‘เลขาฯสภาพัฒน์’ แนะไทยหาโอกาสจากความเสี่ยงขัดแย้ง ‘ภูมิรัฐศาสตร์โลก’ หนุนออกมาตรการดึงดูดต่างชาติลงทุน ‘อุตฯเซมิคอนดักเตอร์’ จูงใจ ‘แรงงานทักษะสูง’ เข้ามาในประเทศ เตือนสงครามการค้า ‘สหรัฐ-จีน’ ยังยืดเยื้อ จับตาสงครามใน 'ตะวันออกกลาง' ขยายวง กระทบราคาพลังงาน
......................................
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก : นัยต่อประเทศไทย” ในการประชุมประจำปี 2567 ของ สศช. เรื่อง “พลิกความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาสประเทศไทย” ตอนหนึ่งว่า ในช่วงที่ผ่านมาระดับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน และพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่เกิดสงครามในพื้นที่ย่อยระหว่างอิสราเอล-ฮามาส
“เรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างอิสราเอล-ฮามาส หลายๆคนอาจมองว่าเป็นสงครามในพื้นที่จำกัด แต่จริงๆแล้ว มีแนวโน้มที่จะขยายวงมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน จึงต้องติดตามและระมัดระวังเช่นกัน” นายดนุชา กล่าวและว่า “หากช่วงแคบเฮอมูสถูกปิด เมื่อนั้นจะมีปัญหาในแง่พลังงานทันที เพราะเป็นช่องทางเดียวที่เอาเรือน้ำมัน เรือแก๊สออกมาจากตะวันออกกลาง แม้แต่ขณะนี้ค่าระวางเรือก็เพิ่มขึ้น เพราะแทนที่จะวิ่งผ่านคลองสุเอซ ก็ต้องไปอ้อมที่แหลมกู๊ดโฮป เพื่อบริหารความเสี่ยง”
นายดนุชา กล่าวต่อว่า ผลจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในโลกในหลายมิติ ซึ่งล้วนแล้วส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยในช่วงถัดไปผลกระทบในเรื่องเศรษฐกิจโลกยังคงดำรงอยู่ เนื่องจากการกีดกันทางการค้า และสงครามทางการค้ายังเกิดขึ้นอยู่ ส่วนเรื่องพลังงานก็ยังมีปัญหาเช่นกัน แม้ว่าขณะนี้ราคาพลังงานจะขยับไม่มากนัก แต่ก็ไม่แน่ เพราะหากสงครามในตะวันออกกลางขยายวงไปยังพื้นที่การผลิต ก็จะมีปัญหาเรื่องพลังงานตามมา
ขณะเดียวกัน การสูญเสียในเรื่องระบบนิเวศต่างๆ เช่น การสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรมในระหว่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งยูเครนเป็นพื้นที่ผลิตสินค้าธัญพืชที่สำคัญและปุ๋ย ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนในเรื่องพวกนี้ และสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป คือ การดำเนินนโยบายของสหรัฐในการกดดันประเทศจีนในด้านต่างๆ
“สิ่งที่ต้องติดตามในช่วงถัดไป คือ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ตอนนี้มีแคนดิเดต (ประธานาธิบดี) 2 ท่าน แม้ว่าทั้ง 2 ท่าน จะมีนโยบายที่แตกต่างกันบ้าง แต่สิ่งที่เหมือนกันของทั้ง 2 ท่าน คือ การกดดันจีนยังคงดำรงอยู่ ฉะนั้น สงครามทางการค้า การกีดกันทางด้านเศรษฐกิจ และการกีดกันทางด้านเทคโนโลยี ก็คงดำรงอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะมากระทบต่อประเทศไทย แต่ก็เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยเช่นกัน” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา ระบุว่า จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งพัฒนาไปสู่สงครามเทคโนโลยีนั้น จะเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการดึงอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคต เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เข้ามาตั้งในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยต้องมีมาตรการหรือรูปแบบที่เหมาะสม รวมทั้งสร้างความน่าสนใจ เพื่อดึงอุตสาหกรรมเหล่านี้เข้ามาในประเทศ เนื่องจากในอนาคตอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จะเป็นหัวใจสำคัญในการทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้า
“นอกจากเรื่องอุตสาหกรรมแล้ว เรื่องผู้เชี่ยวชาญเป็นอีกอันหนึ่งที่มีการแย่งชิงกัน ซึ่งจาก Global Talent Competitiveness Index ไทยอยู่อันดับที่ 79 เรียกว่าอยู่กลางๆ แต่ก็สะท้อนว่า คนของเรายังไม่ค่อยพร้อม วิธีการ คือ ต้องเอาคนข้างนอกเข้ามาทำ และคงไม่ใช่ไทยประเทศเดียวที่คิดแบบนี้ ประเทศอื่นก็คิด ดังนั้น การแย่งชิงเรื่องพวกนี้ โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความสามารถจะเกิดขึ้น เราเองก็แพลตฟอร์มที่ดึงคนเหล่านี้เข้ามา เช่น เรื่อง Visa แบบพิเศษ” นายดนุชา ระบุ
นอกจากนี้ จากวิกฤติผู้อพยพจากเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ โดยเฉพาะผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน ไทยน่าจะพิจารณาข้อดีข้อเสีย รวมทั้งหาวิธีนำคนเหล่านี้เข้ามาเป็นแรงงานขั้นต้นหรือทำอาชีพในเมืองไทย เพื่อเป็นกำลังพัฒนาประเทศในช่วงถัดไป เนื่องจากขณะนี้ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว อีกทั้งประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อม เช่น พันธุ์พืชและวัตถุดิบ การวางแผนการผลิต เพื่อรับมือเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร รวมทั้งดูแลเรื่องการจัดการน้ำ เป็นต้น
นายดนุชา ระบุด้วยว่า จากความเสี่ยงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลกนั้น ไทยต้องพยายามใช้โอกาสนี้ดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ เพื่อทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่ามากขึ้น มีอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การดึงแรงงานที่ทักษะสูงๆเข้ามาทำงานในประเทศ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้คนไทย เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าอย่างก้าวกระโดด และการสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
รวมทั้งการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน โดยการพัฒนาตัวเองให้เป็นศูนย์กลางด้านพลังงานในภูมิภาคนี้ การเจรจาเพื่อให้ได้ข้อยุติในการพัฒนาแหล่งก๊าซในพื้นที่ที่ยังมีข้อขัดข้องกันอยู่ เพื่อทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงในด้านพลังงาน