เผยความคืบหน้า คดีจัดซื้อไบโอเมตริกซ์ 2.1 พันล้าน 'พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา -พวก' จนท.ไต่สวนสรุปสำนวนเสนอองค์คณะชุดใหญ่แล้ว พบหลายข้อกล่าวหาไม่มีมูล รวมปมจัดทำขอบเขตทีโออาร์ตัดคุณสมบัติผู้เสนอราคา แต่โดนสั่งตีกลับให้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมอีก หวั่นพิจารณาคดียืดเยื้อเลย 9 ก.ย.2567 'วัชรพล ประสารราชกิจ' ประธาน ป.ป.ช.เกษียณอายุ อาจมีผลต่อการพิจารณาเนื่องจากองค์ประกอบกรรมการ เปลี่ยนแปลง
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้ากรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แจ้งข้อกล่าวหา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กับพวก อาทิ พล.ต.ท.ติณภัทร ภุมรินทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 กรณีการดำเนินงานโครงการจัดซื้อไบโอเมตริกซ์ หรือการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) วงเงิน 2,100 ล้านบาท ว่า หลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้ ไปตั้งแต่เดือน ก.ค.2566 ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าให้ปากคำชี้แจงข้อกล่าวหากับคณะไต่สวนฯ จนครบถ้วนแล้ว และได้มีการสรุปความเห็นตามข้อกล่าวหา 7 ข้อเสนอต่อองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ที่มีกรรมการ ป.ป.ช. ทุกคนเป็นองค์คณะแล้ว
"ในการสรุปสำนวนเสนอต่อองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ ทางเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้สรุปความเห็นว่าหลายข้อกล่าวหาไม่มีมูลและมีการนำเข้าองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ได้พิจารณาข้อกล่าวเป็นรายข้อโดยเริ่มจากข้อกล่าวหาแรกในเรื่องการจัดทำขอบเขตของงาน หรือทีโออาร์ โดยตัดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาออกซึ่งเจ้าหน้าที่สรุปความเห็นว่าไม่มีมูลความผิด ทำให้ที่ประชุมมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงมีมติให้เจ้าหน้าที่ไปจัดทำข้อมูลในประเด็นนี้เพิ่มเติมและให้เลื่อนการประชุมออกไปอีก" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับข้อกล่าวหานี้เรื่องการจัดทำขอบเขตของงาน หรือทีโออาร์ โดยตัดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาออกนั้น ในการจัดซื้อครั้งแรก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้อนุมัติให้ใช้ขอบเขตของงานโดยกำหนดในเรื่องผลงานของผู้เสนอราคาว่า ผู้ประสงค์จะเสนอราคาหรือนิติบุคคลรายใดรายหนึ่งในกลุ่มกิจการร่วมค้า หรือกลุ่มกิจการค้าร่วม ต้องมีผลงานการขายหรือติดตั้งเกี่ยวกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือระบบเทคโนโลยี สารสนเทศ หรือระบบรักษาความปลอดภัยหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในวงเงินไม่น้อยกว่า 860 ล้านบาท เพราะเห็นว่ามีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ จึงได้กำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาในเรื่องผลงานลักษณะนี้เอาไว้
ต่อมา กิจการค้าร่วมเอ็มที โดยมีบริษัท เอ็มเอสซี สิทธิผล จำกัด เป็นผู้ค้าหลัก ได้ยื่นผลงานของบริษัท ไทยทรานสมิทชัน จำกัด ผู้ร่วมค้าการเสนอราคาครั้งนี้ ไม่มีประเด็นเรื่องผู้เสนอราคาไม่ผ่านคุณสมบัติในเรื่องผลงานแต่อย่างใด แต่มีข้อสังเกตของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่า ผลงานดังกล่าวมิใช่ผลงานของกลุ่มกิจการค้าร่วม โดยมีบริษัท เอ็มเอสซี สิทธิผล จำกัด เป็นผู้ค้าหลัก ผลงานที่ยื่นเสนอราคากลับไม่ใช่ผลงานของบริษัท และตามหนังสือของกรมบัญชีกลางโดยหลักการแล้ว จะต้องใช้ผลงานของผู้ร่วมค้าหลักในการเสนอราคา ซึ่งหลังจากยกเลิกการจัดซื้อในครั้งนั้นและดำเนินการจัดซื้อครั้งใหม่ คณะกรรมการจัดทำร่างคุณลักษณะเฉพาะและขอบเขตของงานได้ตัดข้อกำหนดในเรื่องผลงานของผู้เสนอราคาดังกล่าวออกแล้วเสนอให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ อนุมัติ ซึ่งเป็นผลให้บริษัท เอ็มเอสซี สิทธิผล จำกัด ต้องตกคุณสมบัติในการจัดซิ้อครั้งแรก
"การตัดเรื่องผลงานของผู้เสนอราคาดังกล่าวออก เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่า อาจจะมีเจตนาเอื้ออำนวยให้บริษัท เอ็มเอสซี สิทธิผล จำกัด ผ่านคุณสมบัติของการเป็นผู้เสนอราคาในเวลาต่อมา ซึ่งข้อสังเกตดังกล่าวของพล.อ.ประวิตร เป็นที่มาของข้อกล่าวหาแรกว่าด้วยประเด็นเรื่องการกำหนดขอบเขตของงาน โดยตัดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาออก แต่เจ้าหน้าที่สรุปว่าข้อกล่าวหานี้ไม่มีมูลความผิด" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากการพิจารณาคดีนี้ยืดเยื้อเลยวันที่ 9 ก.ย.2567 ซึ่ง พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกษียณอายุเนื่องจากครบ 70 ปี จะมีผลต่อการพิจารณาเรื่องนี้เนื่องจากองค์ประกอบองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ และกรรมการ ป.ป.ช.มีการเปลี่ยนแปลง
อ่านประกอบ :