'สุริยะ' ร่ายยาวรีวิว 1 ปี คุมคมนาคม ส่องแผนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง 6 แผนครอบคลุมทุกโหมดเดินทาง 'ถนน-ทางหลวง-ระบบราง-น้ำ-อากาศ' หลังประจวบเหมาะเข้ารับตำแหน่งใหม่บวกดำรงตำแหน่งครบ 1 ปี ปูพรมจี้ถนนพระราม 2 พื้นราบต้องจบปีนี้ เร่งยกระดับต่อด่วนพระราม 3 จบปี 68 ก่อนเข็นสร้างมอเตอร์เวย์สายใหม่ เร่งรัดงานระบบราง ผลักดันพัฒนาสนามบินทั่วไทย ก่อนเดินหน้าแลนด์บริดจ์ไปต่อ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 10 กันยายน 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เข้ารับการปฏิบัติหน้าที่ที่กระทรวงวันแรก
นายสุริยะกล่าวว่า จากการที่ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันครบ 1 ปีของการปฏิบัติภารกิจ และดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่ได้เคยเรียนไว้เมื่อปีที่แล้วในด้านการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับการให้บริการในระบบคมนาคมขนส่ง และสนับสนุนภาคโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นรูปธรรม และเป็นที่ประจักษ์ ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและนโยบายของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
"ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา การปฏิบัติงานของกระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินโครงการ และนโยบายให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างครบถ้วน สนับสนุนการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาคอย่างยั่งยืน รองรับการเดินทาง การค้า การท่องเที่ยว และการดึงดูดการลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานสากล และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" นายสุริยะกล่าว
นายสุริยะ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ได้เดินหน้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะดำเนินภารกิจในด้านความมั่นคงของประเทศ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางสูงสุด พร้อมทั้งยกระดับการให้บริการภาคการคมนาคมขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาการเดินทาง ลดต้นทุน ลดอัตราค่าบริการ ลดปัญหาอุปสรรค และสร้างโอกาสในการเดินทางของคนทุกกลุ่ม
สำหรับการดำเนินงานของ “กระทรวงคมนาคม” ในช่วงที่ผ่านมา ขอสรุปเรียนให้ทราบว่าได้ดำเนินการแปรนโยบาย ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในหลายโครงการฯ แบ่งออกได้ ดังนี้
@ขีดเส้นพระราม 2 ทางราบต้องเสร็จทั้งหมด ธ.ค. 67
ด้านการคมนาคมทางบก มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เร่งรัดการก่อสร้างโครงการบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) เพื่อปิดตำนานที่ได้รับการกล่าวหาว่าเป็น ถนน 7 ชั่วโคตร พร้อมทั้งได้เดินหน้าแก้ไขอุปสรรคทั้งหมดให้สำเร็จลุล่วงตามแผนงานที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ประกอบด้วย โครงการโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 สายบางขุนเทียน - เอกชัย – บ้านแพ้ว โดยการก่อสร้างถนนพื้นราบบนถนนพระราม 2 ของกรมทางหลวงทั้งหมด ต้องแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2567 เพื่อสามารถเปิดให้บริการและรองรับการจราจรได้ทันในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
ส่วนการก่อสร้างทางยกระดับต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2568 และสามารถเปิดให้พี่น้องประชาชนได้ทดลองวิ่งใช้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง รวมไปถึงโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่งในขณะนี้ ภาพรวมโครงการมีความก้าวหน้า 80.92% คาดการณ์ว่า จะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2568
@บูม 3 มอเตอร์เวย์อีสาน-ตะวันตก-ใต้
นายสุริยะระบุว่า นอกจากโครงการที่เกี่ยวกับถนนพระราม 2 แล้ว ยังได้เร่งรัดการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน –สระบุรี -นครราชสีมา (M6) ที่มีปัญหาสะสมมาหลายรัฐบาลให้แล้วเสร็จ จนสามารถกำหนดการให้บริการประชาชนเพิ่มเติมได้ชัดเจน ดังนี้
จะเปิดให้บริการช่วงหินกอง (สระบุรี) – ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมาได้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เพิ่มจากที่ได้เปิดให้ทดลองวิ่งจาก ปากช่อง - โคราช มาแล้วก่อนหน้านี้ และจะเปิดให้บริการทั้งเส้นทาง ระยะทาง 196 กิโลเมตร (กม.) ได้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2569
ขณะที่การเร่งรัดก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่ -กาญจนบุรี (M81) ก็สามารถเร่งรัดจนมีกำหนดแผนเปิดให้บริการประชาชนทดลองวิ่งได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ ช่วงนครปฐม-กาญจนบุรี เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เทศกาลปีใหม่ 2567 พร้อมไปกับการเดินหน้าดำเนินการก่อสร้างช่วงบางใหญ่ – นครปฐม ให้แล้วเสร็จทั้งเส้นทางและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568
นายสุริยะกล่าวต่อว่า โครงการมอเตอร์เวย์ยังมีแผนงานที่จะเดินหน้าโครงการมอเตอร์เวย์สายนครปฐม - ปากท่อ - ชะอำ (M8) ด้วย โดยกำหนดนโยบายให้เร่งศึกษา ปรับปรุงการออกแบบโครงการช่วงนครปฐม - ปากท่อ ให้สามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติและเริ่มก่อสร้างให้ได้ภายในปี 2568 รวมถึงปรับปรุงแบบ และแก้ไขปัญหาช่วงปากท่อ – ชะอำ ที่มีปัญหาสะสมมาต่อเนื่องในอดีตให้ลุล่วง และสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ภายในปี 2569 รวมถึงเดินหน้าโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดเชียงใหม่ อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนั้น ได้กำหนดมาตรการลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยทุกหน่วยงานได้ดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และยานพาหนะให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ปลอดภัย และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกวดขันวินัยจราจร และอำนวยสะดวกให้พี่น้องประชาชน ตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ และพบว่า มีความสูญเสียช่วงเทศกาลลดลงอย่างมาก โดยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม จำนวน 48 ราย ลดลงจากเทศกาลปีใหม่ 2566 ถึง 77% (ปี 2566 มีผู้เสียชีวิต 206 ราย)
@รถไฟฟ้า 20 บ. จ่อคืนทุน 'ม่วง-แดง' ปี 68
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อไปว่า ขณะที่แผนงานขนส่งทางราง แน่นอนว่ารัฐบาลจะผลักดันนโยบายรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาท ตลอดเส้นทางต่อ โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดเส้นทางกับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 โดยมีผลตอบรับของประชาชนเป็นที่นิยมมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งปริมาณผู้โดยสาร รวมทั้ง 2 สาย เพิ่มขึ้นถึง 26.39% ส่วนรายได้ จากเดิมตอนเริ่มนโยบาย คาดว่า จะมีรายได้เท่ากับก่อนเริ่มนโยบายภายใน 2 ปี 7 เดือน (พฤษภาคม 2569) แต่ในปัจจุบัน หากปริมาณผู้โดยสารยังเพิ่มขึ้นในอัตรานี้ คาดว่า จะสามารถมีรายได้เท่าเดิมได้ภายในปี 2568
@ยกปิดดีลสายสีส้ม ผลงานโบแดง ปักเป้าเปิดปี 70
พร้อมกันนี้ ยังได้ติดตามเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยเฉพาะการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีปัญหาสะสม และดำเนินการ ไม่แล้วเสร็จในอดีต แต่ในปัจจุบัน สามารถเร่งผลักดันการเสนอผลการเจรจา และร่างสัญญาเสนอ ครม. ทันทีที่คดีต่าง ๆ สิ้นสุดลง ซึ่ง ครม. ได้เห็นชอบ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 และสามารถลงนามในสัญญา 18 กรกฎาคม 2567 โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปี 2570 และให้ รฟม. ติดตามกำกับการดูแลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะให้เป็นไปตามแผนงาน
@ลุ้นทางคู่ลพบุรี - ปากน้ำโพ เปิดช่วงปีใหม่ 68
ขณะเดียวกัน ยังได้เร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 โดยกำหนดนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งรัดการดำเนินโครงการจนมีผลสำเร็จ ดังนี้
1.เปิดให้บริการทางคู่สายใต้ ตั้งแต่ช่วงนครปฐม-หัวหิน-ชุมพร ในเดือนมิถุนายน 2567 ทำให้ระยะเวลาเดินทางลดลงประมาณ 50% เช่น การเดินทางไปหัวหิน จากเดิม 4 ชั่วโมง เหลือ 2 ชั่วโมง เป็นต้น
2.เปิดให้บริการสายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ภายในเทศกาลปีใหม่ 2568
3.แก้ไขปัญหาที่สะสมมานานในส่วนของโครงการรถไฟทางคู่ที่ผ่านบริเวณสะพานสีมาธานี จนได้ข้อสรุป พร้อมนำเสนอ ครม. โดยเร็ว
4.เดินหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2ช่ วงขอนแก่น – หนองคาย ครม. ได้ให้ความเห็นชอบโครงการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ขณะนี้ อยู่ระหว่างการประกวดราคา คาดว่า จะสามารถลงนามในสัญญาก่อสร้างได้ภายในปี 2567 ส่วนอีก 6 ช่วงที่เหลือ ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) พิจารณาแล้ว เมื่อผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯ จะได้เร่งนำเสนอ ครม. พิจารณาโดยเร็ว
5.เร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย -จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ –นครราชสีมา กำชับไม่ให้ขยายสัญญาก่อสร้างออกไปอีก เพื่อไม่ให้โครงการเกิดความล่าช้า พร้อมเร่งรัดแก้ไขปัญหาทุกสัญญา ให้มีการลงนามและเริ่มงานก่อสร้างทั้งหมดภายในปี 2567
6. เร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน กำหนดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งเจรจาแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) โดยเร็ว คาดว่า EEC จะเสนอ ครม. ได้โดยเร็ว
7.เร่งรัดการตรากฎหมายที่สำคัญ ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... และพระราชบัญญัติตั๋วร่วม พ.ศ. ....กำหนดนโยบายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เตรียมยืนยันร่างกฎหมายที่ได้เสนอ ครม. พิจารณาไปแล้ว ให้รัฐบาลใหม่พิจารณาทันที
@เร่งรัดก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5
นายสุริยะกล่าวว่า สำหรับงานด้านการเชื่อมโยงระบบคมนาคมและขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการพัฒนาการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว และจีน โดยกำหนดนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการ ดังนี้
มอบหมายกรมทางหลวง (ทล.) เร่งรัดการปรับปรุงสะพานเดิมให้มีความแข็งแรง รองรับการขนส่งทางรถไฟได้อย่างปลอดภัย กำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2568 สำหรับสะพานมิตรภาพหนองคายแห่งใหม่ ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเจรจากับ สปป.ลาว ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว
ส่วนสะพานมิตรภาพไทย -ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ -บอลิคำไซ) กำหนดนโยบายให้ ทล. เร่งรัดการดำเนินการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ -บอลิคำไซ) ให้เป็นไปตามแผนงาน เพื่อสามารถเปิดให้บริการได้ทันภายในปี 2568
@จี้ 'เจ้าท่า' ศึกษา PPP ท่าเรือสำราญสมุย ชง สคร. ปีหน้า
นายสุริยะกล่าวต่อถึงภารกิจทางน้ำว่า มีหลายแผนงานเช่นกัน อาทิ
เดินหน้าการพัฒนา Smart Pier ในแม่น้าเจ้าพระยา โดยกำหนดนโยบายเพื่อให้ กรมเจ้าท่า (จท.) สามารถเปิดให้บริการ Smart Pier เพื่อให้ส่งเสริมการเชื่อมต่อ “ล้อ-ราง-เรือ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2567 เปิดให้บริการท่าเรือพระปิ่นเกล้า และจะเปิดท่าเรือพระราม 5 ให้ได้ภายในเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เปิดให้บริการไปแล้ว 9 ท่า คือ ท่ากรมเจ้าท่า ท่าช้าง ท่าสะพานพุทธ ท่านนทบุรี ท่าสาทร ท่าราชินี ท่าพายัพ ท่าบางโพ และท่าเตียน
ส่วนในปี 2568 จะเปิดให้บริการอีก 5 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าปากเกร็ด ท่าพระราม 7 ท่าเกียกกาย ท่าโอเรนเต็ล และท่าเทเวศร์
ขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญ (Cruise Terminal) ที่เกาะสมุยอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน โดยกำหนดนโยบายให้กรมเจ้าท่า (จท.) เร่งรัดศึกษารายงานการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ท่าเรือ Cruise Terminal ที่เกาะสมุยแล้วเสร็จ และได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาตามขั้นตอนแล้ว โดยจะต้องสามารถเสนอ สคร. พิจารณาได้ภายในต้นปี 2568
@ยกเครื่องการให้บริการ 'สุวรรณภูมิ'
ส่วนการการคมนาคมทางอากาศ นายสุริยะระบุว่า ยังมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนนโยบายศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) ของรัฐบาล โดยกำหนดเป้าหมายให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นท่าอากาศยานอยู่ใน 20 อันดับของโลก (TOP 20) ภายในปี 2572 โดยให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ดำเนินการในระยะเร่งด่วน คือ เปิดให้บริการอาคาร SAT 1 เมื่อเดือนกันยายน 2566 (เพิ่มศักยภาพผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี) และเตรียมเปิดทางวิ่งเส้นที่ 3 ภายในปี 2567 (เพิ่มศักยภาพผู้โดยสารจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง)
พร้อมทั้งให้เร่งแก้ไขปัญหาการให้บริการผู้โดยสารแออัดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในทุกขั้นตอน โดยปรับวิธีบริหาร และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในรูปแบบอัตโนมัติ ได้แก่ Common Use Passenger Processing System (CUPPS) Common Use Self Service (CUSS) และ Common Use Bag Drop (CUBD) มาใช้ในการเช็คอิน การโหลดสัมภาระ และการตรวจคนเข้าเมือง จนสามารถเพิ่มขีดความสามารถจากเดิม 5,500 คนต่อชั่วโมง เป็น 6,200 คนต่อชั่วโมง ส่งผลให้การให้บริการตรวจคนเข้าเมืองต่อคนเหลือไม่ถึง 20 นาที รวมไปถึงการปรับปรุงห้องน้ำ พรม และสาธารณูปโภคอื่น ๆ ของ 6 ท่าอากาศยานของ ทอท.ด้วย
ส่วนปัญหาสัมภาระล่าช้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายสุริยะกล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนเป็นจำนวนมากว่า รอสัมภาระเกิน 1 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันได้รับการแก้ไข โดยส่วนใหญ่ ไม่มีเที่ยวบินที่รอสัมภาระเกิน 1 ชั่วโมง จากสถิติในเดือนสิงหาคม 2567 มีวันที่มีเที่ยวบินรอสัมภาระเกิน 1 ชั่วโมง เพียง 33 เที่ยวบินเท่านั้น (จากทั้งหมดประมาณ 13,800 เที่ยวบิน) ไม่ถึง 1 % โดยเฉลี่ยจะรอสัมภาระประมาณไม่เกิน 30 นาที
@ผ่าแผนพัฒนาสนามบินทั่วไทย
ขณะที่แผนงานในการขยายสนามบิน เพื่อรองรับผู้โดยสารที่มีมากขึ้น นายสุริยะกล่าวว่า ก็ได้เร่งพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (เพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารจาก 60 ล้านคนต่อปี เป็น 80 ล้านคนต่อปี) โดยจะเร่งรัดให้เริ่มก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2568
รวมถึงการเร่งพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 (เพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปีเป็น 40 ล้านคนต่อปี) โดยจะเร่งรัดให้เริ่มก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2569
ขณะที่สนามบินในภูมิภาค ก็ได้สั่งการให้เร่งพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 (เพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี) โดยจะเร่งรัดให้เริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2569 และเร่งพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 (เพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารจาก 8 ล้านคนต่อปี เป็น 20 ล้านคนต่อปี) โดยจะเร่งรัดให้เริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2569 ส่วนท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ระยะที่ 1 กฌมีแผนเพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคนต่อปี เป็น 6 ล้านคนต่อปี) โดยจะเร่งรัดให้เริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2569
ส่วนแผนงานในระยะยาว จะดำเนินการเตรียมโครงการอาคารผู้โดยสารด้านใต้ (South Terminal) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจะเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารได้อีก 45 ล้านคนต่อปี ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการทบทวนศึกษาแผนแม่บท คาดว่า จะเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 2570
พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังมีแผนเร่งพัฒนาท่าอากาศยานใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานล้านนา และท่าอากาศยานอันดามัน คาดว่าจะใช้ระยะเวลาตั้งแต่การศึกษาจนถึงการเปิดให้บริการประมาณ 69 –71 เดือน
@แลนด์บริดจ์ ไปต่อ
นายสุริยะกล่าวอีกว่า ส่วนแผนงานด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ จะยังเดินหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge)
โดยปีที่ผ่านมา ดำเนินการ Roadshow ในต่างประเทศทั่วโลก และมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ โดยเฉพาะ “Dubai Port World” บริษัทด้านโลจิสติกส์ชั้นนำของโลกให้ความสนใจลงทุนในโครงการเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่มาร่วมศึกษาในรายละเอียดกับประเทศไทยอย่างจริงจัง โดยจะทำงานร่วมกันในลักษณะคณะทำงานในรายละเอียดต่อไป
@เซ็ตมาตรฐานความปลอดภัยของรับเหมา
นอกจากนี้ จะยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างกำหนดเป็นนโยบายให้มีการจัดทำสมุดพกผู้รับเหมา เพื่อกำกับคุณภาพด้านความปลอดภัย จนปัจจุบันได้เริ่มใช้ในโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคมแล้ว และอยู่ระหว่างประสานกรมบัญชีกลาง เพื่อนำไปสู่มาตรการด้านการลดชั้น หรือตัดคะแนนผู้รับเหมา นำไปสู่การตัดสิทธิ์การเข้าร่วมประมูลงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมต่อไป
"จะเห็นได้ว่า จากการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม ทั้ง 6 ด้านดังกล่าวข้างต้น ในรอบ 1 ปี ตามนโยบายที่ได้แถลงไว้เมื่อปีก่อน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการให้บริการ ครอบคลุมทั้ง ทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และสนับสนุนระบบโลจิสติกส์นั้น เพื่อสนองต่อความต้องการของประชาชน และสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาคอย่างยั่งยืน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดถือประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ พร้อมทั้งดำเนินงานอย่างถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย โปร่งใส และตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ซึ่งขอยืนยันครับว่า ภายหลังการแถลงนโยบายต่อสภาฯ ในสัปดาห์หน้าจะมีการเชิญประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เพื่อกำชับให้นโยบายเดินหน้าตามนโยบายรัฐบาล เพื่อประชาชนต่อไปอย่างต่อเนื่องขอบคุณครับ" นายสุริยะทิ้งท้าย
อ่านประกอบ