถาม รมว.สาธารณสุข ว่า เนื่องจากผู้เสพ ผู้ค้ายา มีมากขึ้นทุกวัน สะสมมานานเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พยาบาล อสม. ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวช เพราะผู้เสพยาบ้าเกิดอาการคลุ้มคลั่ง ตำรวจจับผู้เสพยาไปวันเดียวก็ปล่อย ทหารก็ดูแลเฉพาะทหารเกณฑ์ที่ติดยาเสพติด
นายภูมิพัฒน์ กล่าวว่า ผู้ติดยาเสพติดมีจำนวนมาก แต่มีหลายหน่วยงานที่ไม่ยอมรับไปดูแล เพราะขาดบุคลากร จึงอยากให้ทางกระทรวงสาธารณสุขเพิ่ม หมอ พยาบาลด้านจิตเวช เจ้าหน้าที่ บุคคลกร อสม.ได้ดูแลคนป่วยยาเสพติด และให้อสม.ตรวจสอบผู้เสพ ผู้ขาย ในหมู่บ้านและรักษาทุกคนที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมทั้งรักษาที่บ้านของผู้ติดยาเสพติดได้เอง
ขอให้รัฐบาลยึดทรัพย์ผู้ค้าทั้งหมด เพราะผู้ค้ายาเสพติดในหมู่บ้านยังมีจำนวนมาก เขาไม่กลัวกฎหมายเพราะกฎหมายอ่อน
“มีการร้องเรียนจากผู้นำหมู่บ้านว่า ในหมู่บ้านมียาบ้ามาก ผู้ค้า ผู้ขาย ผู้ส่ง คือตำรวจ โดยเฉพาะตำรวจฝ่ายสืบสวนเป็นผู้ส่งยาบ้าเอง ซึ่งเป็นปัญหาว่าตำรวจเป็นผู้นำของกลางมาค้าขายเอง และจับผู้ค้ายาบ้าไป บางคนก็เรียกรับเงิน 7,000-8,000 บาทแล้วก็ปล่อย มีการร้องเรียนกันมาทั่วประเทศ สส.ทุกคนพูดตรงกัน และปัญหาก็แก้ไม่ได้ จึงอยากถามว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะป้องกันปราบปรามบำบัดผู้ติดยาเสพติด และใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อปราบปรามยาบ้าให้หมดไปได้อย่างไร และจะมีศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดเพียงพอทั่วประเทศหรือไม่” นายภูมิพัฒน์ กล่าว
ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ชี้แจงว่า มีการเพิ่มศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติในแต่ละจังหวัดมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เป็นรูปธรรมนั้น ในปีงบประมาณที่แล้ว รัฐบาลได้ใช้มาตรการในการจัดการเกี่ยวกับการยึดทรัพย์เข้ามาเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิม ที่มีมาตรการป้องกันตามชายแดนต่างๆ หรือให้ทหารออกไปปราบปรามยาเสพติดตามชายแดน
ส่วนเรื่องการบูรณาการ เรามีงบผ่านกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงกลาโหม มหาดไทย สาธารณสุข ยุติธรรม และมาตรการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ มาตรการการยึดทรัพย์สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ มีการตั้งตัวชี้วัดใน ป.ป.ส. ว่า ในภาคตำรวจ 1 ภาค ตั้งเป้าไว้แค่ 50 คดี ซึ่งใน 50 คดีนี้ เป็นคดีที่มีการดำเนินการและมีผลเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ หากเราได้ดำเนินการตัวชี้วัดอย่างเต็มที่แล้วจะเห็นผล และตนมั่นใจว่าเตียงที่ไม่พอต่อการบำบัดจะหมดไป
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าเราคิดแต่เรื่องบำบัด ซึ่งเป็นเรื่องปลายน้ำ ถ้าเราไม่ทำต้นน้ำ ปัญหาก็จะรุมเร้ามากขึ้น ทั้งนี้ ตัวชี้วัดใน 9 ภาค บวก กรุงเทพฯ ป.ป.ส.ตั้งตัวชี้วัดไว้ 100 คดี ตัวชี้วัดของคดียึดทรัพย์ในปีงบประมาณ 67 นับตั้งแต่ 1 ต.ค.2566-31 ส.ค.2567 ตัวชี้วัดตั้งไว้แค่ 600 คดี แต่ดำเนินการไปได้ 2 พันกว่าคดี
"แต่เราตั้งตัวชี้วัดไว้ภาคละ 500 คดี ปีหนึ่งประมาณ 6 พันคดีที่ดำเนินการ ผมว่าไม่เกิน 3 ปี เราไม่ต้องหาพื้นที่บำบัด เพราะคนขายถูกจับหมดแล้ว และดำเนินการเรื่องยึดทรัพย์ และเป็นพ.ร.บ.มาตรการสมคบสนับสนุน มีทรัพย์สินโผล่มาเมื่อไหร่ก็ยึดได้เลย เพราะคำนวณตามมูลค่าการขายว่า ขายมากี่ปีแล้ว" ” นายสมศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวเห็นด้วยกับ รมว.สาธารณสุข ว่า เป็นการแก้ไขปลายน้ำ พยายามจะทำอย่างไรก็ไม่หมด ถ้าต้นน้ำกับกลางน้ำไม่ลด ส่งมาเรื่อยๆ ห้ามเท่าไหร่ก็ไม่พอ ต้องเห็นใจ ขอฝากท่านรัฐมนตรีด้วย ในฐานะที่ตนเคยทำงานเรื่องนี้ในสมัยปี 2546 เป็น รมว.มหาดไทย ต้องบูรณาการตัวพระเอก คือ ตำรวจกับมหาดไทย แต่กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข และ ป.ป.ส. ซึ่งเป็นปลายน้ำ ก็ต้องร่วมกัน ถ้าไม่ร่วมมือกันก็ไปไม่ได้
ส่วนที่บอกว่ายึดทรัพย์ได้น้อย นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เพราะผู้ค้ายาเสพติดกลัวมากคือยึดทรัพย์ หาเงินได้เยอะแต่ถูกยึดทรัพย์หมด แต่ถ้าถูกจับเดี๋ยวก็ได้ออก สมัยปี 2546 นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตนเป็นรมว.มหาดไทย 3 เดือนยึดทรัพย์ไป 5-6 พันล้านบาท ก็เบาลงไปเยอะ เพราะผู้ค้ารายใหญ่กลัว และไล่ไปถึงหมู่บ้าน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้การตำรวจต้องคุยกันทุกอาทิตย์
“ผมเห็นใจชาวบ้านในวันนี้ ฉะนั้นเมื่อน้ำลดแล้วต้องเอายาเสพติดลดให้ได้ ตั้งเป้าเลยว่า 6 เดือนต้องลดยาเสพติดให้เกือบหมด ชายแดนเรื่องเล็ก ถ้าภายในไม่เปิดโอกาสให้ มันจะส่งที่ไหนในเมื่อไม่มีคนไปรับ ตำรวจโรงพักหนึ่งมีกี่นาย มหาดไทย มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่รู้หรือว่ามีการค้ายาเสพติดที่ไหน" นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวอีกว่า สมัยที่เป็น รมว.มหาดไทย กำนันผู้ใหญ่บ้านหลายคน เขาบอกปลดทำไม ผมบอกว่าคุณขาดคุณสมบัติแม้จะแข็งแรง แต่ตาบอดหูหนวกอยู่ ไม่เห็นหรือว่าเขาขายยาเสพติดข้างบ้านคุณ เรื่องนี้ก็ต้องฝาก รมว.สาธารณสุขด้วย เพราะเห็นนายกฯ บอกว่าจะเอาจริงเอาจัง จึงอยากให้มีการกำหนดเวลาว่า 6 เดือน ไม่ต้องให้ สส.ในสภาฯ มาบ่นอีก
อย่างไรก็ตามทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทุกข์ของชาวบ้านวันนี้มันพอๆ กับเศรษฐกิจ เรื่องยาบ้าใครไม่มีลูกหลานติดก็ไม่รู้ ติดแล้วเป็นทุกข์เท่าากับตกนรกทั้งเป็น ขอให้ยาเสพติดลดได้ในรัฐบาลนี้