'วิโรจน์' อัดรัฐบาลชุดที่แล้ว 1 ปีแก้ปัญหายาเสพติดล้มเหลว มีแต่สั่งการ ไม่เทงบเสริม ก่อนตั้ง 3 ประเด็นปัญหาที่รัฐบาลต้องทำ 'ไม่จับขังคนเสพ-จริงจังเรื่องการบำบัด-จับกุมยึดทรัพย์พ่อค้ารายใหญ่'
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 12 กันายน 2567 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 162
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายถึงการจัดการปัญหายาเสพติด โดยเน้นไปที่ยาบ้าว่า ที่ผ่านมายังไม่เห็นความชัดเจนใดๆในการจัดสรรงบประมาณและการปฏิบัติอย่างครบวงจรจากรัฐบาลชุดที่แล้ว จนมาถึงคำแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็ยังไม่เห็นความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญจากรัฐบาลชุดที่แล้วเลย
นับตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2567 ที่ให้มีการบูรณาการในการปราบปรามแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังและเด็ดขาดโดยให้มีผลเป็นรูปธรรมภายใน 90 วัน โดยเฉพาะพื้นที่ 25 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดอย่างรุนแรง แต่กว่าจะมีการเสนอแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ที่ให้สันนิษฐานเอาไว้ว่ามีครอบครองเพื่อเสพจาก 5 เม็ดเหลือ 1 เม็ด ก็ต้องรอถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ก่อนจะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 17 มิถุนายน 2561 เท่ากับว่าใช้เวลาถึง 41 วันในการแก้ไขกฎหมายของกระทรวง คิดเป็นครึ่งทางของระยะเวลา 90 วันตามที่มีมติครม.
และกว่าจะมีมติครม.ให้มีการลาดตระเวนเอกซเรย์สุ่มตรวจปัสสาวะทุกหมู่บ้านแยกกลุ่มผู้เสพกับผู้ค้า โดยให้กลุ่มผู้เสพเข้ารับการบำบัดนั้น ต้องรอถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 หรือเท่ากับผ่านไปเกือบครึ่งเดือนกว่าจะมีการสุ่มตรวจ แถมรัฐบาลชุดที่แล้วก็เอาแต่สั่งอย่างเดียว ปล่อยให้นายอำเภอทำงานร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยที่รัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบประมาณส่งเสริมแต่อย่างใด และการทำงานก็ถูกผู้มีอิทธิพลในชุมชนข่มขู่
จากนั้นอีก 28 วัน ครม.จึงมีมติเร่งรัดการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ทั่วถึงและรวดเร็ว ดังนั้นการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาจึงเป็นการสั่งอย่างเดียวแต่เงินไม่จ่าย แล้วการทำงานจะคืบหน้าได้อย่างไร
นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า รัฐบาลชุดที่แล้วทำงานตั้งเป้าแก้ไขปัญหายาเสพติดภายใน 90 วันแต่ผ่านไปแล้ว 84 วันยังสาละวนอยู่กับการแก้ไขกฎกระทรวง การสั่งการฝ่ายปกครอง และเร่งรัดการจ่ายค่าตอบแทน ทำให้ระยะเวลาตามเป้าหมาย 90 วันเหลือเวลาทำงานเพียงแค่ 6 วันเท่านั้น ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า นโยบายการแก้ไขของรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นไปแบบคิดไปทำไป ไม่ได้คิดเป็นระบบตั้งแต่แรก ดังนั้น จึงมีความหวังว่ารัฐบาลชุดนี้ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี จะได้บทเรียนและไม่ทำเช่นรัฐบาลที่ผ่านมา
@อย่าจับคนเสพยัดคุก หวั่นสร้างเครือข่ายค้ายา
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหายาเสพติดหากรัฐบาลไม่คลายปม 3 ประเด็น จะทำให้ปัญหายาเสพติดลุกลามกระจายวงกว้าง ฝังรากลึก ทำลายระบบเศรษฐกิจจนกลายเป็นปัญหาสังคมที่ยากจะแก้ไขด้วย สำหรับปมปัญหา 3 ประเด็นประกอบด้วย
1. การจับกุมผู้เสพ และผู้ครอบครองไปจำคุก จะเป็นการเติมแรงงานให้ธุรกิจยาเสพติด การแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องจับตัวใหญ่ และเมื่อจับแล้วต้องยึดทรัพย์ ส่วนตัวเล็กตัวน้อยเมื่อจับกุมแล้วต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู อย่าหลอกประชาชนด้วยจำนวนผู้ต้องหา จำนวนคดีความ ที่เพิ่มมากขึ้นแต่เต็มไปด้วยผู้ต้องหาแบบปลาซิวปลาสร้อย
สะท้อนจากร่างกฎกระทรวงที่มีการแก้ไขโดยปรับลดการครอบครองยาบ้าจาก 5 เม็ดเหลือ 1 เม็ดนั้น ในปี 2567 เพียงแค่ 10 เดือนมีคดีเสพและครอบครองไว้เพื่อเสพมีมากถึง 139,783 คดี เทียบกับปี 2566 มีจำนวนคดีที่ 156,798 คดี โดยมีการประเมินว่า หากมองภาพรวมทั้งปีจำนวนคดีอาจพุ่งสูงถึง 167,000 คดี ขณะที่ผู้ต้องขังในเรือนจำพบว่ามีผู้กระทำความผิดคดียาเสพติดจำนวน 218,657 คน จากจำนวนนักโทษในเรือนจำ 3 แสนกว่าคน
"ความน่ากังวลคืออะไรครับ จำนวนนักโทษเด็ดขาดที่เป็นผู้เสพและผู้ครอบครองไว้เพื่อเสพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขนาดที่นักโทษที่มีความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดมีแนวโน้มลดลง สะทอนว่าเรือนจำกำลังกลายเป็นสถานที่กักกันผู้เสพและปล่อยผู้จำหน่ายรายใหญ่ค้าขายกันอยู่ข้างนอกเรือนจำ ดังนั้นท่านนายกต้องเข้าใจเสียใหม่ว่าการจับกุมผู้เสพและผู้ครอบครองเพื่อเสพ ไม่สามารถทำให้ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดลดลงได้ ซ้ำร้ายเมื่อผู้เสพถูกดำเนินคดีก็จะมีประวัติอาชญากรรม ทำให้โอกาสในการหางานใหม่ประกอบอาชีพเป็นไปอย่างยากลำบาก และการเคยถูกต้องขังในเรือนจำจะทำให้ผู้เสพรู้จักกับเครือข่ายยาเสพติด ระบบแบบนี้จะทำให้ผู้ต้องขังหวนกลับไปวนเวียนอยู่ในคดียาเสพติดซ้ำถึง 76.9% จะกลายเป็นการป้อนแรงงานให้ธุรกิจยาเสพติดและเป็นการส่งเสริมให้มีการสร้างเครือข่ายและระบบในการค้าขายยาเสพติด" นายวิโรจน์กล่าวตอนหนึ่ง
นายวิโรจน์กล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ 2566 จำนวนคดีอาญา 691,539 คดี เป็นคดียาเสพติดสูงถึง 322,204 คดี มีผู้ต้องหา 324,043 ราย คำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมสูงถึงปีละ 70,000 ล้านบาท เท่ากับว่าในปีๆหนึ่งจะมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการจับกุมผู้ต้องหาตัวเล็กตัวน้อยรวมอยู่ที่ประมาณ 90,000-100,000 ล้านบาท
ดังนั้น มาตรการที่รัฐบาลควรมุ่งเน้นจึงไม่ใช่การจับกุมขัง ต้องมุ่งไปที่การสนับสนุนงบประมาณในการทำงานร่วมกับชุมชน สร้างภาคีเครือข่ายต่างๆในการพาผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูแบบสมัครใจ
@จริงจังเรื่องบำบัดฟื้นฟู
นายวิโรจน์กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 การบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ รัฐบาลต้องใส่ใจมากกว่านี้ ปัจจุบันไม่มีการส่งเสริมให้ผู้ติดยาเข้ารับการบำบัดแบบสมัครใจ โดยขีดความสามารถในการรองรับผู้ติดยายังมีอีกเท่าตัว โดยทั่วประเทศมีศักยภาพรองรับผู้ติดยาเสพติดถึง 2 ล้านคน แต่มีคนเข้ามาบำบัดเพียง 143,573 คนเท่านั้น แสดงว่า รัฐบาลยังขาดการจูงใจให้ผู้ติดยารู้สึกปลอดภัยในการเข้ารับการบำบัด ขาดการสนับสนุนงบประมาณฝนโครงการชุมชนล้อมรัก ไม่ให้ควา่มสำคัญกับชุมชนในการเปิดให้มามีส่วนร่วมกับการติดตามการบำบัดฟื้นฟู
ทั้งหมดนี้ ทำให้การบำบัดฟื้นฟูและการรายงานตัวกับสำนักงานคุมประพฤติอยู่ในระดับต่ำมาก อีกทั้งสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดก็มีศักยภาพต่ำมาก ในกรุงเทพฯมีเพียง 3 แห่ง ขณะที่สถานฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดที่เป็นโรคจิตเวช ยิ่งมีข้อจำกัด โดยมีโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยเพียง 20 แห่ง มีเตียงรองรับ 1,094 เตียง แม้จะมีแผนกระจายมินิธัญญรักษ์ไปทั่วประเทศ แต่ก็ไม่มีการสนับสนุนด้านงบประมาณ
@จับพ่อค้ารายใหญ่ ต้องยึดทรัพย์
ส่วนประเด็นที่ 3 นายวิโรจน์กล่าวว่า รัฐบาลต้องจับกุมยึดทรัพย์เครือข่ายพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ ถึงจะปรับอุปทานยาเสพติดให้ได้ผล พ่อค้ายาเสพติดไม่กลัวการติดคุก เพราะขบวนการค้ายามีเครือข่ายการกระจายยาไปหลายๆทอด สิ่งที่ต้องทำคือการยึดทรัพย์ เพราะัเงินสามารถทำให้ได้มาซึ่งอภิสิทธิ์บางอย่างได้ การยึดทรัพย์จึงเป็นการลดความมั่งคั่งจากเงินสกปรกเหล่านี้
"การตัดอุปทานยาเสพติดที่ได้ผลดีที่สุด คือ การจับกุมพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ ซึ่งต้องย้ำว่า สิง่ที่พ่อค้ายากลัวที่สุดคือการยึดทรัพย์ ถ้าพ่อค้าสิ้นเนื้อประดาตัว ความมั่งคั่งที่สะสมไว้ก็หายไป ลูกสมุนที่เคยรับใช้ก็จะกระเซ็นกระสายไป และจะไม่มีทุนรอนกลับมาตั้งตัวค้ายาใหม่" นายวิโรจน์กล่าวอีกตอน