สภากทม. ยังไม่อนุมัติตามที่ 'ชัชชาติ' ขอใช้เงินสะสมจ่ายหนี้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว วงเงิน 1.4 หมื่นล้าน แม้จะยกเหตุผลข้ามปีงบประมาณจะทำให้ภาระหนี้-ดอกสูงขึ้น สุดท้ายมีมติตั้งกรรมาธิการศึกษาประเด็นก่อน ใช้เวลา 30 วัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 12 นยายน 2567 นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) เปิดเผยว่า ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 เมื่อวานนี้ (11 ก.ย. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) อภิปรายว่า เนื่องจากกทม.มีความประสงค์จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เป็นค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งสภากทม.ได้ให้ความเห็นชอบจ่ายขาดเงินสะสมแล้ว ซึ่งตามหลักการได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงประมาณ พ.ศ. 2567 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... เป็นจำนวนไม่เกิน 14,549,503,800 บาท (หนึ่งหมื่นสี่พันห้าร้อยสี่สิบเก้าล้านห้าแสนสามพันแปดร้อยบาทถ้วน) เป็นรายจ่ายพิเศษจ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร จึงขอความเห็นชอบจากสภากทม.
ทั้งนี้ กทม.มีความจำเป็นต้องจ่ายรายจ่ายพิเศษจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทหมหานคร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 97 และมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ประกอบกับข้อ 12 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม พ.ศ. 2562 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 กรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร จึงตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้เรียกว่า "ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .."
ข้อ 2 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ฉบับที่ ..) พ.ศ..... ให้ตั้งเป็นรายจ่ายพิเศษ จำนวน 14,549,503,800 บาท ตามรายละเอียดเอกสารงบประมาณ โดยจำแนกดังนี้ งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ สำนักการจราจรและขนส่ง งบประมาณภารกิจประจำพื้นฐานผลผลิตระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ 14,549,503,800 บาท
ข้อ 4 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครควบคุมการใช้จ่ายเงินและการบริหารงบประมาณตามรายการและจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้
ข้อ 5 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรักษาการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ รวม 14,549,503,800 บาท
@รองผู้ว่าฯวอนอนุมัติ หวั่นหนี้-ดอกทบต้นสูงขึ้น
ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวเสริมว่า หากไม่สามารถพิจารณาเงินก้อนนี้ได้ภายใน 30 กันยายนนี้ ซึ่งอยู่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะทำให้ข้ามไปสู่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการชำระหนี้และอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น จึงต้องพยายามขอความเห็นชอบจากสภากทม. สำหรับเงินก้อนนี้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ได้ ส่วนเรื่องการจ่ายชำระหนี้จะเป็นขั้นตอนต่อไป
ขณะที่นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดกทม.ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สิน แต่ผู้มาบริหารเดินรถได้กำไรอยู่ฝ่ายเดียว ทำไมกทม.ต้องจ่ายในราคาสูงตามที่ฟ้องมาขนาดนี้ และในส่วนของบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ที่ทวงหนี้ กทม. ผ่านสื่อแบบนี้ตามกฎหมายแล้วเป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่ ตลอดจนการทำสัญญาที่ผิดปกติหรือไม่ จึงอยากให้คณะผู้บริหารไตร่ตรองเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วนแทนประชาชนด้วย
ด้านนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรายละเอียดการชำระหนี้ดังกล่าว ทั้งเรื่องของดอกเบี้ยต่อปี จำนวนที่ต้องชำระทั้งหมด และการคำนวณดอกเบี้ยต่อวันนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่อย่างไร
เช่นเดียวกับนายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ได้สอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครถึงการคำนวณเงินต้นและการคำนวนอัตราดอกเบี้ยด้วยเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ หลังเปิดให้สมาชิก ส.ก.อภิปรายแล้วนั้น ที่ประชุมสภากทม. มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (ฉบับที่...) พ.ศ. … ก่อนรับหลักการ จำนวน 24 ท่าน กำหนดเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อพิจารณาหลักการของร่างข้อบัญญัติดังกล่าว