ผู้ร้องเรียนให้ยุบ 'เพื่อไทย' ปม 'ทักษิณ ชินวัตร' ใช้ 'เศรษฐา ทวีสิน' ครอบงำ ลุยยื่น กกต.เพิ่มอีก 2 เรื่อง สั่งคกก.บริหารพรรคพ้นตำแหน่งทั้งคณะ - วินิจฉัยความเป็นนายก 'แพทองธาร' ต้องสิ้นสุดหรือไม่ ยันมีตัวตนจริงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พอมีความรู้กฎหมายอยู่บ้าง เพื่อนร่วมรุ่นทำหน้าที่สำคัญชาติเพียบ แต่ไม่ชอบแสง ขู่กกต. เปิดเผยตัวตน มีโทษจำคุก-ปรับ
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2567 มีผู้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับที่ กกต. เคยยื่นเรื่องให้ยุบพรรคก้าวไกล โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและไม่ต้องสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งเป็นหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำกิจกรรมของพรรค อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง
โดยหนังสือร้องเรียนดังกล่าว อ้างถึง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งว่า “ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา ทวีสิน) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) โดยกล่าวหาว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) เข้าพบ “บุคคล” ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ชื่นบาน) เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจทำให้ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่ “บุคคล” ดังกล่าว และหลังจากผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) เข้าพบ “บุคคล” ดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่เคยถอนชื่อ หรือขอให้ผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) ถอนชื่อจากบัญชีเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี ในการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมทั้งรู้เห็นยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) หรือ “ผู้อื่น” ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) เพื่อให้ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยมิชอบ.....”
- 'ทักษิณ' ใช้ 'เศรษฐา' ครอบงำ คกก.บริหารพรรค! อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน.ร้อง กกต.ยุบ 'เพื่อไทย'
- ฉบับเต็ม! หนังสือร้อง กกต.ยุบ เพื่อไทย อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน. 'ทักษิณ' ครอบงำคกก.บริหารพรรค
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดผยจากผู้ร้องเรียนคนเดิมว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2567 ได้ไปยื่นร้องเรียนต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่มอีก 2 เรื่อง คือ 1. ขอให้นายทะเบียนพรรคการเมือง เสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อออกคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และ 2. ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ เนื่องจากอาจเป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และอาจมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำร้องที่ 2
ผู้ร้องคนเดิม ระบุว่า คำร้องที่ 2 และที่ 3 ใช้ฐานแห่งข้อเท็จจริงเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้วินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง ตามที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอไปแล้ว
โดยคำร้องที่ 2 เป็นเรื่องคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยอาจต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ซึ่งมาจากข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เห็นชอบหรือยินยอมให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายพิชิต ชื่นบาน ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ. 2561 เรื่องการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 112 ว่า “ การคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการและกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ที่ปรึกษา เลขานุการรัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองอื่น ให้พิจารณาจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรม จริยธรรม โดยให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการบริหารกำหนด ”และขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ พรรคการเมืองต้องมีคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย และข้อบังคับของพรรคการเมือง มติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ ซึ่งต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมและรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และการคัดเลือกสมาชิกหรือบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรม เข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือตำแหน่งอื่น หรือเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ”
โดยคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยไม่อาจกล่าวอ้างว่าได้มอบอำนาจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดดำเนินการแทนได้ ซึ่งนอกจากอาจจะขัดต่อข้อบังคับของพรรค และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการกระทำที่อาจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมเดียวกันกับที่ใช้บังคับกับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี อันเป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่จะเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
ส่วนคำร้องที่ 3 เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลที่กำลังจัดตั้ง ซึ่งเคยบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ตามคำร้องที่ 2 อาจทำให้เป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และอาจเป็นผู้มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) อันอาจทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม
ผู้ร้องรายนี้ ยังระบุด้วยว่า การยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิในฐานะปวงชนชาวไทยที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิติดตามเร่งรัดให้รัฐทำหน้าที่ของรัฐในการดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 การยื่นเรื่องต่อหน่วยงานของรัฐมิได้ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย แต่ช่วยให้บ้านเมืองสงบสุขภายใต้กฎเกณฑ์ของสังคม โดยการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศของพรรคการเมืองเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม
ผู้ร้องรายนี้ กล่าวย้ำว่า มีตัวตนอยู่จริง ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยระบุชื่อและที่อยู่ไว้ชัดเจน เป็นผู้มีความรู้กฎหมายอยู่บ้าง มีเพื่อนร่วมรุ่นทำหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด ตุลาการในศาลสำคัญ รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสำคัญ คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เลขาธิการหน่วยงานทางด้านปราบปรามการทุจริต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และนักการเมืองระดับนำ เป็นต้น โดยเพื่อนร่วมรุ่นไม่ได้เกี่ยวข้องในการยื่นคำร้อง
"ผู้ร้องสนใจในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ชอบแสง พักอาศัยอยู่ที่เกาะห่างไกลแห่งหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ใดไม่อาจเปิดเผยข้อมูลอันทำให้สามารถระบุตัวตนของผู้ร้องได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 มาตรา 41 วรรคสาม หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกหรือโทษปรับ ตามมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเดียวกัน" ผู้ร้องรายนี้กล่าวทิ้งท้าย