'ขบวนการแพทย์ชนบทไทย' คว้ารางวัลแมกไซไซ ปี 2567 ตั้งเป้าทำภารกิจลดความเหลื่อมล้ำ สร้างระบบสุขภาพ-สังคมที่เป็นธรรม ยกย่องหมอหนุ่มสาว เชื่อมั่นพลังปฏิรูประบบสุขภาพ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2567 มูลนิธิรามอนแมกไซไซ ได้ทำพิธีประกาศ มอบรางวัลรามอนแมกไซไซ ให้กับผู้ได้รับรางวัลจากประเทศต่างๆในเอเชีย 5 ประเทศ กับ หนึ่งองค์กร คือ ขบวนการแพทย์ชนบท จากประเทศไทย จะมีพีธีมอบรางวัลในกลางเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ รางวัลแมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award) เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้มีผลงานดีเด่นต่อมนุษยชาติในทวีปเอเชีย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น Nobel Peace Prize of Asia เริ่มให้รางวัลตั้งแต่ปี 1957 เพื่อระลึกถึงคุณความดีและความตั้งใจของประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซ แห่งประเทศฟิลิปปินส์
ในปี 2024 ซึ่งเป็นการมอบรางวัลเป็นครั้งที่ 66 นั้น มูลนิธิรางวัลแมกไซไซได้คัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่นเข้ารับรางวัลจำนวน 5 ท่านได้แก่ Karma Phuntsho จากภูฏาน Miyazaki Hayao จากญี่ปุ่น Nguyen Thi Ngoc Phuong จากเวียดนาม Farwiza Farhan จากอินโดนีเซีย และขบวนการแพทย์ชนท จากประเทศไทย
ชมรมแพทย์ชนบทโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ขบวนการแพทย์ชนบทกับการขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง 48 ปี ด้วยกลไกสำคัญ 3 กลไกของขบวนการแพทย์ชนบทคือ ชมรมแพทย์ชนบท มูลนิธิแพทย์ชนบท และกลุ่มสามพราน ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ที่สากลยอมรับคือการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย และการเฝ้าระวังป้องกันการคอรับชั่น
ประเทศไทยมีบุคคลหรือองค์กรรับรางวัลแมกไซไซแล้วจำนวน 24 ท่าน/องค์กร และขบวนการแพทย์ชนบทเป็นรายที่ 25 สำหรับรางวัลอันทรงคุณค่านี้
ขบวนการแพทย์ชนบท ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการรางวัลแมกไซไซเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งขอมอบความชื่นชมยินดีนี้ให้กับแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในชนบททุกท่านทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงภาคประชาสังคม เครือข่ายองค์กรชุมชน องค์กรชาวบ้านที่ทำงานขับเคลื่อนร่วมกันในประเด็นต่างๆอย่างต่อเนื่อง ผู้หลักผู้ใหญ่ องค์กรพันธมิตร สื่อสารมวลชน และทุกๆท่าน ที่ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับระบบสุขภาพไทยมาตลอด
ขบวนการแพทย์ชนบทยังมีภารกิจอันมุ่งมั่น ที่จะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างระบบสุขภาพและสังคมที่เป็นธรรม เฝ้าระวังการคอรับชั่น และสนับสนุนคนรุ่นใหม่ จึงเชิญทุกท่าน ร่วมกันสร้างสรรค์สังคม เพื่อประเทศไทยและสังคมโลกต่อไป
ด้าน นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท เจ้าของรางวัลผู้นำด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เปิดเผยถึงผู้นำขบวนการแพทย์ชนบท คว้ารางวัลรามอนแมกไซไซ 2024 ว่า เมื่อประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นาง SUSANNA B. AFAN ประธานคณะกรรมการรางวัลแมกไซไซ ได้โทรศัพท์แจ้งผลการพิจารณาและกล่าวแสดงความยินดี ยกย่องชื่นชมแพทย์หนุ่มสาวที่ทำงานในชนบทมาร่วม 50 ปี โดยได้สร้างผลงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเกิดในประเทศอื่นๆ ตนได้กล่าวขอบคุณกลับไป
โดยเห็นว่ารางวัลแมกไซไซ ในปีนี้ได้มอบให้ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน และผู้สนับสนุนที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์แพทย์อีกจำนวนมาก ตลอดจนบุคลากรด้านสุขภาพและอาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศ รางวัลแมกไซไซเป็นพลังที่เรียกกันว่า ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นพลังขับเคลื่อน สร้างแรงบันดาลใจครั้งสำคัญให้การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนไทย ประสบผลสำเร็จได้ในอนาคตอันใกล้
นพ.ชูชัย กล่าวต่อว่า ประธานคณะกรรมการรางวัลแมกไซไซ ยังได้กล่าวยกย่องชื่นชมสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่เคยได้รับรางวัลแมกไซไซในปี 1991 (พ.ศ.2534) ซึ่งตนได้บอกไปว่า พระองค์ท่านยังทรงงานอยู่เพื่อคนไทยและเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย และยัง ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไปว่ามูลนิธิแพทย์ชนบทยังประสานการทำงานกับ ศาสตราจารย์กฤษณา ไกรสินธุ์ เจ้าของรางวัลแมกไซไซ ปี 2552 ในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ได้แนะนำให้ตนลงไปดูงานในพื้นที่สามชายแดนใต้ที่ผลิตยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรคุณภาพสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ อีกทั้งช่วยสร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วย และเป็นการสร้างความมั่นคงในพื้นที่อย่างแท้จริง
“ศาสตราจารย์กฤษณาฯ เป็นบุคคลต้นแบบหรือ role model ของผมด้วย” นพ.ชูชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศไทยมีบุคคล หรือองค์กร รับรางวัลแมกไซไซแล้วจำนวน 24 ท่าน/องค์กร และขบวนการแพทย์ชนบทเป็นรายที่ 25 สำหรับรางวัลอันทรงคุณค่านี้ โดยรางวัลแมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award) เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้มีผลงานดีเด่นต่อมนุษยชาติในทวีปเอเชีย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น Nobel Peace Prize of Asia เริ่มให้รางวัลตั้งแต่ปี 2500 เพื่อระลึกถึงคุณความดีและความตั้งใจของประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซ แห่งประเทศฟิลิปปินส์