กทพ.ศึกษา ‘ทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด’ ระยะทาง 5-10 กม. วงเงิน 15,000 ล้าน กางไทม์ไลน์ศึกษาความเหมาะสม 2 ปี จากนั้นเสนอครม.เห็นชอบในปี 70 ปักเสาเข็มก่อสร้างปี 72 เปิดใช้งานปี 76 คาดปริมาณคนใช้งาน 5.000 คัน/วัน ก่อนเปิด 4 แนวเส้นทางซาวเสียงให้ประชาชนเลือก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 30 กันยายน 2567 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด กทพ.ผลักดันจากความต้องการของประชาชนใน จ.ตราด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม โดยเมื่อวันที่ 2-3 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา เพิ่งมีการปฐมนิเทศโครงการไป โดยมีการวางแนวเส้นทางไว้ 4 แนวทาง เป็นเส้นทางระยะสั้น 2 เส้นทาง และเส้นทางที่มีระยะทางยาว 2 เส้นทาง ประมาณระยะทางอยู่ที่ 6-10 กม. โดยทั้ง 4 เส้นทางนี้ จะต้องนำไปรับฟังความเห็นของประชาชนต่อไปว่า ทางชาวบ้านจะเอาเส้นทางไหน
ขณะที่ประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างของทั้งโครงการอยู่ในแนวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ซึ่งกำกับดูแลโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้ขออนุญาตในการทำศึกษาโครงการ และได้รับอนุญาตเรียบร้อย ส่วนพื้นที่ที่เป็นแผ่นดินใหญ่ มีพื้นที่บางส่วนเป็นป่าชายเลน ก็ได้ขออนุญาตกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมป่าไม้ในการศึกษาโครงการเรียบร้อยแล้วเช่นกัน ขณะที่พื้นที่ทางทะเล ก็มีแนวปะการังและหญ้าทะเล รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก เช่น โลมาหัวบาก ก็ได้ขออนุญาตกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการศึกษาแล้วเช่นกัน
สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) (ยืนขวาคนที่ 1) และกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ กทพ. (สวมแว่นดำ)
@ศึกษา 2 ปี เสนอครม.ปี 70
ด้านนายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวเสริมว่า สำหรับกรอบเวลาดำเนินโครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มศึกษาไปเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยมีระยะเวลาศึกษาโครงการ 720 วัน (24 เดือน) หรือประมาณเดือน พ.ค. 2569 คาดว่าจะขออนุมัติหลักการกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงกลางปี 2570 ส่วนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปีหลังจากนี้ โดยจะรวมไปถึงการขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการขอใช้พื้นที่สำหรับก่อสร้างโครงการ และการขออนุมัติรูปแบบการลงทุน ซึ่งโครงการนี้วางไว้เป็นการลงทุนแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรััฐ (PPP) ประเมินคร่าวๆคาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2572 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี จะไปแล้วเสร็จในปี 2576 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะมีปริมาณรถยนต์ใช้งานอยู่ที่ 5,000 คัน/วัน
ทั้งนี้ ผลการศึกษาคร่าวๆของโครงการที่กำหนดแนวเส้นทาง 4 เส้นทาง มีแนวเส้นทางดังนี้ (ดูภาพประกอบด้านล่าง)
แนวเส้นทางที่ 1 (สีม่วง) จุดเริ่มต้นอยู่บนทางหลวงแผนดินหมายเลข 3156 บริเวณกม. 0+850 บ้านหนองปรือ ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด แนวเส้นทางมุ่งหน้าไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม ตัดผ่านขอบพื้นที่ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติภาคตะวันออก ตัดผ่านถนนอนุสรณ์สถาน และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณระหว่างท่าเรือกรมหลวงชุมพรและท่าเรือเฉลิมพล จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางเดินเรือ และจะไปเชื่อมกับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม. 8+550 ในเขตพื้นที่บ้านด่านใหม่ ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง โดยจุดเริ่มต้นที่บ้านหนองปรือจะตัดผ่านที่อยู่อาศัยบ้างแต่เล็กน้อย ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด ระยะทางรวม 9.82 กม.
แนวเส้นทางที่ 2 (สีส้ม) จุดเริ่มต้นบริเวณเดียวกันกับแนวเส้นทางที่ 1 แนวเส้นทางมุ่งหน้าไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม ตัดผ่านขอบพื้นที่ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติภาคตะวันออก ตัดผ่านถนนอนุสรณ์สถาน และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณระหว่างท่าเรือกรมหลวงชุมพรและท่าเรือเฉลิมพล จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางเดินเรือ และจะไปเชื่อมกับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม. 6+750 ในเขตพื้นที่บ้านด่านใหม่ ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง โดยจุดเริ่มต้นที่บ้านหนองปรือจะตัดผ่านที่อยู่อาศัยบ้างแต่เล็กน้อย ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด โดยแนวเส้นทางที่ 2 จะสร้างทางยกระดับข้ามพื้นที่แนวปะการัง จะมีความกว้างประมาณ 100 เมตร มีระยะทางรวม 9.95 กม.
แนวเส้นทางที่ 3 (สีเหลือง) จุดเริ่มต้นอยู่บนทางหลวงชนบทหมายเลขตร.4006 บริเวฯกม. 3+500 บริเวณบ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด แนวเส้นทางมุ่งตรงไปยังทิศใต้ ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม เข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณทิศตะวันตกขอองท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้านธรรมชาติล่าง จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางเดินเรือ ไปเชื่อมกับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณกม. 5+300 นเขตพื้นที่บ้านด่านใหม่ ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง ระยะทางรวม 5.9 กม.
และแนวเส้นทางที่ 4 (สีเขียว) จุดเริ่มต้นอยู่บนทางหลวงชนบทหมายเลขตร.4006 บริเวฯกม. 3+500 บริเวณบ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด แนวเส้นทางมุ่งตรงไปยังทิศใต้ ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม เข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณทิศตะวันตกของท่าเรือเกาะช้างอ่าวธรรมชาติ จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางเดินเรือไปเชื่อมกับถนนอบจ.ตร.10026 บริเวณกม.1+900 ในเขตพื้นที่บ้านคลองสน ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง ระยะทางรวม 5.59 กม.