เผยคำร้องผู้สิทธิเลือกตั้งยื่นขอให้การเลือก สว. เป็นโมฆะ ยกเหตุมีชี้นำฮั้วไม่สุจริตเที่ยงธรรม ส่อทำผิด กม.หลายเรื่อง พ่วงขอให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน 60 วัน ถึงศาล รธน.แล้ว หลังผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องไว้พิจารณา แต่ยังแสวงหาข้อเท็จจริงได้ไม่ครบถ้วนภายใน 60 วัน จึงแจ้งสิทธิให้ยื่นตรงแทน คาดใช้เวลาพิจารณารับเรื่องหรือไม่ ภายในเดือน ต.ค. 2567 นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ขณะนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้องขอให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นโมฆะเป็นทางการแล้ว ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้ ผู้มีสิทธิเลือก สว.ระดับประเทศรายหนึ่งได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากผ่านกระบวนการของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องไว้พิจารณาเป็นเรื่องหมายเลขดำแล้ว แต่เนื่องจากยังแสวงหาข้อเท็จจริงได้ไม่ครบถ้วนภายใน 60 วัน จึงแจ้งสิทธิให้ผู้ร้องยื่นคำร้องได้โดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ และมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในช่วงปลายเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาในการพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ ภายในเดือนตุลาคม 2567 นี้
สำนักข่าวอิศรา รายงานด้วยว่า ในการยื่นคำร้องครั้งนี้ ผู้ร้องยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย เนื่องจากหากยังคงให้ สว.ที่มาจากการเลือกที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเรื่อย ๆ นอกจากสิ้นเปลืองงบประมาณที่จ่ายเป็นค่าตอบแทนต่าง ๆ แล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของ สว.เกือบทั้งสภาที่มาจากขบวนการฮั้วที่มีผู้นำจิตวิญญาณอยู่เบื้องหลัง ทั้งที่อยู่ในกรุงเทพและอยู่ที่จังหวัดทางภาคอีสาน จะไม่มีความเป็นอิสระโดยต้องทำตามการสั่งการของหัวหน้าขบวนการของ สว.เหล่านั้น ซึ่งจะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติในการกลั่นกรองกฎหมายและการทำหน้าที่อื่น ๆ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ สว.ทั้งหมด 200 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนเป็นเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง หรือจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
สำหรับเหตุผลที่ผู้ร้องยื่นเรื่องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้การเลือกตั้ง สว. เป็นโมฆะ ระบุว่า หลังจากประกาศผลการเลือก สว.เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ผ่านมา ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่สุจริตและเที่ยงธรรมของการเลือกครั้งนี้ในหลายประเด็น โดยเฉพาะการสมยอมหรือฮั้วกันในการเลือก การจัดตั้งหรือจ้างโหวตเตอร์เข้าไปเลือก ข้อสงสัยที่ผู้เลือกมากันคนละทิศละทางแต่ใจตรงกันเลือก 10 เบอร์เป็นชุดตัวเลขเดียวกันจำนวนมาก โดยมีประเด็นที่ชี้ให้เห็นว่าการเลือก สว.ครั้งนี้ ควรจะเป็นโมฆะ ใน 5 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พรป.สว.บางมาตราที่ใช้ในการเลือก สว.ครั้งนี้ จากการไม่มีข้อสันนิษฐานว่าเหตุการณ์อย่างไรเป็นการสมยอมกันในการเลือก ที่จะทำให้ถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมซึ่งจะต้องเลือกกันใหม่ แตกต่างจากการเลือก สว.ในวาระเริ่มแรกหรือการเลือก สว.ชุดที่หมดวาระไปแล้ว ซึ่งจำนวน 50 คน จาก 250 คน ได้ผ่านการเลือกในลักษณะเดียวกันกับครั้งนี้ โดยในครั้งนั้นกฎหมายกำหนดให้มีข้อสันนิษฐานจากผลการนับคะแนนของการเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันว่า กรณีที่มีผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกเลยหรือได้ศูนย์คะแนน มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของผู้ที่มาแสดงตน ให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ผู้อำนวยการการเลือกดำเนินการเลือกใหม่ โดยให้ผู้ที่ได้ศูนย์คะแนนนั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และต้องออกจากสถานที่เลือก แต่ในครั้งนี้ไม่มีการกำหนดเป็นข้อสันนิษฐานว่าเหตุการณ์อย่างไรเป็นการสมยอมกันในการเลือกที่จะถือว่าการเลือกไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม รวมทั้งไม่มีการกำหนดวิธีการสกัดกั้นไม่ให้การสมยอมกันนั้นบรรลุผล โดย พรป.สว.มาตรา 40 (5), 41 (5) และ 42 (5) ซึ่งใช้บังคับในการเลือกครั้งนี้ไม่มีข้อสันนิษฐานดังกล่าว จึงไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 107 และไม่สอดคล้องกับกฎหมายที่เคยใช้บังคับกับกรณีเดียวกัน ที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของ พรป.ฉบับเดียวกัน ทำให้การเลือก สว.ครั้งนี้ มีการฮั้วกันอย่างขนานใหญ่ในทุกระดับของการเลือก
ประเด็นที่ 2 การกระทำของ กกต.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยใช้วิธีการขานคะแนนที่ทำให้การลงคะแนนลับไม่เป็นความลับ อันเกิดจากการนับคะแนนในรอบการเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน หรือการเลือกในรอบเลือกไขว้ ซึ่ง กกต.กำหนดให้นับคะแนนจากหีบบัตรลงคะแนนทีละหีบของแต่ละกลุ่ม กรณีการเลือกในระดับอำเภอที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวในบางกลุ่ม เมื่อหยิบบัตรลงคะแนนขึ้นมาขานคะแนนก็จะทำให้รู้ว่าผู้สมัครเพียงคนเดียวนั้นเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นเบอร์ใด และกรณีที่แม้ว่าจะมีผู้สมัครหลายคน แต่ผู้สมัครทุกคนในกลุ่มนั้นไม่เลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่งในอีกกลุ่มที่เลือกไขว้ เมื่อขานคะแนนก็จะทำให้ผู้สมัครที่ไม่ถูกเลือกเลยจากกลุ่มนั้นรู้ทันทีว่าทุกคนในกลุ่มนั้นไม่ได้เลือกตนเองเลย ซึ่งทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ
การที่จะทำให้การลงคะแนนลับในคูหายังคงเป็นความลับตลอดไป จะต้องนำบัตรลงคะแนนของทั้ง 5 กลุ่ม ที่อยู่ในสายเดียวกัน มารวมกันเป็นหีบเดียวให้คละกัน แล้วจึงหยิบบัตรลงคะแนนแต่ละใบขึ้นมาขานคะแนน ซึ่งจะทำให้ไม่รู้ว่าบัตรลงคะแนนแต่ละใบมาจากการลงคะแนนของกลุ่มใด แต่ กกต.ต้องการที่จะนับจำนวนบัตรดีและบัตรเสียของแต่ละกลุ่ม และนับจำนวนบัตรทั้งหมดในหีบว่าตรงกับจำนวนผู้ลงคะแนนหรือไม่ จึงไม่นำบัตรลงคะแนนของทุกกลุ่มในสายนั้นมารวมกันเป็นหีบเดียว ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถนับบัตรดีและบัตรเสียรวมทั้งจำนวนบัตรทั้งหมดของแต่ละกลุ่มได้ วิธีการของ กกต.จึงทำให้การลงคะแนนที่เป็นความลับในคูหาลงคะแนนถูกเปิดเผยออกมาทำให้ไม่เป็นความลับ ขัดต่อ พรป.สว. มาตรา 33 ที่ให้การเลือก สว.ใช้วิธีลงคะแนนลับ
ประเด็นที่ 3 กกต. กระทำการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยอนุญาตให้ผู้สมัครนำเล่มเอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร หรือ สว.3 ที่แจกให้ล่วงหน้าก่อนวันเลือกเข้าไปในสถานที่เลือกและเข้าไปในคูหาลงคะแนน เป็นการเปิดโอกาสให้การสมยอมหรือการฮั้วกันทำได้ง่ายและบรรลุผล ทำให้การเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
ในการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ก่อนวันเลือกประมาณ 3-4 วัน กกต.จะแจกเล่มเอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร หรือ สว.3 ของผู้สมัครแต่ละกลุ่ม ให้กับผู้สมัครทุกคนในกลุ่มนั้น เพื่อให้ศึกษาข้อมูลของผู้สมัครแต่ละคนที่จะเลือก เมื่อถึงวันเลือก กกต. ได้อนุญาตให้ผู้สมัครนำเอาเล่ม สว.3 ที่ได้รับแจกล่วงหน้าเข้าไปในสถานที่เลือกและนำเข้าไปในคูหาลงคะแนนได้ด้วย การกระทำเช่นนี้ทำให้ผู้สมัครสามารถเขียนข้อมูลต่าง ๆ หรือทำสัญลักษณ์ลงในเล่ม สว.3 ไว้ล่วงหน้าได้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ขบวนการฮั้ว มีความสะดวกในการเขียนเบอร์และรายชื่อผู้สมัคร หรือทำสัญลักษณ์ลงในหน้าที่มีข้อมูลผู้สมัครที่อยู่ในขบวนการที่จะต้องเลือก ไว้ในเล่ม สว.3 ล่วงหน้าก่อนเข้าไปในสถานที่เลือกและคูหาลงคะแนนแล้วเปิดออกมาดูได้โดยไม่ผิดสังเกต ทำให้ขบวนการฮั้วบรรลุผล ส่วนในการเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน หรือการเลือกในรอบเลือกไขว้ ก็ได้อนุญาตให้นำเล่ม สว.3 เล่มเดิมเข้าไปได้เช่นกัน จนถึงการเลือกในรอบเลือกไขว้ของระดับประเทศ กกต. เพิ่งจะเห็นว่าจะมีการเขียนโพยลงในเล่มสว.3 ที่ได้รับแจกก่อนวันเลือก จึงไม่อนุญาตให้นำเล่มเอกสาร สว.3 ที่ได้รับแจกก่อนวันเลือกเข้าไปในคูหาลงคะแนนโดยแจกเล่มใหม่ให้ แต่ก็เฉพาะการเลือกในรอบเลือกไขว้ระดับประเทศ ในช่วงบ่ายของวันที่ 26 มิถุนายน 2567 เท่านั้น แต่ในช่วงเช้าที่เป็นรอบการเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันระดับประเทศ และการเลือกก่อนหน้านั้นในระดับอำเภอและระดับจังหวัดทั้ง 2 รอบ กกต.ได้อนุญาตให้นำเล่มสว.3 ที่ได้รับแจกก่อนวันเลือกเข้าไปในสถานที่เลือกและคูหาลงคะแนนได้
กกต. สามารถที่จะไม่อนุญาตให้นำเอกสารใด ๆ จากภายนอก รวมถึงเล่ม สว.3 ที่แจกให้กับผู้สมัครล่วงหน้าเข้าไปในสถานที่เลือกได้ โดยแจก สว.3 เล่มใหม่ให้กับผู้สมัครอีกครั้งในสถานที่เลือก เพื่อให้ผู้สมัครแต่ละคนศึกษาข้อมูลของผู้สมัครอื่นเป็นครั้งสุดท้ายและนำเล่ม สว.3 ที่ได้รับแจกใหม่เข้าไปในคูหาลงคะแนนได้เพื่อไม่ให้หลงลืมเบอร์ผู้สมัครที่จะเลือก หากทำเช่นนี้จะทำให้ขบวนการฮั้วไม่สามารถกระทำได้โดยง่าย แต่เมื่อ กกต.เปิดโอกาสให้แก่ขนวนการฮั้วเช่นนี้ จึงทำให้การเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม
ประเด็นที่ 4 กกต.กระทำการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยไม่ระงับยับยั้งหรือดำเนินการใด ๆ ก่อนการประกาศผลการเลือก สว. ทั้งที่มีเหตุอันควรสงสัยมากมายหลายประการที่วิญญูชนพึ่งจะสงสัยได้ถึงความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันทั่วไป ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง สื่อมวลชน ประชาชนทั่วไป และผู้สมัครด้วยกันเองที่เห็นเหตุการณ์ โดยผู้สมัครจำนวนมากได้นำหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เป็นผลการลงคะแนนที่มีผู้ได้ศูนย์คะแนนเป็นจำนวนมาก รูปแบบการลงคะแนนที่เหมือนกันทุกประการเป็นจำนวนมากอย่างผิดปกติ และตารางโพยผู้สมัครของขบวนการต่าง ๆ ทั้งที่พบก่อนและหลังการเลือก ไปเปิดเผยต่อสื่อมวลชน และยื่นคำร้องคัดค้านไปยัง กกต. รวมทั้งยื่นเรื่องต่อหน่วยงานต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม โดยปรากฏเป็นข่าวที่รับรู้กันโดยทั่วไป แต่ กกต.ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ซึ่งตาม พรป.สว.มาตรา 59 กำหนดไว้ว่า แม้เพียงมีเหตุอันควรสงสัยเท่านั้นว่าการเลือกจะไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม โดยเหตุนั้นแม้ต่อมาจะไม่เป็นจริงตามที่สงสัยก็ตาม แต่หากเกิดขึ้นก่อนประกาศผลการเลือก กกต.จะต้องดำเนินการให้สิ้นข้อสงสัยเสียก่อนที่จะประกาศผล โดยไม่อาจดำเนินการให้สิ้นข้อสงสัยภายหลังการประกาศผลได้ เมื่อยังไม่สิ้นข้อสงสัย กกต.จะต้องใช้อำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือก และสั่งให้ดำเนินการเลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่ โดย กกต.ไม่อาจประกาศผลการเลือกไปก่อน แล้วตั้งคณะทำงานขึ้นมาสืบสวนสอบสวนในภายหลังได้ ซึ่งเป็นคนละกรณีกันและไม่ใช่เป็นการดำเนินการตามมาตรา 59 ดังนั้น การละเว้นไม่จัดการกับเหตุอันควรสงสัยตามมาตรา 59 เสียก่อนที่จะประกาศผล จึงเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเป็นข้อห้ามตาม พรป.สว.มาตรา 32 วรรคหนึ่ง และมีโทษตาม พรป.กกต.มาตรา 69 วรรคหนึ่ง
ประเด็นที่ 5 นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การสมยอมกันในการเลือกเป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิเลือกสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายหากไม่มีการให้ทรัพย์สินกัน โดยกล่าวว่าก่อนหน้านี้การแลกโหวตไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อศาลปกครองเพิกถอนระเบียบ กกต.บางข้อ ทำให้การแลกโหวตทำได้โดยอิสระยกเว้นมีการจ่ายเงินหรือจ้างลงคะแนน ซึ่งหมายถึงการตกลงแลกโหวตกันระหว่างผู้มีสิทธิเลือกด้วยกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ถึงแม้จะไม่มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดก็ทำไม่ได้ แต่เมื่อศาลปกครองได้เพิกถอนระเบียบ กกต.บางข้อ ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกทุกคนสามารถแลกโหวตกันได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งสื่อมวลชนได้นำคำให้สัมภาษณ์นี้ไปเสนอข่าวทั้งในหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป และทำให้ผู้มีสิทธิเลือกเห็นว่าเป็นข้อมูลที่มาจากเลขาธิการ กกต.ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลการเลือก สว.ครั้งนี้ ย่อมเป็นเรื่องที่เชื่อถือได้ อีกทั้งประธาน กกต.หรือ กกต.คนอื่น ก็ไม่ได้ออกมาชี้แจงหรือปฏิเสธต่อเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ของนายแสวงแต่อย่างใด ทำให้เห็นว่า กกต.ทั้งคณะได้ยอมรับเช่นกันว่าการฮั้วกันเป็นเรื่องที่กระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย การที่ศาลปกครองเพิกถอนระเบียบ กกต. บางข้อ ทำให้การแนะนำตัวทำได้กว้างขวางมากขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกสามารถที่จะแลกโหวตกันได้ เพราะการแลกโหวตมีลักษณะเป็นสัญญาว่าจะให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเพิ่มโอกาสได้รับเลือก ซึ่งหากได้รับเลือกเป็น สว.จะมีเงินเดือนและค่าตอบแทนต่าง ๆ โดยผู้มีสิทธิเลือกคนหนึ่งคนใดจะเป็นทั้งผู้ให้ประโยชน์และผู้รับประโยชน์ในคราวเดียวกัน
ขณะที่การให้สัมภาษณ์ของนายแสวง มีลักษณะเป็นการชี้นำ ภายใต้การรับรู้ของ กกต.ทั้งคณะ ทำให้มีการตั้งกลุ่มแลกโหวตกันทั่วไปทั้งที่เป็นกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ที่ทำกันเป็นขบวนการ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันเพื่อให้ได้เปรียบผู้มีสิทธิเลือกรายอื่นที่อยู่นอกกลุ่มและไม่ได้รวมกลุ่มกับบุคคลใด เป็นการกระทำที่จำกัดสิทธิซึ่งกันและกันในการที่จะเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมแต่อยู่นอกกลุ่ม ทำให้การเลือกไม่เป็นไปโดยอิสระและทำให้ไม่ได้บุคคลที่มีความเหมาะสมเป็น สว. โดยขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มีความมุ่งหมายให้ผู้มีสิทธิเลือกแต่ละคนใช้สิทธิลงคะแนนโดยอิสระเพื่อเลือกบุคคลที่เห็นว่ามีความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มอาชีพเข้าไปทำหน้าที่ สว. แต่เมื่อ กกต.รู้ว่ามีการตั้งกลุ่มแลกโหวตกันที่เป็นขบวนการและเห็นได้ชัด กกต.ก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพียงแต่อ้างเอาคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นซึ่งตนก็ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษานั้นมาใช้เป็นเหตุในการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่คำพิพากษาที่กล่าวอ้างก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการฮั้วกัน จึงทำให้การเลือก สว.ครั้งนี้ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมทั้งกระบวนการ
นอกจากนี้ ผู้ร้องยังได้ยกข้อเท็จจริงที่รับรู้มาด้วยตนเองและมีพยานหลักฐานที่แสดงถึงการกระทำของ 2 ขบวนการใหญ่ ซึ่ง สว.ที่กำลังทำหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ มาจาก 2 ขบวนการนี้ โดยขบวนการหนึ่งมีพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลหนุนหลัง ส่วนอีกขบวนการหนึ่งอ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย โดยทั้ง 2 ขบวนการ มีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนมาตั้งแต่ก่อนวันรับสมัครจนถึงก่อนวันเลือก ได้มีการนัดหมายเพื่อซักซ้อมแผนการกันอย่างเอิกเกริกจนทำให้มีหลักฐานหลุดออกมา ผู้ร้องจึงขอให้ศาลรัฐธรรมวินิจฉัยให้การเลือก สว.ครั้งนี้ เป็นโมฆะ