นายกฯ เปิดงาน 30 บาท รักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กทม. เผยเป็นพื้นที่เดียวที่ขาดแคลนสาธารณสุขระดับต้น-กลาง ตั้งเป้าในปี 67 ครอบคลุมทั่วประเทศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ 'จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า' ว่า ได้ยินนโยบายนี้ มาตั้งแต่เด็ก ยังจำได้ดีถึงประสบการณ์ในตอนที่ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เล่าให้ฟังว่า วันนี้มีคนเดินมาหาถอดเสื้อออก โชว์แผลผ่าตัดที่หน้าอก เป็นการผ่าตัดหัวใจที่ยากและซับซ้อน แต่การผ่าตัดใหญ่ทั้งหมดนี้จ่ายเงินแค่ 30 บาทเท่านั้น นี่คือเรื่องจริงของนโยบายที่สามารถช่วยชีวิตของผู้คนได้ จนถึงวันนี้ เป็นสิ่งย้ำเตือนให้ทำงานอย่างหนัก เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อทำนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น เพื่อทำให้ความฝันกลายเป็นความจริงให้ได้ 30 บาทรักษาทุกโรค ถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในฐานะรัฐบาล ที่ประชาชนคนไทยสามารถจับต้องนโยบายที่เป็นรูปธรรม เข้าถึงการรักษาพยาบาล ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล มีชีวิตอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อย่างที่ควรจะเป็น
"เรามีความภูมิใจว่าเป็นนโยบายที่สร้างสรรค์ภาคภูมิใจอย่างที่สุดให้กับเรา จึงถึงเวลาที่ยอดรักษาทุกโรคให้เป็นรักษาทุกที่มีนวัตกรรมมากมายเก็บตัวอย่างข้อดีและข้อเสียเพื่อมา ปรับปรุงแล้ววันนี้ 23 ปี" น.ส.แพทองธาร กล่าว
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า กทม.เป็นพื้นที่เดียวในประเทศไทย ที่ขาดแคลนบริการสาธารณสุขในระดับต้นและระดับกลาง จึงควรมีศูนย์บริการสาธารณสุขถึง 500 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 50 แห่ง ขณะที่ต่างจังหวัดมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพสต.) 7,000 แห่ง หรือโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอกว่า 800 แห่ง ทั่วประเทศ
แต่ในวันนี้ ทุกคนที่ถือสิทธิ์ 30 บาท รักษาทุกที่ใน กทม. ถ้าเจ็บป่วยเล็กน้อย สามารถเข้าไปหาหน่วยบริการสาธารณสุขได้เลย เช่น ร้านยาใกล้บ้าน, คลินิกเวชกรรมใกล้บ้าน, คลินิกทันตกรรมใกล้บ้าน ,รถโมบายตรวจเลือด ที่บางครั้งจะเข้าไปให้บริการในชุมชน ตู้คิออสในห้างหรือสถานีรถไฟฟ้า ที่สามารถเข้าไปปรึกษาคุณหมอผ่านเทเลเมดิซีนได้ และมีหน่วยบริการอื่นๆ ใกล้บ้านอีกหลายแห่ง ที่มีสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
น.ส.แพทองธาร กล่าวด้วยว่า ตลอด 8 เดือนของการดำเนินงานรักษาทุกที่ ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดย 1ใน 4 ของ ของผู้ป่วยเลือกใช้บริการที่คลินิกเอกชนใกล้บ้าน แทนการมาที่โรงพยาบาล เพื่อลดความแออัด ลดระยะเวลาการรอตรวจ ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาล โดยเฉลี่ย 160 บาทต่อครั้ง ลดระยะเวลารอในโรงพยาบาลลงถึง 50% จากเฉลี่ย 2 ชั่วโมง เหลือประมาณ 1 ชั่วโมง และลดภาระการขาดงานของผู้ป่วยและญาติ ทำให้ประชาชน ผู้รับบริการกว่า 98% พึงพอใจกับนโยบายนี้
ทั้งนี้ ตั้งแต่ในวันที่ 7 ม.ค. 2567 ได้เริ่มใน 4 จังหวัดนำร่อง และขยายนโยบายครอบคลุมเพิ่มเติมอีก 41 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 45 จังหวัด และ กทม. เป็นจังหวัดที่ 46
"ขอประชาชนคนไทยมั่นใจได้ว่า ภายในปี 2567 นี้ รัฐบาลจะสามารถขยาย ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั่วประเทศไทย เพื่อทำให้คนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาล ได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น มีรัฐบาลเป็นผู้ดูแล" น.ส.แพทองธาร ระบุ
ทางด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า โครงการ 30 รักษาทุกที่ จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการที่ดีถ้วนหน้า ซึ่งกรุงเทพมหานคร เป็น จังหวัด ที่ 46 ใน การ ดำเนินการ และมีเป้าหมายจะ ขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ต่อไป
โดยจะมีการพัฒนาระบบปฐมภูมิ เพิ่มความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น ได้ดึงคลินิกเอกชน 7 ด้านเข้าเป็นหน่วยบริการนวัตกรรม จากการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าผลการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ระยะที่ 1 ทำให้ประชาชนร้อยละ 98 มีความพึงพอใจมาก เนื่องจากได้รับความสะดวกในการใช้สิทธิ์รับบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องรอคิวนาน
ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ดีใจที่รัฐบาลสานต่อ 30 บาท รักษาทุกที่ในพื้นที่ กทม. ซึ่งเรื่องสาธารณสุขเป็นหัวใจสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ และปัญหาสาธารณสุขไม่ได้น้อยแต่อาจจะมากกว่าจังหวัดอื่นด้วยซ้ำ กทม.มีประชากรรวมประชากรแฝงถึง 10 ล้านคน สุขภาพก็มีหลายมิติจึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาใช้เชื่อมโยงประวัติระบบปฐมภูมิที่เข้มแข็ง
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กทม. ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาเทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูลไร้รอยต่อ เพื่อรับโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่
ปัจจุบันได้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพผ่านระบบดิจิทัล สถานพยาบาลในพื้นที่ทั้งโรงพยาบาลในสังกัด 12 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และหน่วยบริการนอกสังกัด มีการพัฒนาระบบส่งต่อระบบ Health Link และแพลตฟอร์มอื่นๆ และติดป้ายสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ หน่วยบริการนวัตกรรมแล้วกว่า 1,500 แห่ง ระบบของ กทม.
"วันนี้พร้อมแล้วที่จะให้คน กทม. เข้าถึงระบบบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า ที่ผ่านมากทม. พัฒนาร่วมกับสปสช. และสาธารณสุข อย่างเข้มแข็ง เชื่อว่าเรื่องนี้ เป็นหัวใจพื้นฐานใน กทม. ถ้าประชาชนสุขภาพดีจะมีกำไรในการพัฒนาประเทศต่อไป" นายชัชชาติ กล่าว
จากนั้น น.ส.แพทองธาร พร้อมคณะเยี่ยมชมบูธเกี่ยวกับสุขภาพ ภายในงาน โดยเน้นย้ำขอให้ดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษในพื้นที่น้ำท่วม