เผยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ตัดสินชี้ขาดให้ 'อาคม รุ่งแจ้ง' ไม่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้-ประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 8 รวมระยะเวลา 5 ปี ขณะที่เจ้าตัวยันเป็นผู้มีคุณสมบัติดำรงตำแหน่งได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2567 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาตัดสินให้ นายอาคม รุ่งแจ้ง บุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอชื่อเป็นกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 แม้จะเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ และประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 8 รวมระยะเวลา 5 ปี แต่เนื่องจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งจากองค์กรอิสระกรณีรับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า นั้นคำว่า "อธิบดี" เป็นตำแหน่งที่ใช้เรียกผู้บังคับบัญชาส่วนราชการที่เรียกว่า "กรม" อันเป็นการจัดโครงสร้างตามระเบียบราชการของฝ่ายบริหารตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มิได้หมายความถึงตำแหน่งอธิบดีของข้าราชการฝ่ายตุลาการ ซึ่งแม้ว่าจะมีตำแหน่งที่เรียกว่า "อธิบดี" ในโครงสร้างของข้าราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรมก็ตาม
คดีนี้ คณะกรรมการสรรหาตลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธธรรมนูญ เป็นผู้ร้อง นายอาคม รุ่งแจ้ง บุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอชื่อให้เป็นกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ถูกร้อง
@ คำร้อง "ผู้ร้อง"
โดยผู้ร้องร้องว่า นาธนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 และนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 โดยมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ และบุคคลซึ่งองค์กรอิสระ (ประกอบด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 8 และมาตรา 9 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 10 และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลหรือองค์กรอิสระ องค์กรละหนึ่งคน ร่วมเป็นกรรมการเพื่อทำหน้าที่สรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ต่อมา ในคราวประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ที่ประชุมได้รับทราบรายชื่อและประวัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากองค์กรอิสระแล้วมีข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดว่ารับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือไม่
เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีหนังสือลงวันที่ 2 กันยายน 2567 แจ้งว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์เสนอชื่อ ผู้ถูกร้องเป็นกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยผู้ถูกร้องได้เสนอแบบประวัติของบุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 2 กันยายน 2567 ระบุว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 8 (5) และมาตรา 9 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 10 และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ โดยผู้ถูกร้องเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ และประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 8 รวมระยะเวลา 5 ปี
ในการนี้ เพื่อให้การทำหน้าที่สรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของผู้ร้องเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบและมีความสมบูรณ์ ตามมาตรา 14 วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 25661 ผู้ร้องจึงได้พิจารณาและมีมติให้มีหนังสือมายังศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ถูกร้องผู้ได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่า การที่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ และประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 8 จะถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 หรือไม่อย่างไร
จึงนำคดีมาร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ขอให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ถูกร้องผู้ใด้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ด้วยคดีนี้ มีกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 14 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ซึ่งบัญญัติให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญภายในระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ประธานศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยเร่งด่วนตามมาตรา 59 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองสูงสุด และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 49/2 และข้อ 98 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2553
@ คำชี้แจ้ง ผู้ถูกร้อง
ขณะที่ ผู้ถูกร้องชี้แจงว่า ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอชื่อให้เป็นกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยผู้ถูกร้องรับราชการเป็นข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ต่อมา ได้ลาออกจากราชการตามคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรรม ที่ 1037/25267 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นต้นไป
สำหรับคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีเคยรับราชการในตำแหน่งอธิบดีมาแล้วห้าปีตามมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 นั้น มีเจตนารมณ์ที่ต้องการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิผู้ที่เคยรับราชการในตำแหน่งอธิบดีมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งอธิบดีครั้งแรกในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 ระยะเวลา 1 ปี
ต่อมา ผู้ถูกร้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเลื่อนตำแหน่งเป็นประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลอุทธรณ์ ภาค 9 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 ระยะเวลา 2 ปี ดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ ภาค 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 ระยะเวลา 1 ปี.ดำรงตำแหน่งรองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 ระยะเวลา 1 ปี ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 ระยะเวลา 2 ปี ดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 8 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ระยะเวลา 2 ปี ตำแหน่งประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 เป็นตำแหน่งสุดท้าย ซึ่งนับแต่ผู้ถูกร้องได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ในครั้งแรก ผู้ถูกร้องก็ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร เป็นผู้บังคับบัญชา และบริหารงานบุคคล และบริหารงบประมาณของศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลอุทธรณ์ ภาค 8 มาโดยตลอด ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ต้องการคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาจากผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์บังคับบัญชาและบริหารงานบุคคลและบริหารงบประมาณในระดับไม่ต่ำกว่าอธิบดีมาแล้ว
ผู้ถูกร้อง จึงเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ตรวจสอบทะเบียนประวัติการรับราชการตุลาการของผู้ถูกร้องแล้วเห็นว่า ผู้ถูกร้องเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้มาแล้ว 3 ปี และเคยดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 8 ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีมาแล้ว 2 ปี รวมระยะเวลาเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีมาแล้ว 5 ปี ผู้ถูกร้องจึงได้กรอกแบบข้อมูลประวัติบุคคลซึ่งองค์กรอิสระ (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) แต่งตั้งให้เป็นศาลปกครองสูงสุดคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 8 (5) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีไม่น้อยกว่า 5 ปี
เลขาธิการวุฒิสภาในฐานะเลขานุการผู้ร้อง และหรือสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาซึ่งปฏิบัติหน้าที่หน่วยธุรการของผู้ร้อง ไม่น่าจะมีอำนาจถึงขนาดพิจารณาคุณสมบัติของผู้ถูกร้องและทำความเห็นเสนอผู้ร้อง ขัดหรือแย้งกับคณะกรรมการการเลือกตั้งที่กระทำในรูปองค์คณะซึ่งได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ถูกร้องและเสนอชื่อผู้ถูกร้องเป็นกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในฐานะผู้แทนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภากลับกระทำเกินอำนาจหน้าที่ของตนด้วยการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ถูกร้องว่า เป็นอธิบดีที่ไม่ใช่หัวหน้าส่วนราชการ จึงเป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติตามมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 เสนอต่อเลขานุการคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นอกจากนั้น ยังตีความไม่ถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย กล่าวคือ มาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญข้างต้น มีเจตนารมณ์ต้องการสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติอยู่ 3 กรณี คือ (1) บุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดี หรือ (2) หัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี หรือ (3) ตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุด มาแล้ว ไม่น้อยกว่าห้าปี โดยคำว่าหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า คือ เทียบเท่าอธิบดี หากเป็นข้าราชการพลเรือนจะต้องระดับกรม เช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่ากรม ก็คืออธิบดี แต่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกลับตีความคำว่า "อธิบดี" จะต้องเป็นหัวหน้าส่วนราชการเท่านั้น จึงจะเป็นคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นการตีความที่ไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ทั้งยังมีการเสนอให้ผู้ถูกร้องถอนตัวจากการเป็นคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถึง 2 ครั้ง โดยไม่สนใจว่าผู้ถูกร้องถูกเสนอชื่อโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งต่างก็เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ในการทำงานสูง ซึ่งจะต้องพิจารณาทะเบียนประวัติการรับราชการของผู้ถูกร้องอย่างละเอียดรอบคอบ เคร่งครัด เป็นไปตามกฎหมาย
ประกอบกับผู้ถูกร้องเคยผ่านการตรวจคุณสมบัติว่าเป็นบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีมาแล้วห้าปี จากคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงเสนอรายชื่อผู้ถูกร้องเป็นกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ เจตนารมณ์ของรัฐธรรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดคุณสมบัติการรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี โดยมิได้กำหนดให้ส่วนราชการนั้นต้องเป็นนิติบุคคลแต่อย่างใดบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี เช่น ปลัดกระทรวง เป็นหัวหน้าส่วนราชการกระทรวง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด หรือเอกอัครราชทูตซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการในต่างประเทศ
แต่มิได้หมายความรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งอื่นซึ่งแม้จะมีระดับเทียบได้ระดับเดียวกันกับอธิบดีซึ่งมิได้เป็นหัวหน้าส่วนราชการนั้น เช่น รองหัวหน้าส่วนราชการที่มีหัวหน้าส่วนราชการเทียบได้กับปลัดกระทรวง และรองหัวหน้าส่วนราชการนั้นมีระดับตำแหน่งเทียบได้กับอธิบดี เช่น รองปลัดกระทรวง รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นต้น
ในกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมีตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดีเพราะมิได้เป็นหัวหน้าส่วนราชการ การกำหนดให้ต้องมีฐานะอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดียังมีความมุ่งหมายในเรื่องการเป็นผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการบังคับบัญชา และบริหารงานบุคคล และบริหารงานงบประมาณ ระดับไม่ต่ำกว่าอธิบดีมาแล้วในระยะเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี โดยไม่จำเป็นต้องดำรงตำแหน่งต่อเนื่องหรืองหรือต่อกัน
การที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเห็นว่า ผู้ถูกร้องซึ่งเคยตำรงตำแหน่งอธิบดีมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ไม่ใช่อธิบดีที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการ จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนผู้ถูกร้องเป็นอธิบดีโดยตำแหน่ง จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำตำแหน่งของผู้ถูกร้องมาเปรียบเทียบหรือเทียบเคียงตำแหน่งอื่นอีก
ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องเป็นผู้มีคุณสมบัติเป็นคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
@ คำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุด
ขณะที่ ศาลปกครองสูงสุดแสวงหาข้อเท็จจริงโดยการไต่สวนคู่กรณีและผู้เกี่ยวข้องศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์ในประเด็นว่า ผู้ถูกร้องมีคุณสมบัติเป็นกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2563 หรือไม่ แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการตามมาตรา 8 (3) (4) หรือ (5) ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย (1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ (2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ (3) ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นกรรมการ (4) บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 8 และมาตรา 9 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 10 และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลหรือองค์กรอิสระองค์กรละหนึ่งคน เป็นกรรมการ มาตรา 8 บัญญัติว่า ศาลประกอบด้วยตุลาการจำนวนเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้ (1) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนสามคน ... (5) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ากว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี จำนวนสองคน
จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งจากองค์กรอิสระกรณีรับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า นั้นคำว่า "อธิบดี" เป็นตำแหน่งที่ใช้เรียกผู้บังคับบัญชาส่วนราชการที่เรียกว่า "กรม" อันเป็นการจัดโครงสร้างตามระเบียบราชการของฝ่ายบริหารตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มิได้หมายความถึงตำแหน่งอธิบดีของข้าราชการฝ่ายตุลาการ ซึ่งแม้ว่าจะมีตำแหน่งที่เรียกว่า "อธิบดี" ในโครงสร้างของข้าราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรมก็ตาม
แต่ตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษา มิได้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับตำแหน่งอธิบดีของข้าราชการพลเรือน ดังนั้น คำว่า"อธิบดี" ตามบทบัญญัติในมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 จึงมีเจตนามุ่งหมายให้คำว่า "อธิบดี" หมายถึง อธิบดีหรือหัวหน้า ส่วนราชการที่เทียบเท่าของข้าราชการในฝ่ายบริหารเท่านั้น อีกทั้ง ตำแหน่งอธิบดีในโครงสร้างของข้าราชการฝ่ายตลาการในศาลยุติธรรมก็มิใช่หัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า การดำรงตำแหน่งดังกล่าวจึงเป็นเพียงตำแหน่งแต่มิใช่หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม
นอกจากนี้ ตามมาตรา 8 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งจากองค์กรอิสระให้เป็นคณะกรรมการสรรหาตลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง (4) เป็นอีกคุณสมบัติหนึ่ง
จึงเห็นได้ว่า บทบัญญัติตามมาตรา 8 (5) มิได้มุ่งหมายถึงอธิบดีในราชการฝ้ายตุลาการ เพราะในกรณีที่มุ่งหมายถึงอธิบดีของข้าราชการฝ่ายตุลาการ ก็จะระบุไว้อย่างชัดแจ้ง
ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ และประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 8 รวมระยะเวลา 5 ปี ดังกล่าว จึงมิใช่การดำรงตำแหน่งอธิบดีหรือหัวหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งเป็นคุณสมบัติของกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธธรรมนูญตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธธรรมนูญ พ.ศ. 2561
จึงมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกร้องเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการสรรหาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ตามที่รายงานไปข้างต้นแล้ว