ครม.อนุมัติงบกลาง 5.9 พัน ล.! สปสช.เร่งจัดสรรให้ทันสิ้นเดือน ยันใช้ทั้งบัตรทอง-งบผู้ป่วยใน บรรเทาปัญหา รพ.ขาดทุน พร้อมคิกออฟ '30 บาท รักษาทุกที่' กทม.จัดระบบแก้ปัญหาใบส่งตัว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แถลงข่าว “การเตรียมความพร้อมของ สปสช. รองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ กรุงเทพฯ” ว่า กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่ 46 ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ แต่เป็นจังหวัดที่สำคัญ ที่จริง ๆ หลายคนบอกว่า กทม. อาจเป็นจังหวัดท้ายสุด แต่ด้วยความร่วมมือทำให้ กทม. เร่งดำเนินการได้ ในวันที่ 27 ก.ย. 2567 จะเป็นวันเปิดตัวโครงการฯ โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาหัวข้อ '30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพถ้วนหน้า' ซึ่งจะมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมในพิธีเปิดงานด้วย
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการดำเนินการโครงการฯ ในกทม. ยืนยันว่าเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล (รพ.) ใหญ่ลง ไม่ได้สนับสนุนให้คนไปแออัดใน รพ. ใหญ่ ด้วยการเพิ่มหน่วยบริการใกล้บ้าน “หน่วยบริการปฐมภูมิ” เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับบริการมากขึ้น เพราะบางครั้งเจ็บป่วยเล็กน้อย ก็สามารถรับบริการใกล้บ้านได้ ตั้งแต่ร้านขายยาที่มีเภสัชกร หรือจะไปพบแพทย์ในคลินิกชุมชนอบอุ่น และมีการเพิ่มคลินิกพิเศษต่าง ๆ อีกหลายร้อยคลินิก
อีกทั้ง ยังมีหน่วยบริการทางทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกแพทย์แผนไทย หรือคลินิกเทคนิคการแพทย์ (แล็บ) ที่ใน กทม. มีบริการเจาะเลือดที่บ้านด้วย และยังมีการให้บริการเชิงรุกเพื่อสร้างเสริมป้องกันโรคในชุมชน และการตรวจสุขภาพให้ประชาชนในห้างสรรพสินค้าด้วย
“นอกจากนั้น สปสช. ได้ปรับระบบส่งตัวในกรณีที่มีความจำเป็น ทำให้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว อดีตที่ผ่านมามีความวุ่นวายเพราะต้องใช้ใบส่งตัวแบบกระดาษ แต่ครั้งนี้เราจะใช้แบบอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากการปฏิรูประบบครั้งนี้มีการปรับระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยบริการ เช่น ประชาชนไปรับบริการหน่วยหนึ่งแล้วมีความจำเป็นต้องส่งตัว หรือไปผิดขั้นตอนแล้วหน่วยบริการปลายทางอยากทราบประวัติผู้ป่วย ก็สามารถเปิดดูข้อมูลได้ นอกจากนั้น ก็ยังใช้ตรงนี้เรียกค่าชดเชยจากสปสช.ได้เลย และยังได้เพิ่มเติมขึ้นมาด้วยการให้สายด่วน 1330 เพื่อจองคิวก่อนเข้ารับบริการ ส่วนหน่วยบริการที่รับผู้ป่วยแล้วต้องการความมั่นใจด้วยใบส่งตัวแบบกระดาษ ก็สามารถโทรเข้า 1330 เพื่อมาจองค่าชดเชยในการให้บริการได้” นพ.จเด็จกล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ประชาชนสามารถเข้ารับบริการโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ได้ ด้วยการสังเกตตราสัญลักษณ์ที่ติดอยู่หน้าหน่วยบริการ ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกประกาศเป็นกฎหมายแล้ว เพื่อสร้างความมั่นใจและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยและหน่วยบริการ
นพ.จเด็จ กล่าวถึงงบประมาณที่ใช้ในโครงการฯว่า สำหรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ทำให้มีหน่วยบริการเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องเตรียมงบฯ เข้ามา ขอย้ำว่าเมื่อเราบอกว่า 30 บาทรักษาทุกที่ ไม่ได้หมายถึงแค่หน่วยบริการนวัตกรรมเท่านั้น แต่รวมถึงระบบทั้งหมด
นพ.จเด็จ กล่าวถึงกรณี ครม.อนุมัติงบฯน้อยกว่าที่ขอไปนั้น ว่า ยืนยันว่าเราเสนอไปตามหลักวิชาการ แต่เป็นข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ ส่วนหนึ่งอาจมองว่ายังไม่สิ้นปีงบประมาณ จริงๆ โดยหลักต้องปิดงบฯ ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ แต่นี่เป็นการประมาณการบางส่วนในอนาคต อย่างไรก็ตาม รมว.สาธารณสุข ได้มีการสั่งการให้ประชุมบอร์ดด้วยในวันที่ 23 ก.ย.ยนี้ เป็นว่าระด่วนที่สุด เนื่องจากเป็นงบกลาง จึงต้องเร่งโอนเงินให้ทันก่อน 30 ก.ย. โดยสำนักงานฯ จะต้องดำเนินการเกลี่ยส่วนต่างๆ ที่อาจจะเหลือ ซึ่งเรามีอยู่ 16 หมวด และหนึ่งในนั้นคือหมวดผู้ป่วยใน อย่างไรก็ตาม หากหมวดต่างๆ มีเหลือ มีขาดอย่างไร ที่เหลือก็จะเอางบกลางเข้ามา
ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวโดยไม่ต้องพึ่งงบกลาง นพ. จเด็จ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องบริหารงบฯ ที่ได้มาแต่ละปีให้ดีก่อน เพยงแต่งบกลางที่ได้มาครั้งนี้ มาจากผลของการปฏิบัติงานจริง และประชาชนได้ประโยชน์ ซึ่งสปสช.ทำหน้าที่ในการรงลรวมข้อมูลเพื่อเสนอ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า งบฯ ที่ขอไปเพราะเรามีผลงานเพิ่มขึ้น และขอบคุณหน่วยบริการต่างๆ ที่ให้บริการประชาชนเพิ่มขึ้น
“ต้องขอขอบคุณหน่วยบริการต่าง ๆ ที่กรุณาให้บริการประชาชนมา คิดว่างบประมาณจะเร่งดำเนินการลงไป แม้จะไม่ได้ 100% ตามที่คาดหวัง แต่อย่างน้อยก็เข้ามาสนับสนุนให้หน่วยบริการมั่นใจในการให้บริการประชาชนก่อนที่เราจะเข้าสู่หมวดงบฯ ปี 2568 ต่อไป ทั้งนี้ สปสช. เวลาตั้งงบประมาณ เราก็ไม่ได้บอกว่าเราตั้งถูกต้องทุกปี บางครั้งเราก็ถูกตัด ถูกทอนงบฯ ลงไป จึงต้องมีการทำตัวเลขอยู่ตลอด อย่างไรก็ตาม ขอให้มั่นใจว่างบฯ พอ แต่คงไม่มีประเทศไหนที่จะบอกว่าให้เงินไม่อั้น สิ่งทำคัญคือเสนอข้อมูลที่เป็นจริง ถูกต้อง รัฐบาลก็จะดำเนินการให้" นพ.จเด็จ ระบุ
ด้าน พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย สังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 69 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่นราว 280 แห่ง นอกจากนั้นยังมีหน่วยบริการนวัตกรรม 7 ประเภท
ข้อมูลล่าสุดวันที่ 12 ก.ย. 2567 รวม 1,369 แห่ง ที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ประกอบด้วย คลินิกเวชกรรมนอกเวลา 171 แห่ง ทันตกรรม 195 แห่ง ร้านยาคุณภาพ 910 แห่ง คลินิกกายภาพบำบัด 23 แห่ง คลินิกพยาบาล 113 แห่ง คลินิกแพทย์แผนไทย 28 แห่ง และคลินิกเทคนิคการแพทย์ 29 แห่ง ทั้งนี้ จะมีการขยายออกไปอีก 10 ประเภท ได้แก่ การแพทย์ทางไกลที่มีเปิดอยู่แล้ว 4 แอพพลิเคชั่น, การเจาะเลือดที่บ้านที่ตอนนี้เน้นผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง 16 แห่ง, รถทันตกรรมเคลื่อนที่ 3 คัน, รถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ในชุมชน, ระบบแพทย์ทางไกลในโรงเรียนสำหรับนักเรียน, ตรวจสุขภาพเชิงรุก 133 แห่ง, ตู้เทเลเมดดิซีนที่ประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ เช่น ปั๊มน้ำมัน สนามบิน สถานีรถไฟฟ้า และ บริการล้างไตด้วยตู้อัตโนมัติที่อยู่ระหว่างการขออนุญาต เป็นต้น
“ส่วนการรับส่งต่อในกทม. ตอนนี้มี รพ.ในระบบ 35 แห่ง มีเตียงราว 16,000 กว่าเตียง แต่ในกทม.จะมีการรับส่งต่อมาจากต่างจังหวัด จึงต้องหาหน่วยบริการเพิ่มเติมเพื่อเสริมเตียงเข้ามา โดยจะมีการรับ รพ. เพิ่มอีก 7 แห่งรวม ๆ 500 เตียง และจะมีสายด่วน 1330 เป็นกลไกในการรับส่งต่อให้ประชาชนเกิดความสะดวกมากขึ้น” พญ.ลลิตยา กล่าว
นายประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับการเชื่อมโยงข้อมูลในหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนในระบบ ขณะนี้เชื่อมโยงผ่าน Health Link แล้ว 94% โดยหลัก ๆ จะมีแอพพ์ที่จะใช้ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ กทม. อยู่ 4 แอพพ์ ได้แก่ 1.หมอ กทม. (กรุงเทพมหานคร) ซึ่งจะมีประวัติการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการของสังกัดกทม. 2.เป๋าตัง 3.DMS PHR ซึ่งเป็นแอพพ์ของกรมการแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และ 4.กลาโหม PHR ที่จะเป็น รพ. ในสังกัดกระทรวงกลาโหม