‘ครม.แพทองธาร’ อนุมัติงบกลางฯ ‘รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินฯ’ ก่อนสิ้นปีงบ 67 รวดเดียว 3.5 หมื่นล้าน จัดสรร 3,045 ล้าน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เติม 5,924 ล้านบาท ยกระดับ ‘30 บาท รักษาทุกโรค’ สู่ ‘บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่’ อนุมัติ 23,552 ล้าน เป็นค่าใช้จ่ายแจก ‘เงินหมื่น’ กลุ่มเปราะบาง
...............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 35.147.03 ล้านบาท สำหรับใช้ในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2567 ประกอบด้วย
1.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมวงเงินทั้งสิ้น 624.80 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการยกระดับและพัฒนาระบบบริการสุขภาพ หน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาครุภัณฑ์การแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สำหรับครุภัณฑ์ทางการแพทย์ในโครงการฯที่จะจัดซื้อ ได้แก่ ชุดตรวจสุขภาพระบบแพทย์ทางไกลแบบพกพา 672 ชุด (ชุดละ 50,000 บาท) เครื่องตรวจอวัยวะภายในด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงแบบพกพาไม่ต้องชาร์จไฟฟ้า พร้อมระบบแพทย์ทางไกล 102 เครื่อง (ชุดละ 350,000 บาท) เครื่องช่วยนวดหัวใจและฟื้นคืนชีพผู้ป่วยอัตโนมัติ 161 เครื่อง (เครื่องละ 1 ล้านบาท) เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตรและความดันเคลื่อนย้ายได้ 48 เครื่อง (เครื่องละ 450,000 บาท)
2.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) จำนวน 5,924.31 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” ประจำปีงบประมาณ 2567 สำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของประชาชนให้มีความครอบคลุมมาก ได้แก่
(1) บริการในหน่วยบริการอื่นกรณีที่มีเหตุสมควร (OP Anywhere) โดยผู้รับบริการตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถใช้บริการที่โรงพยาบาลอื่นนอกเหนือจากโรงพยาบาลที่ได้ลงทะเบียนไว้ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
(2) บริการสาธารณสุขในหน่วยนวัตกรรม โดยผู้รับบริการตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการด้านสาธารณสุขประเภทอื่นจำนวน 8 ประเภท ได้แก่ ร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม รถทันตกรรมเคลื่อนที่ และคลินิกแพทย์แผนไทย
ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เริ่มดำเนินนโยบายฯ ในวันที่ 7 ม.ค2567 ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส และในปัจจุบันให้บริการครอบคลุมแล้ว 46 จังหวัด โดยในปัจจุบันผู้มีสิทธิตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีจำนวน 43,560,944 ราย
3.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินไม่เกิน 23,552.40 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2567 ให้เป็นรูปธรรม
สำหรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ หรือการสนับสนุนเงิน 10,000 บาท ให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ หรือกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน นั้น มีกรอบวงเงิน 1.45 แสนล้านบาท โดยมีแหล่งเงินจาก 2 แหล่ง คือ 1.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบฯ 2567 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวน 1.22 แสนล้านบาท และ 2.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 23,552 ล้านบาท
4.อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน กรณีอุทกภัย จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,045.52 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 โดยให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยรับงบประมาณและจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยผ่านธนาคารออมสิน ให้เบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไป รวมทั้งให้สามารถถัวจ่ายข้ามจังหวัดได้
สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายดำรงชีพเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัยเป็นกรณีพิเศษ มีดังนี้ 1) กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท
2) กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท และ 3) กรมีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 60 วัน ขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 9,000 บาท โดยมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้เสนอของบประมาณ และกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินดังกล่าว
5.อนุมัติเงินงบประมาณรายรายจ่ายประจำปีงบฯ 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,000 ล้านบาทบาท เพื่อใช้จ่ายสำหรับงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้ส่วนราชการมีเงินทดรองราชการหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที