เป็นทางการ! โชว์มติ ป.ป.ช.ชี้มูล 'จิรายุ เผ่ากา' ส.อบจ.เชียงราย ร่ำรวยผิดปกติ มีเงินฝากโอนเข้าบัญชี ช่วงดำรงตำแหน่งปี 56-61 จำนวน 4,673,730 บาท ทั้งที่ไม่มีอาชีพอื่น ส่งสำนวน อสส. ฟ้องศาลยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายจิรายุ เผ่ากา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย กรณีร่ำรวยผิดปกติ มีเงินฝากจำนวน 43 รายการ (ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2556 ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2561) รวมเป็นเงิน 4,673,730 บาท ทั้งที่ ไม่มีอาชีพอื่น
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์กรณีกล่าวหาว่า นายจิรายุ เผ่ากา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งเป็นเงินฝากและเงินที่โอนเข้าในบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเชียงราย ชี่อบัญชีนายจิรายุ เผ่ากา จำนวน 43 รายการ (ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2556 ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2561) รวมเป็นเงิน 4,673,730 บาท
ส่วนเงินฝากและเงินที่โอนเข้าในบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเชียงราย ชี่อบัญชีนายจิรายุ เผ่ากา จำนวน 20 รายการ รวมเป็นเงิน จำนวน 1,793,140 บาท ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณามีมติให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน และให้ส่งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่งเพื่อสั่งให้พ้นจากตำแหน่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งโดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่
หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้ว ให้ขอให้ศาลบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในระยะเวลาสิบปีด้วย
@ ดำรงตำแหน่ง 7 ปี ไม่มีอาชีพอื่น
รายงานข่าวแจ้งว่า เกี่ยวกับคดีนี้ ในช่วงเดือน ก.ย. 66 สำนักงานป.ป.ช.ภาค 5 ระบุว่า นายจิรายุ เผ่ากา สจ.เขต 3 อ.พาน จ.เชียงราย ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติไม่สัมพันธ์กับรายได้ จากการไต่สวนข้อเท็จจริง นายจิรายุฯ เข้ารับตำแหน่ง ส.อบจ.เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 55 พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 62 มีทรัพย์สินเพิ่มมากผิดปกติไม่สัมพันธ์กับรายได้ นายจิรายุฯ และคู่สมรส มีรายได้ตามแบบแสดงเสียภาษีเงินปี 2555-2562 (7 ปี) เป็นเงิน 1,584,309 บาท และไม่ปรากฏว่านายจิรายุฯ ประกอบอาชีพเสริมอื่นใด มีรายได้เพียงค่าตอบแทน ส.อบจ.เท่านั้น
ส่วนคู่สมรสไม่ได้ประกอบอาชีพ ตรวจสอบสมุดเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเชียงราย ของนายจิรายุ เผ่ากา เปิดเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 51 พบว่ามีรายการเคลื่อนไหวจำนวนมากเกินกว่าฐานะและรายได้ ช่วงที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ย. 55 ถึง พ.ย. 61 รวม 63 รายการ เป็นเงิน 6,466,870 บาท
ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 66 พิจารณาเห็นว่าทรัพย์สินเงินฝากและเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้ถูกกล่าวหา 63 รายการ จำนวน 6,466,870 บาท นั้น มีแหล่งที่มาซึ่งมิใช่เป็นการมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือร่ำรวยผิดปกติ 20 รายการ เป็นเงิน 1,793,140 บาท ส่วนอีก 43 รายการ รวม 4,673,730 บาท เป็นทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นร่ำรวยผิดปกติ และคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น จึงส่งสำนวน พยานหลักฐาน และความเห็นไปอัยการสูงสุด ฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้มีคำสั่งยึดทรัพย์สิน 43 รายการ รวม 4,673,730 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 122 และมาตรา 215 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิดยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก